Contents

รวมคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับคดีภาษีอากร (ฎีกาย่อ)

11,179 views

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4235/2561

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 บัญญัติถึงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษี โดยเงินได้ตาม (17) คือเงินได้ตามที่กำหนดยกเว้นโดยกฎกระทรวง และตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กำหนดว่า เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (17) ซึ่งตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือ ตาย ข้อ 1 (1) กำหนดว่า กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ตำ่กว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงาน เพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี แสดงให้เห็นถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้ประเภทนี้ประสงค์จะให้มีการเข้าเป็นสมาชิกกองทุนเป็นระยะยาวไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งไม่ให้ประโยชน์ในการยกเว้นภาษีในกรณีสมาชิกลาออกจากงานหรือออกเพราะเหตุที่กระทำความผิดเพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมระยะยาวไว้สำหรับยามเกษียณอายุ เห็นว่า กรณีของโจทก์มีข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2546 ข้อ 6.6 (5) กำหนดกรณีครบเกษียณอายุให้พนักงานผู้มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ต่อมามีการออกระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 42/2547 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ. 2547 ถึง 2550 โดยมีหลักการสำคัญตามระเบียบนี้ ข้อ 4 ให้สิทธิพนักงานแสดงความจำนงขอออกจากงานได้แต่ต้องได้รับการพิจารณาอนุญาตให้ออกจากงานได้จากธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย และยังมีการให้เงินเพิ่มพิเศษและสิทธิประโยชน์แก่ผู้ออกจากงานตามระเบียบนี้ด้วย ประกอบกับในข้อ 2 ของระเบียบนี้ก็ระบุถึงเหตุผลและความจำเป็นว่า เพื่อเป็นทางเลือกแก่พนักงานในการทำงานภายใต้องค์กรกะทัดรัด ซึ่งย่อมเห็นได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ ระเบียบนี้เพื่อจูงใจพนักงานให้ขอออกจากงาน เนื่องจากต้องการลดกำลังคนขององค์กรให้มีขนาดเหมาะสม และลดค่าใช้จ่ายจากการมีพนักงานมากเกินความจำเป็น ซึ่งแตกต่างจากกรณีการลาออกของพนักงานตามปกติธรรมดา ที่เกิดจากความต้องการของพนักงานฝ่ายเดียว และธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่ต้องจ่ายเงิน เพิ่มพิเศษหรือใช้ให้สิทธิประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเพราะการลาออกตามปกติโดยสิ้นเชิง จึงถือว่าการออกจากงานตามเงื่อนไขแห่งระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 42/2547 ดังกล่าว ไม่ใช่การลาออกจากงานปกติตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยพนักงาน พ.ศ. 2546 ข้อ 6.6 (2) บัญญัติถึงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณ หากแต่การออกจากงานตามระเบียบนี้เกิดจากความประสงค์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดหลักเกณฑ์ ยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับเหตุผลและความจำเป็นในขณะนั้น ดังนั้น หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กาหนดตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 42/2547 นี้ก็คือข้อกำหนดส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์การเกษียณอายุงาน อันเป็นการเพิ่มเติมเป็นให้เกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือเกษียณอายุงานก่อนอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ ได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งระเบียบนี้ การที่โจทก์ใช้สิทธิตามระเบียบนี้ในการออกจากงานย่อม ถือได้ว่าเป็นการเกษียณอายุโดยการออกจากงานเมื่อสิ้นกาหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่กำหนดไว้เป็นไปภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 42/2547 ที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคานวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42 (17) ประกอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2409) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษี เงินได้ (ฉบับที่ 52) เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3292/2561

โจทก์กับภริยาไม่ได้มีสัญญาตกลงกันไว้เป็นอื่นในเรื่องการจัดการสินสมรส ก็ถือว่าโจทก์กับภริยามีเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์นี้คนละกึ่งหนึ่ง กรณีไม่ใช่เป็นเงินได้พึงประเมินที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ชัดแจ้งว่าเป็นของสามีและภริยาแต่ละฝ่ายจํานวนเท่าใด จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 57 ฉ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์กับภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันตาม มาตรา 57 ฉ วรรคสอง ตอนท้าย ไม่ได้ ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษีพิพาทแสดงรายการว่าโจทก์มีเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นสินสมรสจํานวน 414,960 บาท ส่วนภริยามีเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสินสมรสดังกล่าวจํานวน 131,040 บาท เป็นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ไม่ถูกต้อง เมื่อจําเลยสั่งคืนเงินภาษีอากรให้แก่โจทก์ โดยผิดพลาด จําเลยย่อมมีสิทธิออกหนังสือยกเลิกหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากรดังกล่าว และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ส่งคืนเงินภาษีอากรที่สั่งคืนผิดพลาดนั้น รวมทั้งออกหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ค.22) ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8671/2560

การที่โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงภาษี ทั้งโจทก์ให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยด้วยดี เห็นสมควรงดเบี้ยปรับให้โจทก์ทั้งหมด

ที่ศาลภาษีอากรกลางลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์คงเหลือร้อยละ 30 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2560

การออกจากงานตามเงื่อนไขแห่งประกาศเรื่อง โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2551 ไม่ใช่การลาออกจากงานตามปกติ แต่มีลักษณะที่เกิดจากความประสงค์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ให้พนักงานเกษียณอายุออกจากงานก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ได้ เพื่อให้ยืดหยุ่นเหมาะสมกับเหตุผลและความจำเป็นในขณะนั้น โดยยังคงหลักการให้พนักงานบางส่วนเกษียณอายุครบ 60 ปี ได้โดยได้รับอนุญาตจากธนาคาร ดังนั้น การที่โจทก์ใช้สิทธิตามประกาศนี้แม้จะเป็นเวลาที่ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเดิมก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการเกษียณอายุโดยการออกจากงานเมื่อสิ้นกำหนดเวลาการ ทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว นอกจากนี้ ขณะออกจากงานโจทก์ก็มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งโจทก์เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้ว จึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่มีผลให้เงินได้ที่โจทก์ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (17) ประกอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (36) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการสำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือ ตาย แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับ 151) และ (ฉบับที่ 158)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1762-1763/2559

บริษัทย่อมมีวัตถุประสงค์ในทางหากำไรมาแบ่งปันกันในระหว่างผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อมหวังที่จะได้รับประโยชน์จากเงินปันผลหรือได้รับกำไรเมื่อโอนขายหุ้นหรือหวังจะได้ใช้สิทธิจากการถือหุ้นในการควบคุมกิจการงานของบริษัทซึ่งโดยปกติก็เป็นเรื่องของการค้าหากำไร เพราะหุ้นของบริษัทไม่ใช่ทรัพย์สินที่อาจจะได้ประโยชน์ในทางด้านใช้สอย หรือมีคุณค่าทางด้านศิลปะ หรือมีประโยชน์ในด้านอื่นอย่างทรัพย์สินทั่วๆไป การได้หุ้นมาจึงย่อมถือว่าเป็นการได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร รายได้จากการขายหุ้นจึงเป็นเงินได้พึงประเมินในการเสียภาษีเงินได้ เว้นแต่จะมีการพิสูจน์ให้เห็นว่าหุ้นนั้นได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรโดยแท้จริง การที่ผู้จัดการมรดกและทายาทจัดตั้งบริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ จำกัด และบริษัทสุวพีร์ธรรมวัฒนะ (1990) จำกัด แล้วแบ่งหุ้นในบริษัททั้งสองดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองและทายาทอื่น เป็นการสงวนผลประโยชน์รายได้ที่เกิดจากกิจการตลาดยิ่งเจริญให้ตกอยู่แก่ทายาทนางสุวพีร์ที่ถือหุ้นบริษัททั้งสองไว้ต่อไป และการถือหุ้นของโจทก์ทั้งสองกับทายาทดังกล่าว ยังทำให้ได้บริหารกิจการตลาดยิ่งเจริญซึ่งน่าจะคาดหมายได้ว่ามูลค่าทรัพย์สินนี้จะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงถือได้ว่าการได้รับหุ้นบริษัททั้งสองเป็นเรื่องของการค้าหากำไร

เมื่อเงินที่โจทก์ทั้งสองได้รับจากการขายหุ้นตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเงินได้พึงประเมินและมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ โจทก์ทั้งสองต้องยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย วันที่ 31 มีนาคมของปีภาษีถัดจากปีที่ได้รับเงินได้พึงประเมิน การที่จำเลยคำนวณดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการตามที่กฎหมายกำหนดจึงชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1485/2559

การที่โจทก์นำที่ดินที่แบ่งแยกโดยได้จัดทำถนนและสิ่งสาธารณูปโภคไว้ไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่บุคคลธรรมดาในปี 2538 ปี 2539 ปี 2541 และปี 2545 รวม 17 แปลง จดทะเบียนโอนขายให้แก่ เทศบาลตำบลสว่างแดนดินในปี 2545 และ ปี 2546 รวม 20 แปลง และทำสัญญาให้ที่ดินแก่บุตรชอบด้วยกฎหมายถือกรรมสิทธิ์รวมกัน 49 แปลง หลังจากที่โจทก์ได้แบ่งขายหรือมีการแบ่งแยกไว้เพื่อขายโดยได้จัดทำถนนหรือสิ่งสาธารณูปโภคอื่น จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม มาตรา 91/2 (6) ประกอบมาตรา 3 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขาย อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 และมาตรา 4 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541

การที่โจทก์ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงมาแบ่งแยกโดยมีเจตนามุ่งในการค้าหรือหากำไร เงินได้ที่โจทก์ได้มาจากการขายที่ดินดังกล่าว จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรตามมาตรา 48 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีสิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำเงินได้จากการขายที่ดินกรณีดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) (2) แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12753/2558

โจทก์ได้รับเงินได้พึงประเมินเพราะเหตุออกจากงาน 2 ประเภท ประเภทที่ 1 เป็นเงินชดเชยการเลิกจ้างซึ่งเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน โดยนายจ้างจ่ายให้โจทก์ในปีภาษี 2552 ประเภทที่ 2 เป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยจ่ายในปีภาษี 2553 ซึ่งเป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อผู้จ่ายเงินได้ประเภทที่ 1 คือนายจ้างของโจทก์ ส่วนผู้ที่จ่ายเงินได้ประเภทที่ 2 คือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารสแตนดาร์ดชาร์ดเตอร์ด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากนายจ้างของโจทก์ กรณีจึงเห็นได้ชัดว่าเงินชดเชยการเลิกจ้างกับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้ที่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ไม่ใช่ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินรายเดียวกัน ไม่เข้าเงื่อนไขที่ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากรได้เฉพาะเงินได้ที่จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ เมื่อโจทก์ได้รับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีภาษี 2553 ซึ่งเป็นคนละปีภาษีกับที่โจทก์ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง โจทก์จึงชอบที่จะนำเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับในปีภาษี 2553 มาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินอื่นได้ตาม มาตรา 48(5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8683/2558

ประกาศเรื่อง โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2550 ที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้พนักงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเกษียณอายุออกจากงานก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ได้ โดยยังคงให้พนักงานคนอื่นทำงานได้จนถึงอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ตามข้อบังคับเดิมด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามประกาศดังกล่าว จึงเป็นข้อกำหนดส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์การเกษียณอายุงานโดยเพิ่มเติมเป็นให้เกษียณอายุเมื่อครบ 60 ปีบริบูรณ์หรือเกษียณอายุงานก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ได้ การที่ โจทก์ใช้สิทธิตามระเบียบนี้ในการออกจากงานย่อมถือได้ว่าเป็นการเกษียณอายุโดยการออกจากงานเมื่อสิ้นกำหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่ได้กำหนดไว้ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งประกาศดังกล่าวที่เป็นลายลักษณ์อักษร แม้จะยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเดิมก่อนที่โจทก์จะยื่นขอเกษียณอายุก็ตาม เมื่อขณะออกจากงานโจทก์มีอายุ 57 ปีเศษ อันเป็นกรณีมีอายุไม่ตำ่กว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งโจทก์เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(17) ประกอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออก ตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6476/2558

กรณีที่มีการแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์และกรณีที่ไม่ยื่นรายการ กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีได้ทั้งสิ้น โดยมิได้มีข้อจำกัดว่าจะนำเอาเอกสารที่ได้จากเจ้าพนักงานตำรวจมาเป็นเหตุในการออกหมายเรียกไม่ได้ 

การที่ภริยาโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2544 และแสดงรายการไว้ว่าโจทก์ไม่มีรายได้ที่จะต้องเสียภาษี จะถือว่าแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2544 ดังกล่าวเป็นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ผู้เป็นสามีหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2544 การที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 23 จึงชอบแล้ว

พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 13 บัญญัติว่า “เจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ (1) เป็นคู่กรณีเอง (4) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี..”และมาตรา 5 บัญญัติคำว่า “คู่กรณี หมายความว่า ผู้ยื่นคำขอหรือผู้คัดค้านคำขอ ผู้อยู่ในบังคับหรือจะอยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครอง และผู้ซึ่งได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครองเนื่องจากสิทธิของผู้นั้นจะถูกกระทบกระเทือนจากผลของคำสั่งทาง ปกครอง” นางวณีฯ เป็นเพียงผู้อนุมัติขั้นตอนการออกหมายเรียก มิได้เป็นคู่กรณีเองหรือเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนของคู่กรณี และไม่ปรากฏว่านางวณีฯ ปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบกลั่นแกล้งให้โจทก์เสียหาย ส่วนโจทก์จะต้องมีหน้าที่รับผิดเสียภาษีอากรเพิ่มขึ้นอย่างไรย่อมต้องเป็นไปตามความเห็นของเจ้าพนักงานประเมินตามพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ เพียงแค่นางวณีฯ เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการของคณะทำงานติดตามตรวจสอบเพื่อเร่งรัดดำเนินการใช้มาตรการทางภาษีกับผู้กระทำความผิดและผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวกับยาเสพติดหรือผู้มีอิทธิพลและเป็นผู้ประชุมลงมติว่าโจทก์เป็นผู้มีอิทธิพล ยังไม่พอให้รับฟังได้ว่า กรณีมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางตาม พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 16 

คำฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับ ประเด็นปัญหาว่ากรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับหรือไม่จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยออกหมายเรียกไปยังสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อให้ส่งรายงานทางบัญชีเงินฝากของโจทก์มายังจำเลยเป็นการออกหมายย้อนหลังเกิน 3 ปี ไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ตรี และมาตรา 19 และฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2540 ก็ดี คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ใช้เวลาในการพิจารณาและแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบล่าช้าไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 45 และมาตรา 66 ก็ดี ต่างเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย แต่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องจึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือโจทก์ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวในศาลภาษีอากรกลางได้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์เช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19206/2556

การออกจากงานของโจทก์เป็นไปตามประกาศการประปาส่วนภูมิภาค เรื่อง โครงการ เกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2548 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานการประปาส่วนภูมิภาคที่ได้ปฏิบัติงานมาเป็นระยะเวลานานและมีความประสงค์จะขอลาออกจากงานก่อนเกษียณอายุได้รับผลประโยชน์ ตอบแทนพิเศษ โดยพนักงานต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ แม้ประกาศการประปาส่วนภูมิภาคดังกล่าวจะทำขึ้นภายหลังข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาค แต่ประกาศการประปาส่วนภูมิภาคมีลักษณะเป็นการแก้ไขข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาคฯ ข้อ 16(3) ในส่วนที่เกี่ยวกับพนักงานพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุ 60 ปีบริบูรณ์ ประกาศการประปาส่วนภูมิภาคจึงเป็นข้อบังคับสภาพการจ้างเกี่ยวกับการเกษียณอายุของพนักงาน กรณีดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) กรณีของโจทก์มิใช่ออกจากงานเพราะได้รับอนุญาตให้ลาออกตามข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาค ข้อ 16(2) เมื่อโจทก์มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพราะเกษียณอายุจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณหรือเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7536/2554

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39บัญญัติว่า“เงินได้พึงประเมิน”หมายความว่า “เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆ ตามมาตรา 40 และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ ด้วย” นอกจากนี้ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติถึงประเภทเงินได้พึงประเมินไว้ว่ารวมถึง (1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
เมื่อโจทก์ได้รับค่าพาหนะเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งเป็นรายเดือนเท่ากันทุกเดือน ถือได้ว่าค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งนั้น เป็นเงินที่โจทก์ได้รับเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการทำงานนอกเหนือไปจากเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งซึ่งคิดคำนวณได้เป็นเงิน จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเงินได้พึงประเมินนี้ไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2509 แต่อย่างใด แม้เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งที่โจทก์ได้รับนั้นจะเป็นการจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับประโยชน์ที่ได้จากการใช้รถประจำตำแหน่งก็ตาม แต่เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายที่โจทก์ได้รับมาแล้วย่อมตกเป็นของโจทก์โดยไม่มีข้อบังคับหรือข้อจำกัดการใช้จ่ายเงินนี้ โจทก์ใช้จ่ายได้อย่างอิสระ อาจนำไปซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ประเภทใด ราคาเท่าใด และอาจเหลือเงินเป็นประโยชน์แก่โจทก์เองก็ได้ เมื่อพ้นจากตำแหน่งก็ยังมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้นต่อไป จึงเป็นเงินได้ทำนองเดียวกับเงินเดือนของโจทก์ กรณีจึงแตกต่างไปจากรถประจำตำแหน่ง ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้เฉพาะข้าราชการระดับสูงระดับรองอธิบดี อธิบดีหรือปลัดกระทรวงและตามข้อ 13 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2523 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรถราชการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535 ข้อ 8 กำหนดว่า รถประจำตำแหน่งให้ใช้ในการปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ หรือที่ได้รับมอบหมายโดยชอบ หรืองานที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับงานในตำแหน่งหน้าที่หรือฐานะที่ดำรงตำแหน่งนั้น รวมตลอดถึงการใช้เพื่อเดินทางไปกลับระหว่างที่พักและสำนักงาน และเพื่อการอื่นที่จำเป็นและเหมาะสมแก่การดำรงตำแหน่งหน้าที่ในหมู่ราชการและสังคม ดังนั้น รถประจำตำแหน่งจึงต้องใช้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นสำคัญ เปรียบได้กับ กรณีที่ข้าราชการใช้เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องปรับอากาศของทางราชการในการปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ผลงานตามวัตถุประสงค์ของทางราชการและเมื่อพ้นจากตำแหน่งก็ไม่มีสิทธิในรถประจำตำแหน่งอีกเลย การได้รับรถประจำตำแหน่งจึงมิได้เป็นประโยชน์ที่ได้รับส่วนตัวอันจะถือเป็นเงินได้พึงประเมิน เมื่อสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งกับสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญอันเป็นเหตุให้เกิดผลทางกฎหมายในอันที่จะถือเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่แตกต่างกันแม้เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งจะมีที่มาจากรถประจำตำแหน่งดังที่โจทก์อ้างก็มิใช่เป็นเหตุผลโดยกฎหมายอันจะทำให้เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งไม่เป็นเงินได้พึงประเมิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8214/2549

ประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2) บัญญัติว่า “เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้” มาตรา 40(6) บัญญัติว่า “เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย….” ตามบทกฎหมาย ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ประมวลรัษฎากร บัญญัติให้เงินได้จากวิชากฎหมายเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระและเป็นเงินได้ ประเภทหนึ่งต่างหากจากเงินได้ประเภทอื่น โจทก์ทั้งสองสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมาย เงินได้รายพิพาทเป็นเงินได้ที่โจทก์ ทั้งสองได้รับมาจากการเป็นที่ปรึกษากฎหมาย จึงเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(6) หามีบทบัญญัติว่าการประกอบวิชาชีพกฎหมายจะต้องว่าความหรือฟ้องร้องคดีด้วยไม่ ทั้งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติห้ามผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายรวมกันเป็นคณะบุคคลประกอบวิชาชีพกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่หามีบทกฎหมายหรือเหตุผลสนับสนุนไม่ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2547

ประมวลรัษฎากรมิได้ให้ความหมายของคำว่า มหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษาไว้เป็นพิเศษ แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 มหาวิทยาลัย หมายถึงสถาบันอุดมศึกษาที่มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาในด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงหลายสาขาวิชาหรือหลายกลุ่มสาขาวิชาเพื่อให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา ปริญญา และประกาศนียบัตรบัณฑิตแก่ผู้สำเร็จการศึกษา รวมทั้งดำเนินการวิจัยและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ ส่วนคำว่าอุดมศึกษา หมายถึงการศึกษาในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษา ซึ่งตามเจตนารมย์ของมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร มุ่งประสงค์จะแบ่งเบาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมีบุตรที่ไม่ได้เป็นผู้เยาว์และอายุยังไม่เกิน 25 ปี แต่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาใด ๆ ในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษาอันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศมีระดับการศึกษาสูงขึ้น สำหรับสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภานั้นเป็นสถาบันที่เนติบัณฑิตยสภาก่อตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสิทธ์ประสาทและส่งเสริมการศึกษานิติศาสตร์และความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายโดยเฉพาะ ดังนั้น แม้สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาจะมิใช่มหาวิทยาลัย แต่ก็เป็นสถาบันการศึกษาในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษา จึงถือเป็นชั้นอุดมศึกษา ตามความหมายของมาตรา 47 แล้ว ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิหักค่าลดหย่อนสำหรับบุตรที่ศึกษาที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาได้

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3615/2561

สัญญาให้บริการจัดการธุรกิจระหว่างโจทก์กับบริษัทในเครือ ระบุว่าโจทก์ตกลงให้บริการจัดการธุรกิจและผู้ว่าจ้าง (บริษัทในเครือทั้งสาม) ตกลงรับบริการจัดการธุรกิจจากโจทก์ในด้านต่างๆ และตามสัญญาระบุว่าหากมีค่าใช้จ่ายใดๆ เกิดขึ้นเนื่องจากการปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งโจทก์ได้ทดรองจ่ายไปก่อนผู้ว่าจ้างตกลงจะชดใช้เงินคืนให้แก่โจทก์ทั้งหมด การจ่ายเบี้ยประกันภัยเพื่อประกันความเสี่ยงในการขายลดลูกหนี้การค้าของบริษัทในเครือทั้งสามเพื่อบริการด้านงานสินเชื่อตามสัญญาจึงเป็นค่าใช้จ่ายเนื่องจากการปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งสัญญาระบุชัดเจนว่าให้บริษัทในเครือทั้งสามเป็นผู้จ่าย ไม่ใช่ หน้าที่ของโจทก์โดยตรง การที่โจทก์ไปจ่ายเบี้ยประกันภัยแทนบริษัทในเครือทั้งสามผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกแก่บริษัทในเครือของโจทก์ จึงเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1110/2561

โจทก์ที่ 3 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเป็นขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 86,661.12 บาท และภาษีธุรกิจเฉพาะ 1,274,250 บาท กับภาษีส่วนท้องถิ่น 127,425 บาท ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่า โจทก์ที่ 3 ฟ้องเรียกคืนค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 แต่โจทก์ที่ 3 มาขอแก้ไขคำฟ้องเป็นขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นภาษีคนละประเภทกันไม่ เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ทั้งไม่ได้เป็นประเด็นพิพาทกันในคดีนี้ เนื่องจากคดีนี้เป็นการขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงไม่อนุญาตให้โจทก์ที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง ให้ยกคำร้อง คำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุดโดยโจทก์ที่ 3 ไม่อุทธรณ์คำสั่งนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรกลางและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 (เดิม) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 3 อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5150/2559

แม้การที่โจทก์ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ภายในระยะเวลาที่มาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร
กำหนดไว้ และโจทก์ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ภายหลังจากที่โจทก์ได้รับหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนจากเจ้าพนักงานของจำเลยแล้ว จะไม่เป็นเหตุให้อำนาจการประเมินตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากรของเจ้าพนักงานประเมินหมดไปก็ตาม แต่เจ้าพนักงานของจำเลยได้นำผลการตรวจสอบด้านรายได้ ด้านรายจ่าย ภาษี ที่ต้องชำระเพิ่มเติมทำการปรับปรุงกำไรสุทธิที่โจทก์ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ไว้แล้ว และสามารถคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์จากยอดกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทได้ ตามพฤติการณ์ของโจทก์จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์มิได้ทำบัญชี หรือทำไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 และมาตรา 68 ทวิ หรือไม่นำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่น มาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนตามมาตรา 23 อันเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถคำนวณหากำไรสุทธิจากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการตาม มาตรา 24 แห่งประมวลรัษฎากรได้ เมื่อประมวลรัษฎากร มาตรา 71 วรรคสอง บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรานี้ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่เจ้าพนักงานประเมินจะประเมินให้เสียภาษีตามบทบัญญัติในมาตราอื่น” ประกอบกับเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยสามารถคำนวณหากำไรสุทธิจากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการของโจทก์ตามมาตรา 24 แห่งประมวลรัษฎากรได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ดุลพินิจประเมินให้โจทก์ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ของรอบระยะเวลาบัญชี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) เนื่องจากโจทก์ไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีตามบทบัญญัติในส่วน 3 แห่งประมวลรัษฎากรเท่านั้น จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่สมควร การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2545 และปี 2546 ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหัก รายจ่ายใดๆ ตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ของเจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่เจ้าพนักงานประเมินใช้กำไรสุทธิที่คำนวณกลับจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ประเมินตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากรมาเป็นฐานคำนวณ ทำให้ประมาณการกำไรสุทธิที่โจทก์ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ไว้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ โดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงไม่ชอบด้วยเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12128/2558

เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจทำการประเมินภาษีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลโดยวิธีพิเศษตามมาตรา 71(1) ได้ เมื่อมีกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้ 1. ไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษี ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด 2. ไม่ทำบัญชีหรือทำไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 และมาตรา 68 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และ 3. ไม่นำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวน ตามมาตรา 19 หรือ มาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2547 และปี 2548 ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 68 และ 69 แห่งประมวลรัษฎากร อีกทั้งโจทก์มิได้จัดทำบัญชีให้ครบถ้วนตามที่ กำหนดไว้ตามมาตรา 17 และมาตรา 68 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรโดยบัญชีเอกสารที่โจทก์นำส่งไม่เพียงพอที่จะตรวจสอบหาต้นทุนและรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิที่ถูกต้องของโจทก์ ส่วนที่ภายหลังโจทก์จัดทำงบดุลและงบกำไรขาดทุนและบัญชีอื่นมายื่นพร้อมคำอุทธรณ์นั้น ก็เป็นเวลาภายหลังที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากรไปแล้ว ทั้งเจ้าหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ก็เบิกความโต้แย้งว่า งบดุลที่โจทก์นำส่งไม่ปรากฏยอดสินค้าคงเหลือปลายปี 2546 ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณต้นทุนเพื่อหากำไรขาดทุนถือได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์และปฏิบัติตามคำสั่ง กรมสรรพากรที่ ป.78/2541 เรื่องขอบเขตการใช้อำนาจตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยถูกต้องแล้ว การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการในภายหลังจากที่ถูกประเมินให้ชำระภาษีและเงินเพิ่มแล้วไม่มีผลทำให้การประเมินที่ชอบเสียไป ดังนั้นการประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ประเมินและคำวินิจฉัยให้โจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับทั้งสองรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว 

เมื่อการประเมินให้โจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับการคิดเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี วรรคแรก มิใช่ใช้เฉพาะกับการประเมินภาษีจากกำไรสุทธิโดยวิธีปกติตามมาตรา 65 เท่านั้น แต่ยังใช้กับการประเมินภาษีโดยวิธีพิเศษตาม มาตรา 71(1) นี้ด้วย โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรแก่จำเลย 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6717/2558

ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินของโจทก์ข้อ 9 ปรากฏว่า บริษัทใหญ่ขั้นสุดท้ายได้ตกลงที่จะว่าจ้างให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการโครงข่ายระบบโทรศัพท์พื้นฐานใช้นอกสถานที่ ต่อมาในระหว่างไตรมาสที่ 3 ของปี 2541 โจทก์ตกลงที่จะมอบหมายให้บริษัท เอเชียไวร์เลสฯ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของโจทก์เป็นผู้รับจ้างเพื่อดำเนินการแทนในโครงการ PCT ทั้งหมด จากหมายเหตุประกอบงบการเงินดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า โจทก์ตกลงที่จะมอบหมายให้บริษัท เอเชียไวร์เลสฯ เป็นผู้รับจ้างเพื่อดำเนินการแทนในโครงการ PCT ทั้งหมดตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2541 และโจทก์ได้มีการตระเตรียมการหรือดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาเหล่านี้จนถึงขั้นสุดท้ายแล้ว ประกอบกับทรัพย์สินที่โจทก์ขายให้แก่บริษัทเอเชียไวรเลสฯ เป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการของโจทก์และก่อนที่ผู้ซื้อจะซื้อโครงการ PCT จากโจทก์ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้ซื้อได้มีมติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนอีก ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า ก่อนที่จะมีการทำสัญญาซื้อขายโครงข่าย PCT ระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อ ผู้ซื้อจะต้องทำคำบอกกล่าวเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อมีมติเพิ่มทุนจดทะเบียนก่อนวันนัดประชุม และต้องมีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติเพิ่มทุนจดทะเบียนที่ต้องอาศัยมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้น อีกทั้งต้องนำมติดังกล่าวไปจดทะเบียนเพิ่มทุน ก่อนที่จะมีการทำสัญญาซื้อขายโครงข่าย PCT ระหว่าง จทก์กับผู้ซื้อ ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากวันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง นอกจากนี้การที่โจทก์ถือหุ้นในบริษัทผู้ซื้อร้อยละ 100 โจทก์ย่อมมีอำนาจในการควบคุมนโยบายและการบริหารงานกิจการของผู้ซื้อ รวมถึงมีมติให้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนแก่ผู้ซื้อได้ตามที่มีการเตรียมการไว้เป็นการล่วงหน้า นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทมิตซุย แอนด์ คอมปานี ลิมิเต็ด ทำสัญญา REPAYMENT TERMS AGREEMENT หรือสัญญาข้อกำหนดเกี่ยวกับการชำระหนี้คืนก่อนที่โจทก์กับผู้ซื้อจะทำสัญญาขายโครงการ PCT ให้แก่ผู้ซื้อ แต่เมื่อพิจารณาสัญญาดังกล่าวประกอบสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 17/2542 ในการพิจารณาร่างสัญญาระหว่างโจทก์ ผู้ซื้อและเจ้าหน้าที่ของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ของโจทก์จะต้องให้ความยินยอมเป็นหนังสือตามที่โจทก์กล่าวอ้าง และตามรายงานการประชุมคณะกรรมการ ดังกล่าวยังปรากฏอีกว่า หลังจากที่ได้ลงนามในสัญญากับเจ้าหนี้รายนี้แล้ว โจทก์จะต้องลงนามเข้าผูกพันกับเจ้าหนี้ของโจทก์อีกบริษัทหนึ่งเช่นกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าการขายโครงการ PCT ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าหนี้ของโจทก์ก่อนแต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้างของโจทก์จึงเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า การที่โจทก์แสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี 2542 เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ นอกเหนือความคาดการณ์หรือควบคุมของโจทก์ การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2542 โดยแสดงประมาณการกาไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 จึงไม่มีเหตุอันสมควร

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3612/2561​

ค่าตอบแทนจำนวน 90,000,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อตอบแทนโจทก์ในการดำเนินการจัดการให้ผู้เช่าและผู้อยู่อาศัยในที่ดินออกไปจากที่ดินและรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างแล้วเสร็จ รวมถึงตอบแทนในการเลิกสัญญาเช่า ระหว่างโจทก์และเจ้าของที่ดิน เพื่อจะได้เปลี่ยนผู้เช่าใหม่ เมื่อปรากฏว่าก่อนการทำบันทึกข้อตกลงเพื่อมีสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเกี่ยวเนื่องจากการประกอบ กิจการในที่ดินดังกล่าวที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาก่อน การที่โจทก์ได้รับเงินค่าตอบแทน จำนวน 90,000,000 บาท จากบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) จึงเป็นการกระทำใด ๆ ของโจทก์อันอาจหาประโยชน์และมีมูลค่าซึ่งมิใช่การขายสินค้า อันเป็นค่าบริการอย่างหนึ่งที่อยู่ในบังคับ ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/2 ประกอบมาตรา 77/1 (10)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1107/2561

โจทก์มีรายได้จากค่านายหน้าและค่าขายสินค้า ยอดรายรับที่โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มหลายเดือนภาษี เมื่อเจ้าพนักงานประเมินเชิญพบโจทก์โดยส่งหนังสือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ โจทก์เพิกเฉย เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก็ส่งไม่ได้ จึงนำส่งแก่โจทก์โดยวิธีการปิดหมาย ณ สำนักงานของโจทก์ ระหว่างนั้นโจทก์ได้จดทะเบียนชำระบัญชีเลิกห้าง ผู้ชำระบัญชีก็ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวน เมื่อล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว เจ้าพนักงานของจำเลยเร่งรัดภาษีอากรค้างแก่โจทก์ โจทก์จึงอุทธรณ์และขอขยายกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์เฉพาะประเด็นขอให้งดหรือลด เบี้ยปรับซึ่งจำเลยก็อนุมัติขยายกำหนดเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์ จำเลยยินยอมให้โจทก์ผ่อนชำระภาษีอากรค้างดังกล่าวได้ 96 งวด โจทก์ก็ชำระเพียงงวดเดือนสิงหาคม 2557 หลังจากนั้นไม่ผ่อนชำระอีกต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีเป็นอย่างดี ดังนั้น ท่ีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับแก่โจทก์ คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 40 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายสำหรับเดือนภาษีท่ีเป็นการกระทำความผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดข้ึนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน และคงเรียกเก็บเบี้ยปรับร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายสำหรับเดือนภาษีที่เป็นการกระทำความผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดข้ึนเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่เป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียน นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์มากแล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะเพิ่งเร่ิมประกอบการ ระหว่างมีการเรียกตรวจสอบภาษีโจทก์ไปประกอบกิจการที่ราชอาณาจักรกัมพูชา และต่างจังหวัดหลายปียังรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ ซึ่งแม้เป็นความจริงดังท่ีอ้างก็ไม่เป็นเหตุให้งดหรือลดเบี้ยปรับมากกว่าที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยลดให้แล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ล้วนเป็นข้อที่โจทก์ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามประมวลรัษฎากรโดยมีพฤติการณ์หลบหลีกภาษี ไม่มีเหตุอันควรจะลดหรืองดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1104/2561

เงินที่โจทก์ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทในเครือเพื่อทำการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์สินค้าไม่เป็นมูลค่าของฐานภาษีจากการขายสินค้าและการให้บริการแต่อย่างใด จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติมาตรา 86/13

โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ยังไม่ได้ส่งใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทในเครือ ซึ่งอยู่ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณารัฐประชาชนจีน ความเสียหายจึงยังไม่เกิดขึ้นนั้น เห็นว่าการที่โจทก์ออกใบกำกับภาษีกรณีเงินสนับสนุนดังกล่าว และลงรายงานภาษีขายทั้งนำมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสาหรับเดือนภาษีตุลาคม 2551 และเดือนภาษีมกราคม 2552 ยื่นต่อจำเลยแล้วย่อมมีความเสียหายต่อระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งโจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ โจทก์ชำระภาษีเท่ากับส่วนต่างนั้น หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายให้เป็นเครดิตภาษีและให้โจทก์มีสิทธิได้รับคืนหรือนำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามส่วน 8 เครดิตภาษีและการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน การที่โจทก์ฝ่าฝืนมาตรา 86/3 แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมทำให้แบบยื่นแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์นั้นไม่ถูกต้อง ข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนกระทบเดือนภาษีต่อไปทำให้จำนวนภาษีคลาดเคลื่อน เกิดความเสียหายต่อระบบภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นการทำไปเพื่อหลีกเลี่ยงหรือ พยายามหลีกเลี่ยงภาษีหรือมีการทุจริตในการออกใบกำกับภาษีอันเป็นเท็จโดยเจตนาให้รัฐได้รับความเสียหายหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 867/2561

โจทก์นําใบกํากับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบมาเป็นภาษีซื้อในการคํานวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ใบกํากับภาษีเป็นเอกสารสําคัญในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม กล่าวคือ กรณีโจทก์มีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ให้โจทก์ชําระภาษีเท่ากับส่วนต่างนั้น หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายให้เป็นเครดิตภาษีและให้โจทก์มีสิทธิได้รับคืนภาษีหรือนําไปชําระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตาม มาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การใช้ใบกํากับภาษีปลอมหรือใบกํากับภาษีที่ผู้ไม่มีสิทธิออกมายื่นแบบแสดงรายการเป็นการ ทําลายระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม อันเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของประเทศ โจทก์นําใบกํากับภาษีปลอมมาใช้หลายเดือนภาษีและวงเงินสูง สมควรต้องเสียเบี้ยปรับสองเท่าตามที่ประมวลรัษฎากรกําหนดอันเป็นบทลงโทษทางแพ่ง ที่ศาลภาษีอากรกลางลดเบี้ยปรับแก่โจทก์คงเรียกเก็บเพียงกึ่งหนึ่งของเบี้ยปรับตามกฎหมายนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจําเลยฟังขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6446/2560

แม้สัญญาที่โจทก์ทํากับลูกค้ามีข้อกําหนดหน้าที่และความรับผิดระหว่างคู่สัญญาตามลักษณะของสัญญารับขน แต่ลักษณะการประกอบกิจการที่แท้จริงของโจทก์ โจทก์ให้บริการที่เรียกว่า Direct shipment โดยโจทก์จะให้บริการรับ – ส่งสินค้าให้ลูกค้า บริการบรรจุหีบห่อ บริการดําเนินพิธีการศุลกากร บริการติดต่อ จองหรือซื้อพื้นที่เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าให้กับลูกค้า และชําระค่าระวางพาหนะให้แก่ผู้ขนส่ง ในส่วนการขนส่งระหว่างประเทศนั้น โจทก์มิใช่ผู้รับขนส่งของเพื่อบําเหน็จเป็นทางค้าปกติของตนด้วยตนเอง ดังนั้น ลักษณะการประกอบกิจการของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการให้บริการในการจัดส่งสินค้ายิ่งกว่าเป็นผู้ขนส่งเสียเอง เพราะไม่มีการกระทําอันแสดงว่าโจทก์ตกลงขนของหรือสินค้าไปส่งให้แก่ผู้รับตราส่งเพื่อบําเหน็จซึ่งได้แก่ ค่าระวางพาหนะ โจทก์จึงมิใช่ผู้ให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยานหรือเรือเดินทะเลที่กระทําโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล อีกทั้งโจทก์ไม่มีการแยกรายการเรียกเก็บค่าบริการเป็นส่วน ๆ หรืออธิบาย รายการให้บริการต่าง ๆ กับลูกค้า การให้บริการ Direct shipment เป็นการให้บริการโดยผู้ประกอบการ ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5552/2560

พยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการส่งมอบงานล่าช้าเพราะความผิดของโจทก์ และโจทก์ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ว่าจ้างหรือไม่ เป็นจํานวนแน่นอนเท่าใด เข้าลักษณะโจทก์นําค่าเสียหายที่ยังไม่แน่นอนไปหักจากค่าจ้างที่โจทก์ควรได้รับ การตกลงดังกล่าวไม่เข้าลักษณะส่วนลด หรือค่าลดหย่อนที่โจทก์ลดให้แก่ผู้ว่าจ้างในขณะให้บริการโดยได้แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่ามีกํารหักส่วนลด หรือค่าลดหย่อนไว้ในใบกํากับภาษีในแต่ละครั้งที่ออกแล้ว ซึ่งไม่ต้องรวมเป็นฐานภาษีตามมาตรา 79 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น มูลค่าของฐานภาษีที่โจทก์ต้องนํามารวมคํานวณภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือประโยชน์ใด ๆ ซึ่งอาจคิดคํานวณเป็นเงินจากค่าก่อสร้างทั้งหมด

ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2552 โดยความรับผิดในการชําระภาษีเกิดขึ้นเมื่อโจทก์จําหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ โจทก์ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 15 มกราคม 2553 กําหนดระยะเวลาในการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2553 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ยังอยู่ภายในกําหนดสิบปีนับแต่วันสุดท้ายของกําหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี ตามมาตรา 88/6 (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงยังไม่เกินกําหนดระยะเวลาสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกําหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5255/2560

ประมวลรัษฎากรมาตรา 81 บัญญัติว่า “ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการประกอบ กิจการประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้ (1) (ฐ) การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน มาตรา 575 บัญญัติว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” ในกรณีที่ลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณละทิ้งการงานไป กระทำความผิดอย่างร้ายแรงหรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต นายจ้างก็มีสิทธิที่จะไล่ออกโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้ค่าสินไหมทดแทนก็ได้ ตามมาตรา 583 นอกจากนี้ ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ซึ่งนายจ้างได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างออกเงินค่าเดินทางให้ เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลง และถ้ามิได้กาหนดกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา มาตรา 586 ก็บัญญัติให้นายจ้างจำต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้ บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานนั้น นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้างโดยตรง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากกรรมการโจทก์ว่าโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดเป็นคนกลางระหว่างผู้ว่าจ้างกับคนงาน โดยติดต่อ ประสานงาน เป็นตัวแทนรับค่าจ้างมาจ่ายให้กับคนงาน ประสานงานกับเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน และดูแลผลประโยชน์คนงานกับผู้ว่าจ้าง โดยโจทก์มิได้มีหน้าที่เป็นลูกจ้างที่ใช้แรงงานทำงานให้ผู้ว่าจ้าง และต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้างการให้บริการดังกล่าวของโจทก์จึงมิใช่การให้บริการตาม สัญญาจ้างแรงงานที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรมาตรา 81 (1) (ฐ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9687/2559

เมื่อขั้นตอนเกี่ยวกับการรักษา โจทก์มีการติดต่อกับผู้ป่วยโดยตรง การรักษาทําโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะจากคณะกรรมการวิชาชีพ ถือได้ว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมของโจทก์เป็นการรักษาผู้ป่วยไตวายอันเป็นการประกอบโรคศิลปะ โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการการให้บริการการประกอบโรคศิลปะ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5230/2559

สัญญาจ้างดูแลสวนยางระหว่างโจทก์กับบริษัท แพนไบโอเทค จำกัด กำหนดว่าผู้ว่างจ้างตก ลงจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง ซึ่งตามบัญชีการทำงานแนบท้ายสัญญามีข้อความว่า ระยะปลูก 76 ต้นต่อไร่ พื้นที่ 1,000 ไร่ และมีหมายเหตุต่อท้ายด้วยว่า หากผู้ว่าจ้างจัดทำพันธุ์ยางได้ไม่ครบจำนวนทันเวลา ผู้รับจ้างสงวนสิทธิในการจัดหาพันธุ์ยางเองในราคาต้นละ 15 บาท แสดงว่าสัญญาจ้างดูแลสวนยางระหว่างโจทก์กับ บริษัท แพนไบโอเทค จำกัด มีรายละเอียดมุ่งถึงผลสำเร็จของการปลูกต้นยางตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาตามช่วงเวลาจนเสร็จเป็นสำคัญ ทั้งตามสัญญาฉบับดังกล่าวยังกำหนดให้โจทก์ดำเนินการปลูกยางพารา ปราบวัชพืช ใส่ปุ๋ยบำรุงดิน ตัดแต่งกิ่งต้นยาง ทาปูนขาวต้นยางป้องกันแดดเผา ทำการป้องกันไฟฤดูแล้ง โดยโจทก์ ตกลงเป็นผู้จัดหาสัมภาระ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องจักร ปุ๋ยบำรุง ยาปราบศัตรูพืช และวัสดุอื่นๆที่ใช้ในการบำรุงดูแลรักษาสวนยาง รวมถึงจะเป็นผู้จัดหาคนงาน และจะดูแลรักษาสวนยางตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยยาง จะเห็นได้ว่าการดำเนินการตามสัญญาของโจทก์เป็นการดำเนินการโดยการบริหารจัดการของโจทก์เอง โดยไม่มีสัญญาข้อใดระบุว่าโจทก์ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของบริษัท แพนไบโอเทค จำกัด ซึ่งอำนาจควบคุมบังคับบัญชาลูกจ้างเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบริษัท แพนไบ โอเทค จำกัด จึงหาใช่เป็นสัญญาจ้างแรงงานไม่ แต่เป็นการให้บริการซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3602/2558

โจทก์นำใบกำกับภาษีพิพาททั้งสามฉบับที่ออกโดย บริษัท อาร์.ที.พี. วอเตอร์เทค จำกัด ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีมาใช้คำนวณหักภาษีมูลค่าเพิ่มโดยโจทก์สั่งซื้อสินค้าเป็นมูลค่าหลายล้านบาทโดยไม่รู้จักกับผู้ขายอันเป็นการผิดวิสัยและประเพณีทางการค้าขาย ทั้งใบกำกับภาษีซื้อที่ออกโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 82/5 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ที่โจทก์นำมาใช้ในการคำนวณหักออกจากภาษีขายในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี ส่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีพฤติการณ์ไม่สุจริต จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2555

ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มได้ระบุว่าเจ้าพนักงานของจําเลยได้แจ้งการประเมิน ภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับโดยอาศัยอํานาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88, 88/2, 88/5 และ 89(4) อันเป็นการระบุถึงข้อกฎหมายที่อ้างอิงแล้ว ทั้งในใบแนบหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มยังระบุว่า ในเดือนที่ตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่ม เรือเดินทะเลของโจทก์ให้บริการนอกราชอาณาจักรซึ่งฐานภาษีไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อที่โจทก์แสดงไว้ในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.พ.30) เป็นภาษีซื้อที่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5(3) อันเป็นการระบุถึงข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสําคัญ ทั้งข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนการใช้ดุลพินิจในการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับสําหรับเดือนภาษีพิพาทแล้ว ถือว่า หนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวเป็นคําสั่งทางปกครองที่จัดให้มีเหตุผลชอบด้วย พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง 

กิจการในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้าจากในราชอาณาจักรออกไปนอกราชอาณาจักร และในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้าจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรถือเป็นกิจการที่บางส่วนได้ทําหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร จึงอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่กิจการในส่วนการขนส่งสินค้านอกราชอาณาจักรจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งเป็นการรับขนสินค้านอกราชอาณาจักรทั้งสิ้น แม้มีการทําธุรกรรมประสานงานหรือติดต่อลูกค้าในราชอาณาจักร แต่ลักษณะสําคัญของการให้บริการโดยตรงคือ การให้บริการรับขนสินค้า จึงถือว่าเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนใดได้ทําหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/2 ภาษีซื้อในส่วนนี้ย่อมไม่อาจนํามาหักในการคํานวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากเป็นภาษีซื้อต้องห้ามที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบกิจการภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5(3) การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเหตุให้จํานวนภาษีซื้อในเดือนภาษีพิพาทที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป จึง 

ต้องรับผิดชําระเบี้ยปรับตามกฎหมาย การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคําวินิจฉัยให้โจทก์ชําระเบี้ยปรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(4) จึงชอบแล้ว 

ภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8673/2560

ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2550 โจทก์มีเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์มีเงินต้นถึง 3,356,945.757 บาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมร้อยละ 2.75 และวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการโจทก์ ทั้งโจทก์ก็ยังอยู่ในสถานะที่มีหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงินที่ควรนำเงินที่มีไปชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สถาบันการเงิน แต่กลับนำมาให้บริษัททั้งสามกู้โดยไม่มีหลักประกันและในที่สุดก็ไม่ได้รับชำระหนี้จึงมิใช่วิสัยของผู้ให้กู้ยืมโดยทั่วไป ดังนั้น เมื่อโจทก์ยังมีหนี้สินที่ต้องชำระจานวนมาก โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่สมควร จะให้ผู้อื่นกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย เมื่อโจทก์ให้บริษัททั้งสามกู้ยืมเงินโดยไม่มีเจตนาที่จะเรียกดอกเบี้ยกันจริง การที่โจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากบริษัททั้งสามจึงไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะโดยกำหนดดอกเบี้ยตามราคาตลาดในวันให้กู้ยืมเงินได้ตามมาตรา 91/16(6) แห่งประมวลรัษฎากร

โจทก์ให้บริษัททั้งสามกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยโดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่นำส่งภาษีธุรกิจเฉพาะมาเป็นเวลานาน ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี กรณียังไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6693/2559 (ประชุมใหญ่) 

การที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลโอนที่ดินให้กรุงเทพฯตามพระราชบัญญัติเวนคืนฯ ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 91/1 (4) แต่ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากที่ดินและอาคารที่พิพาทไม่ได้มีไว้เพื่อขาย แต่มีไว้เพื่อประกอบกิจการเป็นที่ตั้งอาคารสำนักงานของโจทก์ ประกอบกับการที่โจทก์ต้องโอนทรัพย์ก็เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาออกมากำหนดให้ที่ดินที่โอนนั้นอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ซึ่งหากโจทก์ไม่ตกลงกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องถูกเวนคืน ดังนั้น การที่โจทก์ยอมตกลงโอนที่ดินภายใต้สภาพบังคับเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ จึงไม่ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 91/2 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1485/2559

การที่โจทก์นำที่ดินที่แบ่งแยกโดยได้จัดทำถนนและสิ่งสาธารณูปโภคไว้ไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่บุคคลธรรมดาในปี 2538 ปี 2539 ปี 2541 และปี 2545 รวม 17 แปลง จดทะเบียนโอนขายให้แก่ เทศบาลตำบลสว่างแดนดินในปี 2545 และ ปี 2546 รวม 20 แปลง และทำสัญญาให้ที่ดินแก่บุตรชอบด้วยกฎหมายถือกรรมสิทธิ์รวมกัน 49 แปลง หลังจากที่โจทก์ได้แบ่งขายหรือมีการแบ่งแยกไว้เพื่อขายโดยได้จัดทำถนนหรือสิ่งสาธารณูปโภคอื่น จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม มาตรา 91/2 (6) ประกอบมาตรา 3 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขาย อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 และมาตรา 4 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2553/2544

อสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ในการประกอบกิจการ หมายถึง อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบกิจการ และที่มีไว้เพื่อใช้ในการประกอบกิจการ แม้ยังไม่ได้นำมาใช้ในการประกอบกิจการก็ตาม โจทก์เป็นนิติบุคคลมีที่ดินไว้เพื่อพัฒนาเป็นวิทยาเขตแห่งใหม่ ซึ่งเป็นกิจการที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของโจทก์ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการ เมื่อโจทก์ขายที่ดินแปลงดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 91/2 (6)

การอุทธรณ์คดีภาษีอากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8103/2560

จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เมื่อจำเลยไม่ได้กล่าวอ้าง ประเด็นดังกล่าวไว้ในคำให้การ ถือว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์

เมื่อจำเลยได้รับแจ้งการประเมินอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและ ภาษีอื่น ๆ ในวันที่ 30 สิงหาคม 2556 หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับการประเมินไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน เมื่อจำเลยไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ แสดงว่าจำเลยไม่ติดใจโต้แย้งการประเมินนั้น อันมีผลให้การประเมินของเจ้าพนักงานเป็นอันยุติ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางเพื่อขอให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าวและย่อมไม่มีสิทธิต่อสู้คดีว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย