Contents
ส่วย
ส่วย1 คือ เงินหรือสิ่งของแทนการมาทำงานที่ยอมให้บุคคลบางจำพวกส่งให้รัฐแทนการมาทำงานให้รัฐด้วยแรงงานอันเป็นการเสียเวลายิ่ง
ส่วยอาจแบ่งเป็น 3 ประเภทกว้างๆ ได้แก่
- ส่วยแทนแรงงานเกณฑ์ (เก็บจากราษฎรชายที่ไม่ได้รับราชการทหารเป็นรายบุคคล)
- เครื่องราชบรรณาการ (เจ้าประเทศราชส่งมาให้)
- เกณฑ์เฉลี่ยพัทธยา (การริบทรัพย์)
ความเป็นมา
กรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า “ส่วย” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว “ส่วยโบ๊ว” หมายถึง การเก็บส่วนลดจากผลประโยชน์ของราษฎร2
ส่วยแทนแรงงานเกณฑ์3 ถือได้ว่าเป็นอากรอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ทางสังคมที่วางอยู่บนรากฐานความคิดว่า ไพร่ทุกคนต้องให้บริการแก่พระมหากษัตริย์เพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงแบ่งที่ดินให้ทำกิน หน้าที่ของไพร่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานเข้าเวรทำงานในรัฐ เช่น มาทำงานโยธาหรือทำนาให้หลวง ฯลฯ ตามกำหนดระยะหนึ่ง เช่น ปีละ 6 เดือน ลักษณะนี้คือการเก็บภาษีทางตรงอย่างหนึ่งนั่นเอง โดยเก็บเป็นแรงงาน อาจถือได้ว่าเป็นการขูดรีดแรงงานส่วนเกินของราษฎรมาใช้ ซึ่งในระบบสังคมที่โบราณมากประชาชนจะต้องถูกดึง “แรงงานส่วย” เป็นค่าตอบแทนรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ครั้นระบบเศรษฐกิจเจริญขึ้นความต้องการสินค้าหรือสิ่งของมีมากกว่าแรงงานโดยตรง ความเดือดร้อนของไพร่สามารถบรรเทาลงได้โดยรัฐยอมให้ส่งสิ่งของแทนแรงงานได้ การส่งสิ่งของแทนแรงงานถือว่าเป็นการเก็บผลผลิตส่วนเกินจากไพร่ เป็นการปล่อยให้แรงงานทำการผลิตก่อนแล้วจึงนำมาส่งส่วย ซึ่งในสมัยอยุธยาตอนต้นมีลักษณะเช่นนี้แล้ว และเมื่อเศรษฐกิจมีการขยายตัวเจริญยิ่งขึ้น มีการติดต่อทำการค้าขายแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศและเงินเริ่มเป็นสื่อกลางที่มีความสำคัญ รัฐบาลก็ยินยอมให้แรงงานซึ่งไม่ประสงค์จะมาเข้าเวรและไม่ส่งส่วยสิ่งของนั้น ส่งเป็นเงินมาแทนก็ได้
อัตราเสียส่วยในสมัยอยุธยาตอนปลาย ไพร่หลวงต้องต้องถูกเกณฑ์แรงงานปีละ 6 เดือน ถ้าจะจ่ายค่าราชการแทนการเข้าเวร จะคิดในอัตราคนละ 2 บาทต่อเดือน ถ้าไม่ต้องการเข้าเวรตลอดปีไพร่หลวงต้องจ่ายให้แก่มูลนาย 12 บาท
ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการเพิ่มค่าราชการเป็นเดือนละ 4.50 บาท แทนการเข้าเวรปีละ 4 เดือน เป็นเงิน 18 บาท ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 5 ค่าราชการได้เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 6 บาท แทนการเข้าเวรปีละ 3 เดือน เป็นเงิน 18 บาท ทาสต้องรับราชการปีละ 8 วัน ถ้าจะจ่ายค่าราชการแทนก็ได้ในอัตรา 1.50 บาท
ส่วนอัตราที่เรียกเก็บส่วยเป็นสิ่งของ รัฐได้กำหนดชนิดของสิ่งของและอัตราการส่งไว้แต่แรก ส่วนใหญ่รัฐจะพิจารณาดูว่าท้องถิ่นใดมีสิ่งของชนิดใดที่รัฐจำเป็นต้องใช้ก็กำหนดให้ส่งสิ่งของชนิดนั้นเป็นส่วยแทนการเข้าเวรรับราชการ เช่น ทางภาคใต้มีดีบุกก็ให้ส่งดีบุก หรือหัวเมืองทางภาคเหนือมีป่าไม้ก็ให้ส่งไม้แทนด้วย อัตราการส่งส่วยสิ่งของได้มีกำหนดไว้อย่างแน่นอน แต่ถ้ารัฐต้องการใช้ส่วยสิ่งของนั้นเพิ่มมากขึ้นก็จะเรียกเก็บเพิ่มขึ้น ในระยะที่ไทยมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ วัตถุประสงค์ของการเรียกเก็บส่วยมิใช่เพื่อเอามาใช้ในราชการอย่างเดียว รัฐได้นำส่วยสิ่งของมาเป็นสินค้าออกด้วย
หน่วยงานที่ควบคุมเกี่ยวกับการเก็บส่วยประกอบด้วยกรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม และกรมท่า ทำหน้าที่ในการเก็บส่วยในแต่ละหัวเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของตน โดยมีเจ้าเมือง กรมการเมืองของแต่ละเมืองเป็นผู้รับผิดชอบการเก็บส่วยในเมืองของตน แล้วส่งส่วยมายังกรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม หรือกรมท่า แล้วแต่ว่าจะสังกัดกรมใด
กรมมหาดไทย กรมพระกลาโหม กรมท่าจะส่งส่วยนั้นไปยังพระคลังมหาสมบัติและคลังอื่นๆ ได้แก่ พระคลังสินค้า คลังในซ้ายและในขวา คลังราชการ เพื่อทำการแจกจ่ายในราชการอีกทีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม อำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บส่วนของกรมเหล่านี้เปลี่ยนไปภายหลังรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ร.ศ. 109 (พ.ศ. 2433) คือ เปลี่ยนมาอยู่ในหน้าที่กรมส่วย นอกจากหน่วยงานบริหารจะเปลี่ยนไปแล้ว อัตราการจัดเก็บส่วยได้มีการปรับปรุงขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2440 รัฐบาลได้กำหนดให้ไพร่ทุกประเภทเสียค่าราชการเท่ากัน กำหนดปีละ 6 บาท
ในปี พ.ศ. 2444 รัฐบาลออก “พ.ร.บ. เก็บเงินค่าราชการ ร.ศ. 120” ซึ่งระบุว่าชายฉกรรจ์ทุกคนที่มีอายุ 18 ปี ถึง 60 ปีต้องจ่ายเงินค่าราชการ ยกเว้นบุคคลบางพวกที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. นี้ ส่วนผู้ที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่าราชการได้ก็ให้ทำงานแก่ทางราชการมีกำหนดไม่เกิน 20 วัน การเสียเงินค่าราชการได้กำหนดขึ้นใช้เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 เงินค่าราชการได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเรียกเก็บเป็น “เงินรัชชูปการ” ตั้งแต่ พ.ศ. 2462 เป็นต้นมา โดยกำหนดให้ชายฉกรรจ์ที่มีอายุตั้งแต่ 18-60 ปี ยกเว้นบุคคลบางจำพวก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2468 ได้เปลี่ยนข้อกำหนดเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินรัชชูปการมาเป็นเก็บจากชายฉกรรจ์ที่มีอายุระหว่าง 20-60 ปี ตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เงินค่าราชการหรือเงินรัชชูปการนี้นับว่าทำรายได้ให้แก่รัฐบาลมาก ปรากฏว่าปีหนึ่งๆ เก็บได้ประมาณ 7 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การเก็บเงินรัชชูปการนี้ได้ยกเลิกไปโดยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 โดยรัฐบาลคณะราษฎรได้ตรา พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481
อ้างอิง
- ^
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ภาษีอากรในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย คลังข้อมูลและบทสำรวจสถานะทางวิชาการ, สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2527), หน้า 181-185
- ^
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ภาษีอากรในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย คลังข้อมูลและบทสำรวจสถานะทางวิชาการ, สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2527), หน้า 4
- ^
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ภาษีอากรในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย คลังข้อมูลและบทสำรวจสถานะทางวิชาการ, สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2527), หน้า 181-182