Contents

ค่าลดหย่อนบิดามารดา

274,496 views

โดย ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

ค่าลดหย่อนบิดามารดา ใช้เป็นค่าลดหย่อนแบบเหมาต่อพ่อหรือแม่หนึ่งคนได้ คนละ ฿30,000 ต่อปี สำหรับคนที่เลี้ยงดูพ่อแม่เอง1 และแม้พ่อแม่จะเสียชีวิตระหว่างปีก็ยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีสำหรับ ปีภาษี ที่เสียชีวิตได้อยู่

ค่าลดหย่อนบิดามารดาเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


วิธีกรอกค่าลดหย่อนบิดามารดาบนแอป iTAX

แอป iTAX รองรับการคำนวณค่าลดหย่อนบิดามารดา ทั้งบิดามารดาของตัวเองและของคู่สมรส

การใช้สิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดา

หากคุณต้องการใช้สิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดา สามารถนำมาคำนวณบนแอป iTAX ได้ดังนี้

  1. ในหน้าแรก (Home) กดที่ »  ค่าลดหย่อน
  2. เลือก ‘ค่าลดหย่อน – พ่อ’ หรือ ‘ค่าลดหย่อน – แม่’
  3. กรอก วัน เดือน ปีเกิด
  4. ตอบคำถามเกี่ยวกับสถานะพิการ/ทุพพลภาพ
  5. กด Done

แอปจะพากลับไปที่หน้า Home และแสดงผลการคำนวณภาษีหลังใช้สิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดาแล้วให้อัตโนมัติ

การใช้สิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดาของคู่สมรส

หากคุณต้องการใช้สิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดาของคู่สมรส สามารถนำมาคำนวณบนแอป iTAX ได้ดังนี้

  1. ในหน้าแรก (Home) กดที่ »  ค่าลดหย่อน
  2. เลือก ‘ค่าลดหย่อน – พ่อของคู่สมรส’ หรือ ‘ค่าลดหย่อน – แม่ของคู่สมรส’
  3. กรอก วัน เดือน ปีเกิด
  4. ตอบคำถามเกี่ยวกับสถานะพิการ/ทุพพลภาพ
  5. กด Done

แอปจะพากลับไปที่หน้า Home และแสดงผลการคำนวณภาษีหลังใช้สิทธิค่าลดหย่อนบิดามารดาของคู่สมรสแล้วให้อัตโนมัติ

หมายเหตุ: ผู้มีสิทธิรับค่าลดหย่อนบิดามารดาของคู่สมรส จำกัดเฉพาะผู้ที่ได้รับสิทธิค่าลดหย่อนคู่สมรสแล้วเท่านั้น


สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

คนที่ดูแลพ่อแม่เอง สามารถรับสิทธิ ‘ค่าลดหย่อนบิดามารดา’ โดยนำพ่อแม่ไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้แบบเหมาคนละ ฿30,000 ต่อปี สามารถหักลดหย่อนพ่อแม่ได้สูงสุด 4 คน

ทั้งนี้ การใช้สิทธิ์ ค่าลดหย่อนบิดามารดา จะดูเป็นรายปีภาษีไป เช่น หากปีที่แล้วน้องของคุณเป็นผู้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนคุณพ่อ ปีถัดไปก็สามารถเปลี่ยนมาเป็นตัวคุณเองขอเป็นผู้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนคุณพ่อแทนก็สามารถทำได้เพราะเป็นคนละปีภาษีกัน

นอกจากนี้ แม้พ่อแม่จะเสียชีวิตระหว่างปีก็ยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีสำหรับ ปีภาษี ที่เสียชีวิตได้อยู่

เงื่อนไขการรับสิทธิ

เงื่อนไขการรับสิทธิลดหย่อนบิดามารดามีแนวทางดังนี้2

พ่อแม่เรา

เราจะสามารถนำพ่อแม่เรามาหักลดหย่อนได้ ถ้าเข้าครบเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้

  • เราเป็นลูกแท้ๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมายของพ่อแม่ (ลูกบุญธรรมไม่มีสิทธิหักลดหย่อน)
  • พ่อแม่ต้องอายุอย่างน้อยครบ 60 ปีแล้ว ในปีภาษีนั้น (ถ้าอายุเพิ่งครบ 60 ปีในปีที่ยื่นภาษีจะไม่เข้าเงื่อนไข ตัวอย่างเช่น จะยื่นภาษีประจำปีภาษี 2564 ช่วงต้นปี 2565 แม้คุณแม่จะอายุครบ 60 ปีช่วงต้นปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงยื่นภาษีประจำปี 2564 ก็ไม่อยู่ในเกณฑ์สิทธิลดหย่อนได้เนื่องจากต้องอายุครบ 60 ปีเมื่อปี 2564 เท่านั้น)
  • พ่อแม่อยู่ในความดูแลของเราเอง
  • พ่อแม่มีรายได้ทั้งที่ต้องเสียภาษีและได้รับยกเว้นภาษีรวมกันตลอดทั้งปีภาษีไม่เกิน ฿30,000 (฿30,000 พอดียังไม่ผิดเงื่อนไข)
  • อย่างน้อยต้องมีเราหรือพ่อแม่เราคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น

การใช้สิทธิหักลดหย่อนพ่อแม่จะต้องตกลงกันระหว่างพี่น้องให้ดี เพราะพ่อหรือแม่ 1 คนเท่ากับ 1 สิทธิ์เท่านั้นและแบ่งไม่ได้

ถ้ามีการใช้สิทธิ์ซ้ำซ้อนกันจะไม่มีใครได้สิทธิ์หักลดหย่อนเลย เช่น ถ้าเรามีพี่น้อง และมีพ่อเพียงคนเดียวที่สามารถใช้หักลดหย่อนได้ ก็ต้องตกลงกันให้ดีว่าปีนี้จะให้ใครใช้สิทธิ์หักลดหย่อนพ่อกันแน่

รายได้ของพ่อแม่ที่ต้องดูว่าเกิน ฿30,000 หรือไม่ ได้แก่ เงินบำนาญข้าราชการ เงินที่จ่ายจากประกันสังคม รายได้จากการเล่นหุ้น และรายได้อื่นๆ ทุกทางไม่ว่าจะได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ก็ตาม

พ่อแม่ของคู่สมรส

เราจะสามารถนำพ่อแม่ของคู่สมรสมาหักลดหย่อนได้ ถ้าเข้าครบเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้

  • คู่สมรสเป็นลูกแท้ๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมายของพ่อแม่ (ลูกบุญธรรมไม่มีสิทธิหักลดหย่อน)
  • พ่อแม่ต้องอายุอย่างน้อยครบ 60 ปีแล้ว ในปีภาษีนั้น (ถ้าอายุเพิ่งครบ 60 ปีในปีที่ยื่นภาษีจะไม่เข้าเงื่อนไข ตัวอย่างเช่น คุณแม่จะอายุครบ 60 ปีช่วงต้นปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงยื่นภาษีประจำปี 2565 ก็ไม่อยู่ในเกณฑ์สิทธิลดหย่อนสำหรับปีภาษี 2565 ได้เนื่องจากต้องอายุครบ 60 ปีเมื่อปี 2565 เท่านั้น)
  • พ่อแม่อยู่ในความดูแลของเราเอง
  • พ่อแม่มีรายได้ทั้งที่ต้องเสียภาษีและได้รับยกเว้นภาษีรวมกันตลอดทั้งปีภาษีไม่เกิน ฿30,000 (฿30,000 พอดียังไม่ผิดเงื่อนไข)
  • อย่างน้อยต้องมีเราหรือพ่อแม่เราคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น
  • คู่สมรสไม่มีรายได้เลยตลอดปีภาษีนั้น

การใช้สิทธิหักลดหย่อนพ่อแม่ของคู่สมรสจะต้องตกลงกันระหว่างพี่น้องคู่สมรสให้ดี เพราะพ่อหรือแม่ 1 คนเท่ากับ 1 สิทธิ์เท่านั้นและแบ่งไม่ได้

ถ้ามีการใช้สิทธิ์ซ้ำซ้อนกันจะไม่มีใครได้สิทธิ์หักลดหย่อนเลย เช่น ถ้าคู่สมรสเรามีพี่น้อง และมีพ่อเพียงคนเดียวที่สามารถใช้หักลดหย่อนได้ ก็ต้องตกลงกันให้ดีว่าปีนี้จะให้ใครใช้สิทธิ์หักลดหย่อนพ่อกันแน่

รายได้ของพ่อแม่ของคู่สมรสที่ต้องดูว่าเกิน ฿30,000 หรือไม่ ได้แก่ เงินบำนาญข้าราชการ เงินที่จ่ายจากประกันสังคม รายได้จากการเล่นหุ้น และรายได้อื่นๆ ทุกทางโดยไม่ว่าจะได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ก็ตาม3

คำถามที่พบบ่อย4

Q. สามีมีเงินได้ แต่ภริยาไม่มีเงินได้ สามีได้นำภริยามาหักค่าลดหย่อน ฿60,000 ในฐานะคู่สมรส บุตรมีเงินได้ได้นำมารดามาหักค่าลดหย่อนอีก ฿30,000 กรณีนี้ทั้งสามีและบุตรจะสามารถนำมาหักค่าลดหย่อนในฐานะคู่สมรสและฐานะมารดาพร้อมกันได้หรือไม่?

A : สามีสามารถหักลดหย่อนภริยาได้ ฿60,000 ในฐานะคู่สมรสของผู้มีเงินได้ และบุตรสามารถหักลดหย่อนมารดาได้อีก ฿30,000 ในฐานะมารดาของผู้มีเงินได้

Q. บิดามารดาถึงแก่ความตายในระหว่างปีภาษีหรือก่อนการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 บุตรจะใช้สิทธิหักลดหย่อนบิดามารดาได้หรือไม่?

A : ได้ แต่ให้บุตรเพียงคนใดคนหนึ่งใช้สิทธิหักลดหย่อนได้โดยแนบ แบบ ล.ย.03 พร้อมสำเนาใบมรณะบัตร พร้อมกับการยื่นแบบฯ

Q. บิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวไม่มีบัตรประชาชน จะใช้ลดหย่อนได้อยู่ไหม?

A : ได้ การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดาหรือมารดาที่เป็นคนต่างด้าว หากเข้าหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136) และได้ขอมีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรประกอบแบบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03) ใช้เป็นหลักฐานประกอบการหักลดหย่อนได้

Q. ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานบริษัทในไทยเกิน 180 วัน มีเงินได้ประเภทเงินเดือน ภริยา บุตร บุพการี อยู่ต่างประเทศไม่มีเงินได้ บุตรเรียนหนังสือที่ต่างประเทศและบุพการีอายุเกิน 60 ปี มีสิทธิหักลดหย่อนภริยา บุตร และบุพการี ได้หรือไม่?

A. ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยเกิน 180 วัน ถือว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในไทย สามารถหักลดหย่อนภริยาได้ ไม่ว่าภริยาจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศ โดยหักลดหย่อนภริยาได้จำนวน ฿60,000 และสามารถหักลดหย่อนบุตรได้ ไม่ว่าบุตรจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศโดยหักลดหย่อนบุตรได้อีกคนละ ฿30,000

ส่วนค่าลดหย่อนบิดามารดาของผู้มีเงินได้ชาวต่างชาติจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 136) โดยบิดามารดาจะต้องมีเลขประจำตัวประชาชน ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ประกอบแบบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03) ด้วย หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็ไม่สามารถหักลดหย่อนบิดามารดาได้

Q. มารดาเป็นข้าราชการบำนาญ แต่บิดาไม่มีเงินได้ บุตรสามารถนำบิดามาหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูได้หรือไม่?

A. บุตรสามารถนำบิดามาหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูได้จำนวน ฿30,000 เนื่องจากบิดาไม่มีเงินได้พึงประเมิน

Q. บุตรบุญธรรมสามารถนำบิดามารดาผู้รับเป็นบุตรบุญธรรมมาหักลดหย่อนได้หรือไม่?

A. บุตรบุญธรรมไม่สามารถนำบิดามารดาซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมมาหักลดหย่อนได้ เพราะการหักค่าลดหย่อนในกรณีนี้ผู้มีเงินได้ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดาที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูเท่านั้น (ไม่รวมบุตรบุญธรรม)​ ​

Q. สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ทั้ง 2 คนและตัดสินใจแยกยื่นภาษีกัน (ความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษี) แต่เนื่องจากภริยามีเงินได้น้อยกว่า สามีจะสามารถนำบิดามารดาของภริยามาหักลดหย่อนในช่องการคำนวณของสามีได้หรือไม่?

A. หากสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และภริยาใช้สิทธิแยกคำนวณภาษีเงินได้โดยแยกยื่นแบบแสดงรายการ กรณีสามีภริยามีเงินได้ทั้งสองฝ่าย ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนได้คนละ ฿30,000 สามีจึงไม่สามารถหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของภริยา

Q. สามีไม่มีเงินได้แต่ได้หย่ากับภริยาแล้ว แต่ปัจจุบันภริยายังต้องเลี้ยงดูมารดาของอดีตสามี กรณีนี้ภริยาจะลดหย่อนได้หรือไม่อย่างไร?

A. ในปีที่หย่าหรือเสียชีวิต ภริยายังสามารถหักลดหย่อนมารดาได้ ฿30,000 แต่ในปีต่อไป ความเป็นสามีภริยาจะสิ้นสุดลงด้วยการหย่า ดังนั้น ปีต่อไปภริยาจึงไม่มีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของอดีตสามีได้​

Q. การหักลดหย่อนสำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา บิดามารดาต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันหรือไม่?

A. การหักลดหย่อนบิดามารดาไม่ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันกับผู้มีเงินได้ หากเข้าหลักเกณฑ์ก็สามารถหักลดหย่อนได้

Q. การหักลดหย่อนสำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา หากปีภาษีก่อนใช้สิทธิลดหย่อนบิดา ถ้าในปีต่อไปจะเปลี่ยนมาใช้สิทธิมารดาโดยให้พี่หรือน้องใช้สิทธิลดหย่อนบิดาได้หรือไม่?

A. การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ผู้มีเงินได้ที่เป็นบุตรสามารถตกลงกันเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนในแต่ละปีภาษีอย่างไรก็ได้

เรื่องที่มักเข้าใจผิดกันบ่อย

  • ในบางกรณีเราอาจเข้าใจผิดว่าพ่อแม่เราไม่ได้ออกไปทำงานแล้วจึงไม่มีรายได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วพ่อแม่อาจจะมีรายได้ทางอื่นก็ได้ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากจากบัญชีธนาคาร, เงินบำนาญ หรือแม้แต่กำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น ถ้าเราใช้สิทธิหักลดหย่อนบิดามารดาทั้งที่พ่อแม่มีรายได้ทางอื่นตลอดปีเกิน ฿30,000 แล้ว จะผิดเงื่อนไขและอาจทำให้เราถูกปรับเงินได้
  • บางคนเข้าใจผิดว่าถ้าพ่อแม่อายุครบ 60 ปีในวันที่เรายื่นภาษีประจำปีจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการยื่นภาษีโดยปกติจะดูจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วซึ่งเป็นคนละปีกับปีที่ยื่นภาษี ดังนั้น พ่อแม่อยู่ในเกณฑ์ลดหย่อนได้หรือไม่จึงดูอายุของพ่อแม่ใน ปีภาษี นั้นๆ ไม่ใช่ปีที่ยื่นภาษีแต่อย่างใด

หากคุณต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีบิดา – มารดา อย่าลืมเช็กสิทธิ์และเงื่อนไขต่างๆ ให้ครบถ้วน และหากคุณต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีอื่นๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น แผนประกันชีวิตลดหย่อนภาษี ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี และ กองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ค้นหาตัวช่วยลดหย่อนภาษี พร้อมรับคำปรึกษาจากตัวแทนมืออาชีพฟรี!! ที่ iTAX shop


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 47(1)(ญ) ประมวลรัษฎากร

  2. ^

    ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 136)

  3. ^

    ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 136)

  4. ^

    ร้อยเรื่องลดหย่อน ปีภาษี 2560 ศูนย์สารสนเทศสรรพากร www.rd.go.th