Contents

ค่าลดหย่อนสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา 2562 (ยกเลิกแล้ว)

6,404 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

ค่าลดหย่อนสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด ฿15,000 สำหรับค่าซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา ระหว่าง 1 พ.ค. – 30 มิ.ย. 2562 ที่จ่ายให้ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา1

ค่าลดหย่อนสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา ฿15,000 นี้เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

ผู้ที่จ่ายเงินสำหรับซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬาให้แก่ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬาใช้เป็น ค่าลดหย่อน ได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดปีละไม่เกิน ฿15,000 (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)

ทั้งนี้ ถ้ามีค่าซื้อสินค้าหลายรายการ คุณสามารถรวมค่าซื้อสินค้าย่อยๆ ทุกจำนวนมาหักลดหย่อนได้แต่เมื่อรวมแล้วจะนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน ฿15,000

ถ้าค่าซื้อสินค้าแค่รายการเดียวก็เกิน ฿15,000 แล้ว จะสามารถนำไปลดหย่อนได้ ฿15,000

อนึ่ง ถ้าซื้อสินค้าอุปกรณ์กีฬามูลค่า 10,000 บาท และซื้อสินค้าอุปกรณ์การศึกษาที่เป็นหนังสือมูลค่า 7,000 บาท จะได้สิทธิสำหรับอุปกรณ์กีฬา 10,000 บาท และอุปกรณ์การศึกษาที่เป็นหนังสือ 5,000 บาทเท่านั้น เพราะชนเพดานสิทธิลดหย่อนสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา 15,000 บาท ค่าซื้อหนังสือส่วนที่เหลืออีก 2,000 บาท (ซึ่งเป็นส่วนที่เกินสิทธิลดหย่อน 15,000 ของค่าลดหย่อนสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา) สามารถเอาใช้ลดหย่อนในช่อง ค่าลดหย่อนหนังสือและ e-book แทนได้ ทำให้ช่องนี้เราจะกรอกสิทธิส่วนเกินมาได้ 2,000 บาท

เงื่อนไขการรับสิทธิ

คุณเองก็มีสิทธิหักลดหย่อนค่าลดหย่อนสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬาสูงสุด ฿15,000 ได้ถ้าเป็นการซื้อสินค้าที่เกิดขึ้นระหว่าง 1 พ.ค. – 30 มิ.ย. 2562 จากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้ว

สินค้าที่ลดหย่อนภาษีได้

สินค้าที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้2

  • อุปกรณ์การศึกษา (แต่ไม่รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) หมายถึง อุปกรณ์รวมทั้งสิ่งประกอบของอุปกรณ์ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้งานสำหรับการศึกษา เช่น อุปกรณ์เครื่องเขียน เป็นต้น
  • เครื่องแต่งกายสำหรับการศึกษา หมายถึง เครื่องแต่งกายรวมทั้งสิ่งประกอบของเครื่องแต่งกายซึ่งถูกกำหนดให้ใช้แต่งเป็นเครื่องแบบสำหรับการศึกษา เช่น ชุดนักเรียก ชุดนักศึกษา เป็นต้น
  • อุปกรณ์กีฬา หมายถึง อุปกรณ์รวมทั้งสิ่งประกอบของอุปกรณ์ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย เช่น ลูกบอล ไม้เทนนิส เป็นต้น แต่ไม่รวมถึงอุปกรณ์สำหรับกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (E-Sports)
  • เครื่องแต่งกายสำหรับการเล่นกีฬา หมายถึง เครื่องแต่งกายรวมทั้งสิ่งประกอบของเครื่องแต่งกายซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้แต่งกายสำหรับการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย เช่น เสื้อ กางเกง รองเท้า เป็นต้น

สินค้าที่ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

สินค้าที่ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ คือ อุปกรณ์การศึกษาที่เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ
คอมพิวเตอร์ printer โทรทัศน์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ กล้องถ่ายรูป ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของกล้องถ่ายรูป หรือเครื่องเล่นแผ่นซีดีหรือแผ่นดีวีดี3

หลักฐานที่ต้องใช้

1. ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป/ใบเสร็จรับเงิน ที่ระบุรายการสินค้า, ข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของคุณ รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงินด้วย4

2. ใบเสร็จรับเงินที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ (กรณีซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่ได้จด VAT)

หากคุณซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ใบเสร็จรับเงินต้องมีข้อความครบถ้วนตามนี้

  • เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
  • ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขาย
  • เลขลำดับของเล่มและใบเสร็จรับเงิน
  • วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน
  • ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ
  • ชนิด ชื่อ จำนวน และราคาสินค้าที่ซื้อ
  • จำนวนเงิน

เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย

  • หลายคนเข้าใจผิดว่าค่าลดหย่อนสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬาสามารถขอรับเป็นเงินสดคืนได้ที่ร้านค้าเลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะการขอใช้สิทธิลดหย่อนช้อปปิ้งจะต้องทำโดยการ ยื่นภาษีประจำปี 2562 ให้ กรมสรรพากรในช่วงต้นปี 2563 ได้เพียงวิธีเดียวเท่านั้น
  • หลายคนเข้าใจผิดว่าค่าลดหย่อนสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา ฿15,000 คือเงินคืนภาษีจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม7% (VAT 7% Refund) ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะค่าลดหย่อนช้อปปิ้ง ฿15,000 นี้เป็นสิทธิที่นำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • ถ้าคุณมีรายได้เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน ฿25,833.33 (หรือเงินได้สุทธิทั้งปีไม่เกิน ฿150,000) คุณไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวเพื่อขอใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปก็ได้ เพราะคุณอยู่ในเกณฑ์ได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว ต่อให้ใช้สิทธิลดหย่อนสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬาก็ไม่ช่วยให้ประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น
  • ถ้ามีคุณมีคู่สมรสที่ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ คุณทั้งคู่ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬาได้สูงสุดคนละ ฿15,000 (รวม 2 คนได้สิทธิ ฿30,000) ไม่ว่าจะแยกยื่นภาษีหรือยื่นภาษีร่วมกันก็ตาม
  • ถ้าในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีเดียวกันมีรายการทั้งสินค้าที่เข้าเกณฑ์และไม่เข้าเกณฑ์ลดหย่อน คุณจะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเฉพาะค่าสินค้าเข้าเกณฑ์ลดหย่อนเท่านั้น
  • หลายคนเข้าใจผิดว่าค่าลดหย่อนช้อปปิ้ง ฿15,000 คือเงินคืนภาษีจากรัฐ ฿15,000 เลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะได้เงินคืนภาษีเพิ่มมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวน เงินได้ และ อัตราภาษี ของแต่ละคนด้วย
เงินได้สุทธิ อัตราภาษี สิทธิได้เงินคืนภาษีสูงสุด
≤฿150,000 ยกเว้น ฿0
>฿150,000 – ฿300,000 5% ฿750
>฿300,000 – ฿500,000 10% ฿1,500
>฿500,000 – ฿750,000 15% ฿2,250
>฿750,000 – ฿1,000,000 20% ฿3,000
>฿1,000,000 – ฿2,000,000 25% ฿3,750
>฿2,000,000 – ฿5,000,000 30% ฿4,500
>฿5,000,000 35% ฿5,250 หรือมากกว่า

เช็กสิทธิประโยชน์ เงื่อนไขการรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีแล้ว อย่าลืมคำนวณเงินที่จะใช้เพื่อการช้อปปิ้งและเงินที่จะได้จากการลดหย่อนภาษีให้ดี หรือหากคุณรู้สึกว่า มาตรการสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการลดหย่อนภาษีของคุณ คุณสามารถค้นหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ iTAX shop เรามีแผนลดหย่อนภาษีดีๆ ที่จะทำให้คุณประหยัดภาษีได้เพิ่มมากขึ้น อยากรู้ว่าเลือกลดหย่อนภาษีผ่าน iTAX shop ช่วยประหยัดภาษีได้มากกว่ายังไง คลิกเลย!

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง

  1. ^

    กฎกระทรวง ฉบับที่ 345 (พ.ศ. 2562)

  2. ^

    ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 347)

  3. ^

    ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 347)

  4. ^

    ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 347)