Contents

ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

72,822 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

ค่าลดหย่อนฝากครรภ์ ทำคลอด

ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดท้องละ ฿60,000 สำหรับค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรของตนที่จ่ายตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป1

ค่าฝากครรภ์และทำคลอดเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


วิธีกรอกค่าลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรบนแอป iTAX

หากคุณต้องการใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร สามารถนำมาคำนวณบนแอป iTAX ได้ดังนี้

  1. ในหน้าแรก (Home) กดที่ »  ค่าลดหย่อน
  2. เลือก ‘ค่าฝากครรภ์ & ทำคลอด’
  3. เลือก ‘รับทราบฯ’ » กด ‘ยินยอม’
  4. กรอกจำนวนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ที่จ่ายตลอดทั้งปี
  5. กด Done

แอปจะพากลับไปที่หน้า Home และแสดงผลการคำนวณภาษีหลังใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรแล้วให้อัตโนมัติ


สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมีลูกสามารถนำค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรของตนไปใช้เป็น ค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดไม่เกินท้องละ ฿60,000 ทั้งนี้ คุณอาจจะมีลูกมากกว่า 1 ท้องต่อปีก็ได้ แต่การตั้งครรภ์ลูกแฝดจะยังนับว่าเป็นท้องเดียวอยู่ดี

ถ้าค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรเกิดขึ้นคนละปีกัน ก็ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละ ปีภาษี แต่ท้องนั้นจะลดหย่อนรวมกันได้สูงสุดไม่เกิน ฿60,000

เงื่อนไขการรับสิทธิ

  • กรณีทั่วไป

ในกรณีที่สามีภริยายื่นภาษีรวมกัน ให้คนที่ยื่นภาษีหลักเป็นคนได้ใช้สิทธินี้ แต่ถ้าสามีภริยาต่างฝ่ายต่างยื่นภาษี คนที่ใช้สิทธิลดหย่อนนี้ได้มีเพียง ภริยา คนเดียวเท่านั้น2

เช่น ถ้าคุณจ่ายค่าฝากครรภ์และทำคลอดไป ฿50,000 แต่ภริยาของคุณแยกยื่นภาษีกับคุณ จะมีเพียงภริยาของคุณเท่านั้นที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ฿50,000

  • กรณีตั้งครรภ์หลายครั้งในปีเดียวกัน

ในกรณีที่มีท้องสองครั้งในปีเดียวกัน แต่ละท้องจะได้สิทธิลดหย่อนแยกกันท้องละไม่เกิน ฿60,0003

เช่น ถ้าคุณจ่ายค่าทำคลอดสำหรับท้องแรกไป ฿50,000 และในปีเดียวกันคุณก็จ่ายค่าฝากครรภ์สำหรับท้องที่สองด้วยอีก ฿50,000 คุณจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ฿50,000 สำหรับท้องแรก และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอีก ฿50,000 สำหรับท้องที่สอง เพราะกฎหมายให้สิทธิแยกเป็นคราวตามการตั้งครรภ์

  • กรณีตั้งครรภ์และทำคลอดคนละปี

ถ้าเป็นกรณีที่ท้องข้ามปี ค่าใช้จ่ายของท้องนั้นยังสามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนในปีถัดไปได้อยู่ถ้ารวมกับค่าใช้จ่ายของท้องนี้ในปีที่ผ่านมาแล้วยังไม่เกิน ฿60,0004

เช่น ถ้าปีนี้คุณจ่ายค่าฝากครรภ์สำหรับท้องนี้ไป ฿20,000 แล้วปีถัดมาคุณได้จ่ายค่าทำคลอดสำหรับท้องเดิมอีก ฿40,000 คุณจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีปีนี้ได้ ฿20,000 และปีถัดไปอีก ฿40,000 สำหรับท้องนี้ เพราะกฎหมายให้เพดานสิทธิ ฿60,000 นี้ให้กับการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง

  • กรณีเบิกสวัสดิการค่าทำคลอดได้

ถ้าคุณมีสิทธิสวัสดิการเบิกค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรได้ ไม่ว่าจะเบิกจากบัตรทอง (หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ), ประกันสังคม, สวัสดิการข้าราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หรือสิทธิสวัสดิของนายจ้าง ฯลฯ เพดานสิทธิในการหักลดหย่อนของคุณจะต้องหักออกจากเงินค่าใช้จ่ายจากสิทธิสวัสดิการที่คุณเบิกมาได้ด้วย

เช่น ถ้าคุณเบิกค่าคลอดบุตรจากประกันสังคมมาได้ ฿13,000 เพดานสิทธิลดหย่อนของคุณจะลดลงจาก ฿60,000 เหลือ ฿47,000 (เพดานสิทธิ ฿60,000 – สิทธิสวัสดิการที่เบิกได้ ฿13,000) หรือถ้าคุณเบิกค่าคลอดบุตรจากบริษัทมาได้ ฿70,000 เพดานสิทธิลดหย่อนของคุณจะลดลงเหลือ ฿05

ค่าใช้จ่ายที่นำไปลดหย่อนได้

ค่าใช้จ่ายที่คุณสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่6

  • ค่าตรวจและรับฝากครรภ์
  • ค่าบำบัดทางการแพทย์
  • ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์
  • ค่าทำคลอด และ
  • ค่ากินอยู่ในสถานพยาบาล

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายข้างต้นจะจ่ายให้สถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชนก็ได้ และแม้ว่าการตั้งครรภ์นั้นสุดท้ายจะแท้งไปก็ยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้อยู่ดี7

หลักฐานที่ต้องใช้

  • ใบเสร็จที่คุณหรือคู่สมรสจ่ายค่าฝากครรภ์และค่าทำคลอดให้สถานพยาบาล และ
  • ใบรับรองแพทย์จากแพทย์ที่ได้ตรวจและแสดงความเห็นว่ามีภาวะตั้งครรภ์

คำถามที่พบบ่อย8

Q. หากจ่ายค่าคลอดบุตรต้นปี 2561 เป็นเงิน 60,000 บาท ปลายปีจ่ายค่าฝากครรภ์บุตรคนที่ 2 อีก 60,000 บาท ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 120,000 บาทใช่หรือไม่?
  • สามารถใช้สิทธิแต่ละคราวหรือท้องละไม่เกิน 60,000 บาท ดังนั้น สามารถใช้สิทธิได้ 120,000 บาท
Q. หากจ่ายค่าฝากครรภ์ต้นปี 2561 เป็นเงิน 30,000 บาท ต่อมาแท้งบุตรต้องขูดมดลูกจำนวน 40,000 บาท สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้บุคคลธรรมดาเท่าใด?
  • ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งค่าฝากครรภ์และค่าขูดมดลูก แต่ต้องไม่เกิน 60,000 บาท
Q. หากจ่ายค่าฝากครรภ์ปลายปี 2560 เป็นเงิน 35,000 บาท และจ่ายค่าคลอดบุตรปลายปี 2561 เป็นเงิน 45,000 บาท สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้บุคคลธรรมดาในปี 2561 ได้เท่าใด?
  • ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะค่าคลอดบุตร 45,000 บาท เนื่องจากสามารถใช้สิทธิยกเว้นได้เท่าที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป
Q. หากจ่ายค่าฝากครรภ์ปี 2561 เป็นเงิน 35,000 บาท และจ่ายค่าคลอดบุตรปี 2562 เป็นเงิน 45,000 บาท สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้บุคคลธรรมดาในปี 2561 และ 2562 ได้เท่าใด?
  • ปี 2561 ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 35,000 บาท และปี 2562 จำนวน 25,000 บาท เนื่องจากในแต่ละคราวรวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท
Q. กรณีฝากครรภ์แล้วภายหลังตรวจพบว่าบุตรในครรภ์ไม่สมบูรณ์ แพทย์จำเป็นต้องนำทารกออกจากครรภ์ (ยุติการตั้งครรภ์) สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้หรือไม่?
  • ได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ไม่ว่าจะเป็นค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด และค่ากินอยู่ในสถานพยาบาล ทั้งนี้ ไม่ว่าทารกที่คลอดจะมีชีวิตรอดหรือไม่
Q. กรณีตั้งครรภ์และแท้งเอง และตั้งครรภ์ใหม่ในปีภาษีเดียวกัน ลดหย่อนได้เท่าใด?
  • ใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้ง 2 ครั้งๆ ละ ไม่เกิน 60,000 บาท ตามข้อ2(4) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331)
Q. ค่าขูดมดลูกกรณีแท้งจากครั้งก่อน ถือเป็นค่าฝากครรภ์ที่ได้รับสิทธิลดหย่อนหรือไม่?
  • ได้ ถือเป็นค่าบำบัดทางการแพทย์ ตามความหมายของค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331)
Q. กรณีต่างฝ่ายต่างมีเงินได้แยกยื่นแบบ ใบเสร็จรับเงินค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรออกมาในชื่อสามี ภริยาใช้สิทธิลดหย่อนได้หรือไม่?
  • ได้ ใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่าผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายค่าฝากครรภ์ ตามข้อ 3(2) ของประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331)
Q. กรณีตั้งครรภ์และแท้งในเดือนมีนาคม 2561 และตั้งครรภ์ใหม่ในเดือนกันยายน 2561 จะได้รับสิทธิค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรอย่างไร?
  • ได้รับสิทธิ 120,000 บาท เนื่องจากมีการตั้งครรภ์ 2 คราว ในปีภาษีเดียวกัน
Q. กรณีคลอดลูกแฝด ในเดือนกันยายน ปี 2561 จะได้รับสิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรอย่างไร?
  • ได้รับสิทธิ 60,000 บาท เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์เพียงคราวเดียว
Q. ค่าตรวจครรภ์ที่คลินิก สามารถนำมาลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ได้หรือไม่
  • หากคลินิกดังกล่าวเป็นสถานพยาบาลแบบไม่มีเตียงตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ.2541 สามารถนำมาใช้สิทธิได้
Q. กรณีการยกเว้นค่าคลอดบุตร ชาวต่างชาติได้รับสิทธิด้วยหรือไม่?
  • หากชาวต่างชาติ (มารดา) ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในไทย และบุตรมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย สามารถนำมาใช้สิทธิได้
Q. กรณีชาวต่างชาติเข้ามาในไทย ทำงานมีเงินได้และอยู่ในไทยไม่เกิน 180 วัน สามารถลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร และลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เพิ่ม ได้หรือไม่?
  • หากชาวต่างชาติ (มารดา) ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในไทย และบุตรมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย สามารถนำมาใช้สิทธิได้
Q. กรณีผู้มีเงินได้เป็นชาวต่างชาติ และภริยาเป็นคนไทยไม่มีรายได้ ชาวต่างชาติผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร และลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เพิ่ม ได้หรือไม่?
  • หากชาวต่างชาติ (บิดาผู้มีเงินได้) ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในไทย และบุตรคนที่ 2 มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย สามารถนำมาใช้สิทธิได้
Q. เดือนมกราคม 2561 จ่ายค่าคลอดบุตรคนที่ 1 จำนวน 60,000 บาท และเดือนกันยายน 2561 จ่ายค่าฝากครรภ์บุตรคนที่ 2 จำนวน 60,000 บาท กรณีนี้จะใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรในปีภาษี 2561 ได้เท่าไหร่ และในปีภาษี 2562 จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าคลอดบุตรคนที่ 2 ได้อีกหรือไม่?
  • ปี 2561 ใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร ได้จำนวน 120,000 บาท (ค่าคลอดบุตรคนที่ 1 + ค่าฝากครรภ์บุตรคนที่ 2)
  • ปี 2562 ไม่สามารถใช้สิทธิได้ เนื่องจากในปี 2561 ใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์บุตรคนที่ 2 ไปเต็มจำนวนแล้ว
Q. กรณีที่บิดาและมารดา ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มารดาสามารถใช้สิทธิค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรได้หรือไม่?
  • สามารถใช้สิทธิได้ เนื่องจากมารดาเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรเสมอ โดยไม่ต้องจดทะเบียนสมรส
Q. กรณีที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสและมารดาไม่มีเงินได้ บิดาสามารถใช้สิทธิค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรได้หรือไม่?
  • กรณีบิดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส บิดาไม่สามารถใช้สิทธิได้
    ทั้งนี้ หากบิดามีการจดทะเบียนรับรองบุตรในปีภาษีที่บุตรคลอด บิดาสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรได้
Q. กรณีมีลูกแฝดเกิดห่างกันไม่กี่นาที แฝดพี่คลอด 31 ธ.ค. 2560 แฝดน้องคลอด 1 ม.ค. 2561 จะได้รับสิทธิค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร และลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เพิ่ม 30,000 บาท อย่างไร?
  • ได้รับสิทธิค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร 60,000 บาท และได้รับสิทธิลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เพิ่ม 30,000 บาท
Q. กรณีได้รับสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากนายจ้างภาคเอกชนในการคลอดบุตร จำนวน 30,000 บาท แต่ได้จ่ายค่าคลอดบุตรไปจำนวน 100,000 บาท จะใช้สิทธิลดค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร อย่างไร?
  • ได้รับสิทธิ จำนวน 30,000 บาท เนื่องจากเมื่อนำไปรวมกับสิทธิสวัสดิการต้องไม่เกิน 60,000 บาท
Q. มีบุตรคนที่ 1 มาแล้วเกิดเมื่อปีภาษี 2557 และยังมีชีวิตอยู่ และได้ทำการฝากครรภ์เมื่อต้นปี 2561 คลอดบุตรปลายปี 2561 จ่ายเงินค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรเอง และเป็นบุตรแฝด 3 จะได้รับสิทธิลดหย่อนอย่างไร?

กรณีบุตรคนที่ 1 เกิดปี 2557 และได้ทำการฝากครรภ์และคลอดบุตรแฝด 3 คน ในปี 2561 สามารถใช้สิทธิได้ ดังนี้

  •  บุตรคนที่ 1 – 4 หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท
  • ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรของบุตรแฝด 3 ได้ 60,000 บาท เพราะถือเป็นคราวเดียวกัน
  • ใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนบุตรแฝดคนที่ 2 – 4 ได้เพิ่มอีกคนละ 30,000 บาท
    รวมหักลดหย่อนได้ทั้งสิ้น 270,000 บาท
Q. ตั้งครรภ์แล้วเกิดการแท้งในปีภาษี 2561 ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการแท้ง ค่าใช้จ่ายใดบ้างที่จะถือว่าเป็นค่าคลอดบุตรที่สามารถนำสิทธิมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้?
  • ค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเพื่อการรักษาพยาบาลจากการแท้งบุตร สามารถนำมาใช้สิทธิหักลดหย่อนได้ทั้งหมด
Q. ฝากครรภ์ปีภาษี 2560 จ่ายค่าฝากครรภ์ปี 2560 จำนวน 30,000 บาท และคลอดบุตรต้นปีภาษี 2561 จ่ายค่าคลอดบุตรปี 2561 อีกจำนวน 30,000 บาท จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรอย่างไร?
  • สามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรในปีภาษี 2561 ได้ 30,000 บาท เนื่องจากกฎหมายให้สิทธิตั้งแต่ปี 2561
Q. กรณีจดทะเบียนสมรสและหย่าภริยาคนแรก มีบุตร 2 คน และต่อมาได้จดทะเบียนสมรสกับภริยาคนที่ 2 มีบุตรด้วยกันอีก 2 คน และบุตรคนที่ 3 ตั้งครรภ์และคลอดในปี 2561 จะสามารถลดหย่อนบุตรได้ 5 คนหรือไม่ และจะได้รับสิทธิค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร และสิทธิลดหย่อนบุตรเพิ่ม 30,000 บาท หรือไม่ และต้องใช้เอกสารหลักฐานอะไรบ้าง?

ได้รับสิทธิลดหย่อนบุตร ทั้ง 5 คน และบุตรคนที่ 5 ได้รับสิทธิค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร และสิทธิลดหย่อนบุตรเพิ่ม โดยใช้หลักฐาน ดังนี้

  • บันทึกท้ายหย่าในการแสดงรายละเอียดว่าเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรจากภริยาคนแรก
  • เอกสารใบทะเบียนสมรสกับภริยาคนที่ 2
  • ใบรับรองแพทย์ฯ และใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่าได้จ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร
Q. กรณีฝากครรภ์และคลอดบุตรที่ได้ลดหย่อนภาษี รวมถึงค่าใช้จ่ายอย่างอื่นด้วยหรือไม่ เช่น ค่านม ค่าของใช้ที่เกี่ยวกับการคลอดบุตร ค่าเดินทาง เป็นต้น
  • ไม่รวม เนื่องจากไม่เป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร
Q. เดือนมกราคม 2561 จ่ายค่าฝากครรภ์แต่ภายหลังได้แท้งบุตร ต่อมาได้ตั้งครรภ์และฝากครรภ์อีกครั้งในเดือนเมษายน 2561 และคลอดก่อนกำหนดในเดือนธันวาคม 2561 จะใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร อย่างไร?
  • ได้รับสิทธิ 120,000 บาท เนื่องจากมีการตั้งครรภ์ 2 คราวในปีภาษีเดียวกัน
Q. มีบุตรมาแล้ว 3 คน คนที่ 1 อายุ 21 ปี คนที่ 2 อายุ 18 ปี และคนที่ 3 อายุ 6 เดือน แต่ภริยาคนแรกเสียชีวิตในปี 2560 ได้สมรสใหม่กับภริยาคนปัจจุบันในปี 2561 ภริยาไม่มีเงินได้ เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ภริยาตั้งครรภ์และมีการฝากครรภ์แต่ในเดือนสิงหาคม 2561 มีภาวะต้องยุติการตั้งครรภ์ เนื่องจากเด็กไม่สมบูรณ์ ตั้งครรภ์ใหม่และฝากครรภ์ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรได้เท่าไหร่?
  • ได้รับสิทธิหักลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร จำนวน 120,000 บาท เนื่องจากมีการตั้งครรภ์ 2 คราวในปีภาษีเดียวกัน
Q. มีบุตรกับภริยาคนแรก ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่มีการจ่ายค่าเลี้ยงดู 1 คน เกิดเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2561 ขณะนี้บุตรคนแรกมีอายุ 10 เดือนกว่าๆ และได้แต่งงานจดทะเบียนสมรสกับภริยาคนปัจจุบันมีบุตรด้วยกันอีก 1 คน เกิดเมื่อวันที 1 พ.ย. 2561 ภริยาทั้ง 2 คน ไม่มีเงินได้ จะใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร รวมถึงการใช้สิทธิลดหย่อนบุตร 60,000 บาท ได้หรือไม่?
  • ใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรจากภริยาที่จดทะเบียนสมรส แต่ไม่ได้รับสิทธิลดหย่อนบุตร 60,000 บาท เนื่องจากมีบุตรชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียว

คุณมีสิทธิลดหย่อนอะไรบ้าง?

ให้ iTAX Market ช่วยเปรียบเทียบตัวเลือกลดหย่อนภาษีที่ดีที่สุดให้คุณได้เลย!

ค้นหาตัวเลือกประหยัดภาษี


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 47(1)(ซ) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(99) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  2. ^

    ข้อ 2(1) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331) พ.ศ. 2561

  3. ^

    ข้อ 2(4) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331) พ.ศ. 2561

  4. ^

    ข้อ 2(3) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331) พ.ศ. 2561

  5. ^

    ข้อ 4 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331) พ.ศ. 2561

  6. ^

    ข้อ 1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331) พ.ศ. 2561

  7. ^

    ​ข้อ 1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331) พ.ศ. 2561

  8. ^

    “ค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร และบุตรคนที่ 2 ลดหย่อนอย่างไร ???” www.rd.go.th