Contents
ภาษีเงินเดือน (พ.ศ. 2475)
ภาษีเงินเดือน1 เป็นภาษีที่จัดเก็บจากเงินได้อันเป็นเงินเดือน ค่าจ้างแรงงาน เบี้ยหวัด บำเหน็จ เงินค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า เงินโบนัส เริ่มจัดเก็บครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2475 ปัจจุบันภาษีเงินเดือนถูกยกเลิกแล้ว และเปลี่ยนมาใช้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทน
ความเป็นมา
ภาษีเงินเดือน2 เริ่มจัดเก็บเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2475 นับเป็นครั้งแรกในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ได้ตรา พ.ร.บ. ภาษีเงินเดือนออกใช้ ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้ระบุให้กรมสรรพากรทำหน้าที่ประเมินและจัดเก็บโดยเจ้าหน้าที่ของกรมเอง
อัตราภาษีเงินเดือนถูกกำหนดในอัตราเก็บสูงและต่ำตามจำนวนเงินเดือน ดังนี้ คือ ให้เก็บภาษี 1% สำหรับเงินเดือนที่ได้ในเดือนหนึ่ง 50-75 บาทขึ้นไป และเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 15% ขึ้นไป สำหรับเงินเดือนที่เกินกว่า 3,300 บาทต่อเดือน ต่อมาให้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ คือ ให้เก็บภาษีเพิ่มขึ้นจาก 1% ของจำนวนเงินปี 600 บาทขึ้นไปจนถึงจำนวนเงินเดือนที่มากกว่า 34,600 บาทต่อปี ให้เก็บเพิ่มขึ้น 20%
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้ประกาศยกเว้นเงินค่ารัชชูปการสำหรับผู้เสียภาษีเงินเดือน อย่างไรก็ตาม ราษฎรผู้ต้องรับภาระภาษีดังกล่าวยังคงได้รับความเดือดร้อน พากันถวายฎีการ้องทุกข์ถึงความเดือดร้อนที่ได้รับจากภาษีเงินเดือนและเรียกร้องให้มีการลดภาษีดังกล่าว จากปฏิกิริยาตอบโต้ของราษฎรเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า ภาษีเงินเดือนที่เรียกเก็บในขณะนั้นมิใช่ระบบภาษีที่ก้าวหน้า ภาษีดังกล่าวมีผลบังคับเรียกต่อชนชั้นกลาง ซึ่งส่วนใหญ่มีแต่บรรดาข้าราชการชั้นผู้น้อยและผู้รับจ้างทำงานในกิจการร้านค้า
ขณะเดียวกันภาษีนี้ไม่มีผลถึงเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมีเงินได้จากหนทางอื่นๆ จำนวนมากกว่าเงินเดือน นอกจากนี้ พวกพ่อค้าชาวจีนซึ่งมีเงินได้ที่มิใช่ได้จากเงินเดือนแต่ก็มีเป็นจำนวนมากจากกิจการอื่นๆ บุคคลสองประเภทหลังนี้ได้รับผลกระทบถึงน้อยจากภาษีเงินเดือน
และหากพิจารณาถึงโครงสร้างเศรษฐกิจ ขณะนั้นอยู่ในสภาวะที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ราษฎรสามัญทั่วไปได้รับผลกระทบจากภาวระดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางที่ต้องแบกภาระภาษีเงินเดือนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากบรรดาบริษัทห้างร้านทั่วไปลดการจ้างแรงงานลงหรือลดเงินเดือนลูกจ้าง หรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐเองพวกข้าราชการชั้นผู้น้อยก็ถูกดุลให้ออกจากราชการ และถูกลดเงินเดือน ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับบริหารชั้นสูง และพวกเจ้านายชั้นผู้ใหญ่กลับได้เลื่อนเงินเดือน ลักษณะเช่นนี้ก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้การเพิ่มภาระให้สามัญชนทั้งหลายโดยการตั้งเก็บภาษีเงินเดือนเพื่อให้รัฐได้รายได้มาดุลการคลังของรัฐจึงทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างมาก และในที่สุดการตั้งเก็บภาษีเงินเดือนกลายเป็นตัวเร่งสำคัญประการหนึ่งที่มีผลต่อการสิ้นสุดลงของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
อ้างอิง
- ^
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ภาษีอากรในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย คลังข้อมูลและบทสำรวจสถานะทางวิชาการ, สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2527), หน้า 120-121
- ^
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ภาษีอากรในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย คลังข้อมูลและบทสำรวจสถานะทางวิชาการ, สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2527), หน้า 120-121