Contents

ภาษีชายโสด (พ.ศ. 2487 – 2488)

ภาษีชายโสด1  เป็นภาษีที่จัดเก็บเสริมจากชายโสดที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและมีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปีละ 960 บาทขึ้นไป ซึ่งเคยประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2487 แต่ต่อมาถูกยกเลิกใน พ.ศ. 2488

ความเป็นมา

ภาษีชายโสด2 เริ่มจัดเก็บในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติภาษีชายโสด พ.ศ. 2487 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2487

ภาษีชายโสดมีลักษณะเป็นภาษีที่จัดเก็บเสริมภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กล่าวคือ ชายโสดผู้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและมีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปีละ 960 บาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีชายโสด 5 บาท หรือในอัตรา 10% ของภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

การจัดเก็บภาษีชายโสดกระทำอยู่เพียงชั่วเวลาปีเศษ โดยเลิกจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2488 ทั้งนี้ตามความใน พระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีชายโสด พ.ศ. 2487 พุทธศักราช 2488


อ้างอิง

  1. ^

    รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ภาษีอากรในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย คลังข้อมูลและบทสำรวจสถานะทางวิชาการ, สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2527), หน้า 125

  2. ^

    รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ภาษีอากรในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย คลังข้อมูลและบทสำรวจสถานะทางวิชาการ, สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2527), หน้า 125