Contents
สิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่เกี่ยวข้องกับ ผู้พิการ
โดย ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ เป็น สิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่กฎหมายภาษี กำหนดให้สำหรับตัวผู้พิการเองและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในรูปแบบต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับผู้ดูแลผู้พิการ
ผู้ที่ดูแลผู้พิการจะมีสิทธิได้รับค่าลดหย่อนผู้พิการ เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีเมื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยผู้ที่เลี้ยงดูแลคู่สมรส ลูก หรือพ่อแม่ที่พิการหรือทุพพลภาพ สามารถนำคู่สมรส ลูก และพ่อแม่ไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้แบบเหมาคนละ ฿60,000 ต่อปี1 แต่ถ้าผู้พิการหรือทุพพลภาพที่คุณดูแลอยู่นั้นไม่ใช่คู่สมรส ลูก หรือพ่อแม่ คุณจะใช้สิทธิหักลดหย่อนแบบเหมา ฿60,000 ต่อปี ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น
ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมนอกเหนือจาก ค่าลดหย่อนคู่สมรส, ค่าลดหย่อนบุตร และ ค่าลดหย่อนบิดามารดา ถ้าดูแลคู่สมรสซึ่งไม่มีรายได้เลยและมีความพิการด้วย คุณจะสามารถหักลดหย่อนคู่สมรสได้ ฿60,000 และยังหักลดหย่อนผู้พิการได้อีก ฿60,000 รวมเป็นเงินค่าลดหย่อนทั้งสิ้น ฿120,000
เงื่อนไขการรับสิทธิลดหย่อนดูแลผู้พิการ
- ผู้พิการที่คุณดูแลอยู่มีบัตรประจำตัวคนพิการและระบุชื่อคุณเป็นผู้ดูแล
- มีคุณคนเดียวที่ใช้สิทธิหักลดหย่อนดูแลผู้พิการ
- ผู้พิการมีรายได้ทั้ง ปีภาษี ไม่เกิน ฿30,000 (฿30,000 พอดียังไม่ผิดเงื่อนไข)
- อย่างน้อยต้องมีผู้พิการหรือตัวเราคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น
2. สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับ ผู้พิการ
ผู้พิการที่มีรายได้ระหว่างปีจะได้รับสิทธิประโยชน์สำหรับผู้พิการ เพื่อยกเว้นเงินได้ ฿190,000 แรกให้ผู้เสียภาษีที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ2 โดยสามารถนำไปใช้สิทธิ์ยกเว้นเงินได้ประเภทใดก็ได้ที่ตนเองได้รับระหว่าง ปีภาษี
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
ผู้พิการสามารถนำสิทธิยกเว้นเงินได้ ฿190,000 แรกของตนไปหักออกจากเงินได้ประเภทใดก็ได้ที่ตนได้รับระหว่างปีภาษี เช่น ถ้ามีเงินได้จากเงินเดือนตลอดทั้งปี ฿200,000 และเงินได้จากดอกเบี้ย ฿200,000
คุณสามารถเลือกใช้สิทธิ์ยกเว้นเงินได้นี้ออกจากเงินเดือนทั้งหมด ฿190,000 ไปเลยก็ได้ ซึ่งจะทำให้เหลือเงินได้จากเงินเดือนสำหรับเสียภาษีเพียง ฿10,000 หรือใช้สิทธิ์ยกเว้นเงินได้จากเงินเดือนเพียง ฿100,000 แล้วใช้สิทธิ์ที่เหลืออีก ฿90,000 สำหรับยกเว้นเงินได้จากดอกเบี้ยอีกก็ได้ขึ้นอยู่กับการวางแผนของผู้เสียภาษีเอง
เงื่อนไขการรับสิทธิกรณีพิการ
- มีบัตรประจำตัวคนพิการในปีที่ยื่นภาษี3
- อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น4
- การใช้สิทธิ์ยกเว้นต้องแสดงรายการเงินได้และจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นั้นตอนยื่นภาษี5
Tips: วิธีใช้สิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรกบนแอป iTAX
แอป iTAX รองรับการคำนวณสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรก ทั้งกรณีมีบัตรประจำตัวผู้พิการ โดย iTAX จะคำนวณสิทธิลดหย่อนให้อัตโนมัติโดยคำนวณตามข้อมูลสถานะการมีบัตรประจำตัวผู้พิการที่คุณกรอกไว้
วิธีแก้ไข ‘สถานะการมีบัตรประจำตัวผู้พิการ’ เพื่อรับสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรกบนแอป iTAX
ในกรณีที่มีบัตรประจำตัวผู้พิการอยู่แล้ว แต่กรอกข้อมูลตอนแรกไว้ไม่ถูกต้อง และต้องการแก้ไขเพื่อรับสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรก คุณสามารถแก้ไขสถานะการมีบัตรประจำตัวผู้พิการให้ถูกต้องได้ ดังนี้
- ในหน้าแรก (Home) กดที่
»
ค่าลดหย่อน
- เลือก ‘ค่าลดหย่อน – ส่วนตัว’
- กด
- ที่หัวข้อ ‘คุณมีบัตรประจำตัวผู้พิการรึเปล่า?’ » เลือก ‘มี’
- เลือก ‘รับทราบฯ’ » กด ‘ยินยอม’
- กด Done
จากนั้นแอปจะแสดงสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรกและคำนวณภาษีใหม่ให้อัตโนมัติ
3. สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับผู้บริจาคเงินส่งเสริมคนพิการ
เงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้พิการไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเข้ามูลนิธิที่เป็นองค์กรการกุศลสาธารณะ กองทุนช่วยเหลือผู้พิการ โรงเรียนสอนผู้พิการ โรงพยาบาลของรัฐ หรือเงินบริจาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถนำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่บริจาคจริง หรือ 2 เท่าของที่บริจาคจริง แล้วแต่กรณี แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและ ค่าลดหย่อน อื่นๆ
วิธีกรอกค่าลดหย่อนเงินบริจาค บนแอป iTAX
หากคุณต้องการใช้สิทธิค่าลดหย่อนเงินบริจาค สามารถนำมาคำนวณบนแอป iTAX ได้ดังนี้
- ในหน้าแรก (Home) กดที่
»
ค่าลดหย่อน
- เลือก ‘บริจาคทั่วไป’ หรือ ‘บริจาคพิเศษ – การศึกษา, กีฬา, โรงพยาบาล’
- กรอกจำนวนเงินเท่าที่บริจาคจริงตลอดทั้งปี (กรณีเลือกบริจาคพิเศษ แอปจะคำนวณสิทธิลดหย่อน 2 เท่าให้อัตโนมัติ)
- กด Done
แอปจะพากลับไปที่หน้า Home และแสดงผลการคำนวณภาษีหลังใช้สิทธิค่าลดหย่อนเงินบริจาคแล้วให้อัตโนมัติ
4. สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับนายจ้างของผู้พิการ
โดยปกติค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้ผู้พิการสามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง6
แต่ถ้านายจ้างสามารถจ้างผู้พิการได้เกินกว่า 60% ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดในสถานประกอบการนั้น (60% พอดียังไม่อยู่ในเกณฑ์ได้สิทธิ) โดยมีระยะเวลาจ้างเกินกว่า 180 วันในปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่มีเงินได้ จะสามารถนำค่าจ้างผู้พิการไปหักเป็นรายจ่ายได้ 3 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง7 ทั้งนี้นายจ้างจะต้องมีหนังสือรับรองจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่พิสูจน์ได้ว่ามีการจ่ายค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการ และหนังสือรับรองดังกล่าวต้องระบุรายชื่อและจำนวนลูกจ้างทั้งหมดรายชื่อและจำนวนลูกจ้างที่เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ รวมทั้งระยะเวลาการจ้างงานของลูกจ้างนั้นๆ ด้วย8
5. สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับเจ้าของอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือผู้ให้บริการสาธารณะ
ค่าใช้จ่ายเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้พิการ สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง9 โดยต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เจ้าของอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือผู้ให้บริการสาธารณะอื่น ได้จ่ายไปเพื่อจัดอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือบริการสาธารณะอื่น ให้แก่คนพิการในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
อ้างอิง
- ^
มาตรา 47(1)(ฎ) ประมวลรัษฎากร
- ^
มาตรา 47(1)(ซ) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(81) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509), ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 197)
- ^
ข้อ 1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 197)
- ^
ข้อ 1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 197)
- ^
ข้อ 5 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 197)
- ^
มาตรา 3 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553
- ^
มาตรา 4 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 519) พ.ศ. 2554
- ^
ข้อ 2 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 215)
- ^
มาตรา 4 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553