Contents

ประมวลรัษฎากร

36,179 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

ประมวลรัษฎากร (ประ-มวน-รัด-สะ-ดา-กอน) เป็นกฎหมายภาษีฉบับหนึ่งของไทย มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติเพราะฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้มีอำนาจตราและแก้ไข ซึ่งปัจจุบันมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับภาษีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่ ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ โดยอยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมสรรพากร 1

อ่าน ประมวลรัษฎากร (ฉบับเต็ม)

ภาษีที่จัดเก็บตามประมวลรัษฎากร

ปัจจุบัน ประมวลรัษฎากรครอบคลุมการจัดเก็บภาษี 4 ประเภท ดังนี้

  1. ภาษีเงินได้ (แบ่งเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีเงินได้นิติบุคคล)
  2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
  3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
  4. อากรแสตมป์

หน่วยงานจัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากร

วันที่มีผลใช้บังคับ

  • ตั้งแต่ 1 เมษายน 2482 – ปัจจุบัน

ประมวลรัษฎากรบัญญัติขึ้นเมื่อ 31 มีนาคม 24813 และให้เวลาเตรียมตัว 1 ปี โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 เมษายน 24824 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ประมวลรัษฎากรมีการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมแล้วมากกว่า 70 ครั้ง โดยมีการแก้ไขโดยรูปแบบต่างๆ ดังนี้

  1. แก้ไขโดยการออกพระราชบัญญัติ (แก้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ) จำนวน 54 ครั้ง5
  2. แก้ไขโดยการออกพระราชกำหนด (แก้โดยฝ่ายบริหาร) จำนวน 19 ครั้ง6
  3. แก้ไขโดยการประกาศของคณะปฏิวัติ/รัฐประหาร จำนวน 3 ครั้ง7

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประมวลรัษฎากร

ประมวลรัษฎากรแม้มีบทบัญญัติเพียง 129 มาตรา แต่ครอบคลุมภาษีถึง 4 ประเภท อีกทั้งยังเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจและการคลังของภาครัฐ จึงทำให้มีบทบัญญัติที่อยู่นอกประมวลรัษฎากรอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมักเป็นการกำหนดข้อยกเว้นของกฎหมายภาษี หรือกำหนดรายละเอียดบางประการที่ไม่ได้ปรากฏในประมวลรัษฎากร โดยจำแนกตามลำดับชั้นได้ดังนี้

1. พระราชกำหนด

พระราชกำหนด ออกโดยคณะรัฐมนตรี (ฝ่ายบริหาร) ในภาวะจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งภาษีมักเกี่ยวข้องโดยตรงกับการนโยบายเศรษฐกิจและการคลัง หลายครั้งฝ่ายบริหารจึงตัดสินใจตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรขึ้นเพราะเหตุจำเป็นเร่งด่วน โดยมีสถานะเทียบเท่ากับกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ

พระราชกำหนดเป็นกฎหมายที่ต้องทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธย

2. พระราชกฤษฎีกา

พระราชกฤษฎีกา ออกโดยคณะรัฐมนตรี (ฝ่ายบริหาร) ซึ่งโดยปกติจะใช้เพื่อลดหรือยกเว้นภาษีตามกรณีที่ประมวลรัษฎากรให้อำนาจรัฐบาลไว้ดังนี้8

  1. ลดอัตราหรือยกเว้นเพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพของท้องที่บางแห่งหรือทั่วไป
  2. ยกเว้นแก่บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อ องค์การสหประชาชาติ หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญา หรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ
  3. ยกเว้นแก่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล องค์การศาสนา หรือองค์การกุศลสาธารณะ

ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถตราพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการลด/ยกเว้นภาษีในภายหลังได้9

พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่ต้องทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธย

3. กฎกระทรวง

กฎกระทรวง (ในที่นี้ หมายถึง กฎกระทรวงการคลัง) ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยทั่วไป จะเป็นการกำหนดรายละเอียดบางประการตามที่ประมวลรัษฎากรให้อำนาจรัฐบาลไว้ เช่น กำหนดเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี10

เนื่องจากกฎกระทรวงสามารถออกได้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงไม่ต้องทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธย จึงใช้คำว่า “ข้อ” แทนคำว่า “มาตรา”

4. อื่นๆ

การศึกษาประมวลรัษฎากร ควรพิจารณาแหล่งข้อมูลอื่นเพิ่มเติม เพื่อประกอบการตีความและบังคับใช้กฎหมายภาษีจากแหล่งต่อไปนี้ด้วย

  1. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
  2. คำสั่งกรมสรรพากร
  3. ประกาศกระทรวง
  4. ระเบียบกระทรวง
  5. คําวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
  6. คำพิพากษาศาลฎีกา เป็นต้น

หมายเหตุ: คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. ย่อมาจาก “ทั่วไป” มีสถานะเป็นกฎหมายลูกที่กรมสรรพากรใช้อำนาจตามกฎหมายลำดับที่สูงกว่าเพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไป ต่างจาก คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. ย่อมาจาก “ปฏิบัติ” ซึ่งเป็นเพียงการกำหนดแนวทางการทำงานของเจ้าหน้าที่สรรพากร ไม่ได้บังคับใช้กับประชาชนโดยตรง

ข้อสังเกต

  • ประมวลรัษฎากรเป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 8 จึงยังคงมีการใช้ถ้อยคำโบราณที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้วอยู่บ้าง เช่น “ปีประดิทิน” ซึ่งหมายถึง ปีปฏิทิน เป็นต้น
  • แม้ประมวลรัษฎากรจะตราในสมัยรัชกาลที่ 8 แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลไม่ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย เนื่องจากขณะนั้นยังทรงมีพระชนมายุเพียง 14 พรรษาและประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงได้ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยของพระองค์

อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 5 ประมวลรัษฎากร

  2. ^

    มาตรา 5 ประมวลรัษฎากร

  3. ^

    พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481

  4. ^

    มาตรา 3 พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481

  5. ^

    แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดเกี่ยวกับการเก็บภาษี e-service สำหรับธุรกิจแพลตฟอร์มต่างชาติ โดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2564

  6. ^

    แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดเกี่ยวกับการเก็บภาษีคริปโท โดย พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2564

  7. ^

    แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดเกี่ยวกับการหักค่าใช้จ่าย โดย ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ฉบับที่ 37

  8. ^

    มาตรา 3 ประมวลรัษฎากร

  9. ^

    มาตรา 3 วรรคสอง ประมวลรัษฎากร

  10. ^

    มาตรา 42 (17) ประมวลรัษฎากร และ กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)