Contents

รายได้จากการขุดเหรียญคริปโท (Mining)

1,124 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

แอป iTAX คำนวณภาษี 2566

ตัวช่วยคำนวณภาษี รองรับค่าลดหย่อนทุกรายการ โหลดฟรี!

รายได้จากการขุดเหรียญคริปโท (Mining) จะเกิดขึ้นเมื่อขายเหรียญที่ขุดได้เท่านั้น โดยจัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ดังนั้น แม้การขุดจะทำให้ผู้ขุด (miner) ได้รับเหรียญเพิ่มขึ้นใน Wallet ระหว่างปีภาษี แต่กรมสรรพากรกำหนดมาตรฐานว่า ผู้ขุดจะยังไม่ต้องนำเหรียญที่ขุดได้มาเสียภาษีจนกว่าจะนำเหรียญที่ขุดได้นั้นไปขาย

เมื่อรายได้จากขายเหรียญที่ขุดได้ถูกจัดเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) ซึ่งต้องนำไปเสียภาษีปีละ 2 ครั้ง (ครึ่งปีและประจำปี) โดยขณะยื่นภาษีให้ระบุชื่อประเภทของรายได้ว่า “รายได้จากการขายคริปโทเคอร์เรนซีที่ขุดได้”

การหักค่าใช้จ่าย

เนื่องจากกรมสรรพากรตีความว่าการขุดเหรียญเป็นการประกอบธุรกิจชนิดหนึ่งจึงอนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายตามจริง และค่าเสื่อมราคาได้ เช่น

  • ค่าไฟฟ้า – ตามจริง
  • ค่าอินเตอร์เน็ต – ตามจริง
  • ค่าซ่อมอุปกรณ์ – ตามจริง
  • ค่าจ้างพนักงาน – ตามจริง
  • ค่าฝากเครื่องขุด – ตามจริง
  • ค่าเช่าเครื่องขุด – ตามจริง
  • ค่าเครื่องคอมพิวเตอร์ (หักค่าเสื่อมราคา 3 ปี ปีละ 1/3 ของราคาคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมา)
  • ค่าเครื่องขุด (หักค่าเสื่อมราคา 3 ปี ปีละ 1/3 ของราคาเครื่องขุดที่ซื้อมา)
  • ค่าการ์ดจอ (หักค่าเสื่อมราคา 3 ปี ปีละ 1/3 ของราคาการ์ดจอที่ซื้อมา)

ทั้งนี้ ต้นทุนค่าขุดเหล่านี้ จะนำไปใช้คำนวณเป็นต้นทุนของเหรียญที่ขุดได้ เช่น ขุดได้ 1 BTC โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 800,000 บาท หากต่อมานำ 1 BTC ไปขายในราคา 1,000,000 บาท จะมีกำไร 200,000 บาท ซึ่งต้องนำไปเสียภาษีต่อไป

ข้อสังเกต

  • กรณีขุดคริปโท ผู้เสียภาษีต้องเลือกวิธีคำนวณต้นทุนสำหรับคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษีในแต่ละปีด้วยว่าจะใช้วิธีต้นทุนแบบเข้าก่อน-ออกก่อน (First-in, First-out: FIFO) หรือต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) และหากปีภาษีนั้นเลือกวิธีคำนวณต้นทุนแบบใด ต้องใช้แบบนั้นตลอดทั้งปี แต่ถ้าขึ้นปีภาษีใหม่จะสามารถเลือกใช้วิธีคำนวณต้นทุนแบบเดิมหรือเปลี่ยนวิธีใหม่ก็ได้
  • หากใช้วิธีอ้างอิงราคา ณ ขณะที่ขาย สามารถอ้างอิงแบบ ณ เวลาที่แลกเปลี่ยน (spot rate) หรือราคาถัวเฉลี่ยของเหรียญที่แลกมา โดยอาศัยข้อมูลราคาอ้างอิงที่น่าเชื่อถือที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของ กลต. ก็ได้ แต่เมื่อเลือกแล้วว่าจะใช้ราคาอ้างอิงแบบ spot rate หรือราคาถัวเฉลี่ยแล้ว ให้ใช้วิธีนั้นตลอดทั้งปี
  • การแลกเหรียญคริปโทเป็น Stable coin เช่น แลก BTC เป็น USDT ก็เป็นธุรกรรมที่ทำให้ต้องคำนวณกำไรด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะยังไม่ได้ขายเหรียญออกมาเป็นเงินสด (Fiat currency) เลยก็ตาม
  • หากได้เหรียญสกุลเดียวกันจากทั้งวิธีการขุดและซื้อมาเอง ผู้เสียภาษีจะต้องแยกทำบัญชีต้นทุนของเหรียญทั้ง 2 กลุ่มนี้ แม้ว่าจะเป็นเหรียญสกุลเดียวกัน เพราะตามกฎหมายแล้วเป็นเงินได้คนละประเภทกัน แต่เมื่อขายเหรียญดังกล่าวออกไป ผู้เสียภาษีสามารถลงบันทึกทางบัญชีได้ว่าเป็นการขายเหรียญที่ได้จากขุดหรือขายเหรียญที่ซื้อมา

การเลือกวิธีคำนวณต้นทุน

กรมสรรพากรกำหนดให้ผู้เสียภาษีต้องเลือกวิธีคำนวณต้นทุนสำหรับคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษีในแต่ละปี ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  1. ต้นทุนแบบเข้าก่อน-ออกก่อน (First-in, First-out: FIFO)
  2. ต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost)

ทั้งนี้ หากปีภาษีนั้นเลือกวิธีคำนวณต้นทุนแบบใด ต้องใช้แบบนั้นตลอดทั้งปี แต่ถ้าขึ้นปีภาษีใหม่ จะสามารถเลือกใช้วิธีคำนวณต้นทุนแบบเดิมหรือเปลี่ยนวิธีใหม่ก็ได้

1. ต้นทุนแบบเข้าก่อน-ออกก่อน (First-in, First-out: FIFO)

ต้นทุนแบบเข้าก่อน-ออกก่อน หรือ first-in, first-out (FIFO) หมายความว่า กรณีได้เหรียญคริปโทสกุลเดียวกันมาหลายครั้ง เมื่อมีการขายออกไปจะให้ถือว่านำเหรียญคริปโทที่ได้มาก่อน (first-in) เป็นกลุ่มที่ถูกขายออกไปก่อน (first-out) เสมอ จึงให้ใช้ราคาต้นทุนของเหรียญที่ได้มาช่วงแรกสุดที่เหลืออยู่สำหรับคำนวณเป็นต้นทุน

2. ต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost)

ต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ หมายความว่า กรณีได้เหรียญคริปโทสกุลเดียวกันมาหลายครั้ง ให้นำต้นทุนมาถัวเฉลี่ยใหม่ทุกครั้งเพื่อคำนวณเป็นต้นทุนสำหรับเหรียญคริปโทสกุลนั้นที่ตัวเองมีทั้งหมด

ข้อสังเกต

  • หากมีเหรียญคริปโทที่คงเหลือ ณ วันสิ้นปี ให้นำมูลค่าต้นทุนของเหรียญคริปโทที่คงเหลือเหล่านั้นยกไปใช้เป็นต้นทุนสำหรับคำนวณภาษีในปีต่อๆ ไป เช่น ขุด 1 BTC มาด้วยต้นทุน 100,000 บาท หากปีนี้ยังไม่ได้ขายออกไป เมื่อขึ้นปีถัดไป 1 BTC ดังกล่าวก็ยังคงมีต้นทุน 100,000 บาท เท่าเดิม