Contents

ผูกปี้ข้อมือจีน (ยกเลิก พ.ศ. 2452)

8,999 views

การผูกปี้ข้อมือจีน1 เป็นภาษีประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเก็บเงินแทนการเกณฑ์แรงงานของชาวจีนโดยเฉพาะ โดยมีการผูกเชือกที่ข้อมือเป็นหลักฐาน ต่อมาถูกยกเลิกใน พ.ศ. 2452

ความเป็นมา

การผูกปี้ข้อมือจีน คือ ภาษีประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชาวจีนโดยเฉพาะ ชาวจีนเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองแล้วไม่ถูกเกณฑ์แรงงาน ซึ่งต่างจากราษฎรคนไทยและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เช่น มอญ ลาว เป็นต้น ต้องถูกสักข้อมือเป็นไพร่ถูกเกณฑ์แรงงาน อย่างไรก็ตาม ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าในสมัยรัชกาลที่ 2 มีการเกณฑ์แรงงาน

หน่วยราชการที่ดำเนินการผูกปี้จีน คือ พระคลังสินค้า ซึ่งจะเป็นผู้จัดข้าหลวงออกไปยังหัวเมืองต่างๆ เพื่อกำกับการผูกปี้จีนของเจ้าเมืองกรมการเมืองต่างๆ หน่วยงานนี้ดำเนินงานเก็บค่าผูกปี้จีนเรื่อยมาตลอดจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2434 การดำเนินการผูกปี้จีนอยู่ในหน้าที่กรมส่วยสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2433

วิธีการผูกปี้จีนและอัตราการผูกปี้จะดำเนินทุก 3 ปีต่อครั้ง โดยมีกำหนดว่าในปีที่สามจะถูกเกณฑ์แรงงานคนละ 1 เดือน เกณฑ์อายุของผู้ที่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานอยู่ในระหว่าง 20 – 60 ปี ถ้าผู้ใดไม่ต้องการมาทำงานราชการก็เสียเงินแทน อัตราการเสียเงินแทนแรงงานแตกต่างไปตามสมัย ก่อนสมัยรัชกาลที่ 3 เสียคนละ 1.50 บาทในทุกๆ สามปี ในสมัยรัชการที่ 4 เพิ่มค่าแรงชาวจีนเป็น 4.50 บาท อัตรานี้เปลี่ยนแปลงไปตามภูมิภาค ภูมิภาคที่มีคนจีนมากอัตราการเก็บค่าแรงเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ. 2443 รัฐบาลได้ตรา พ.ร.บ.​ ลักษณะผูกพี่จีน ร.ศ. 119 พ.ร.บ. ฉบับนี้ระบุไว้ว่าชาวจีนอายุระหว่าง 18 – 60 ปีต้องเสียค่าแรง 4 บาท 24 อัฐ และผูกปี้ข้อมือทุกคน ถ้าจีนหรือบุตรจีนหลานจีนคนใดไม่พอใจผูกปี้ข้อมือ จะขอรับใบเสร็จตั๋วสำคัญแทนผูกปี้ก็ให้เพิ่มเงินขึ้นรวมเสียเงินค่าแรง 6 บาท 32 อัฐ แล้วรับตั๋วสำคัญไปโดยไม่ต้องผูกปี้ และตาม พ.ร.บ. ที่ได้ระบุหน้าที่ให้กรมสรรพากรนอกทำหน้าที่ผูกปี้จีนตามหัวเมือง กรมสรรพากรในทำหน้าที่ผูกปี้จีนในมณฑลกรุงเทพ

อย่างไรก็ตาม การผูกปี้ข้อมือจีนได้ถูกยกเลิกไปโดยประกาศของรัฐบาลฉบับหนึ่งชื่อ ประกาศเลิกกันผูกปี้ข้อมือจีน ปี ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2432) แต่ให้คงเก็บแต่ค่าเงินค่าแรงช่วยราชการแทนปีนึงคนละ 6 บาท


อ้างอิง

  1. ^

    รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ภาษีอากรในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย คลังข้อมูลและบทสำรวจสถานะทางวิชาการ, สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2527), หน้า 87-88