ภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) คืออะไร?

วิเคราะห์

10,376 VIEWS

‘ภาษีขายหุ้น’ (Financial Transaction Tax) เป็นนโยบายการจัดเก็บภาษีเพิ่มสำหรับปี 2565 ของกระทรวงการคลังสำหรับการขายหุ้นในตลาดหุ้น โดยเป็นการจัดเก็บ ‘ภาษีธุรกิจเฉพาะ’ ในอัตรา 0.1% หลังจากที่ภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2534 ทั้งนี้ ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โดยกรมสรรพากร แต่ข้อเสนอภาษีขายหุ้นครั้งนี้ยังไม่มีการพูดถึงการจัดเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น (Capital Gain Tax) แต่อย่างใด

ทำไมจู่ๆ ใครๆ ก็พูดถึง ‘ภาษีขายหุ้น’ (Financial Transaction Tax)

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังกำลังเตรียมดำเนินการใช้แผนการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction Tax) ซึ่งเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะประเภทหนึ่ง โดยมีแผนจะเริ่มในปี 2565 หลังจากภาษีดังกล่าวที่ถูกยกเว้นมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว (ตั้งแต่ พ.ศ. 2534) ซึ่งปัจจุบันมีความจำเป็นต้องเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับภาครัฐ ถ้าดัชนีตลาดจะปรับลดลงก็ต้องยอมรับ โดยกำหนดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 0.1% ของการขายหุ้นที่เกินกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป หรืออาจจะมากกว่านั้น ซึ่งเดิมมีแผนจะดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าวตั้งแต่ปี 2564 แล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่เหมาะสมทำให้ต้องชะลอไปก่อน 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านกรมสรรพากรยังไม่ได้จัดเก็บภาษีดังกล่าว เนื่องจากมีการออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 ยกเว้นภาษีขายหุ้นไว้ แต่หากระดับนโยบายของรัฐบาลต้องการจัดเก็บภาษีขายหุ้น เพียงแค่ยกเลิกการยกเว้นภาษีดังกล่าว กระทรวงการคลังก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ทันที

ส่วนแนวทางขั้นตอนการชำระภาษีขายหุ้นนั้น โดยปกติโบรกเกอร์ตัวแทนของผู้ขายหลักทรัพย์จะเป็นผู้หักภาษีขายหุ้น (ภาษีธุรกิจเฉพาะ) เฉพาะจากจำนวนเงินที่ขายและเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีแทนผู้ขาย โดยผู้ขายไม่จำเป็นต้องดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการภาษีขายหุ้นอีก (ซึ่งเป็นหน้าที่ของโบรกเกอร์หลักทรัพย์ตาม มาตรา 91/9 ประมวลรัษฎากร)

ภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) คืออะไร?

‘ภาษีขายหุ้น’ (Financial Transaction Tax) เป็นนโยบายการจัดเก็บภาษีเพิ่มสำหรับปี 2565 สำหรับการขายหุ้นในตลาดหุ้น เสนอโดยกระทรวงการคลัง โดยเป็นการจัดเก็บ ‘ภาษีธุรกิจเฉพาะ’ ในอัตรา 0.1% ทั้งนี้ ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โดยกรมสรรพากร

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอภาษีขายหุ้นครั้งนี้ยังไม่มีการพูดถึงการจัดเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น (Capital Gain Tax) ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้ของนักลงทุนแต่อย่างใด

รู้จักภาษีธุรกิจเฉพาะ

ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ภาษีประเภทหนึ่งตาม ประมวลรัษฎากร ซึ่งจัดเก็บกิจการบางประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษแยกต่างหากจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (เช่น การขายหลักทรัพย์ เป็นต้น) โดยมีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บ

ทั้งนี้ โดยปกติ ภาษีธุรกิจเฉพาะจะเก็บจากกิจกรรมการซื้อขายสินค้าและให้บริการเช่นเดียวกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จะเป็นคนส่วนกันซึ่งจะไม่ทับซ้อนกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กล่าวคือ ถ้ากิจการนั้นต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในทางกลับกันถ้าธุรกิจนั้นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ภาษีธุรกิจเฉพาะมีไว้เพื่ออุดช่องโหว่จากกิจการที่หามูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือให้บริการได้ยาก เช่น ธุรกิจการเงิน อย่างการขายหุ้น เป็นต้น ซึ่งประเมินได้ยากว่ามูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือให้บริการนั้นเป็นมูลค่าเท่าไหร่ จึงไม่สามารถใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ดังนั้น จึงใช้ภาษีธุรกิจเฉพาะแทน แต่ยังอาศัยหลักพื้นฐานการจัดเก็บลักษณะเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม

‘สรรพากร’ เผย ‘คลัง’ มีแผนเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ จริง ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา คาดไม่กระทบนักลงทุนรายย่อยแน่นอน

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังมีแผนจัดเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ ในตลาดหลักทรัพย์ โดยกรมสรรพากร และกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างพิจารณาการเรียกเก็บ แต่จะต้องดูหลายปัจจัยประกอบ โดยเฉพาะเงื่อนไขเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน 85% หรือ นักลงทุนรายย่อยอย่างแน่นอน

เปิดมูลค่าการซื้อขายตราสารทุนสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. – 17 ธ.ค. 2564

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลค่าการซื้อขายตราสารทุนสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม – 17 ธันวาคม 2564 มีจำนวนจำแนกตามประเภทของนักลงทุนได้ดังนี้

นักลงทุน

มูลค่าซื้อ (ล้านบาท)

สัดส่วน มูลค่าขาย (ล้านบาท) สัดส่วน สุทธิ (ล้านบาท)
สถาบันในประเทศ 1,410,988.51 6.81% 1,478,863.57 7.14% -67,875.05
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ 2,057,712.30 9.94% 2,045,042.31 9.88% 12,669.99
นักลงทุนต่างประเทศ 8,072,704.85 38.99% 8,141,403.54 39.32% -68,698.69
นักลงทุนทั่วไปในประเทศ 9,164,228.82 44.26% 9,040,325.06 43.66% 123,903.75
รวม

20,705,634.48

100% 20,705,634.48 100%

มูลค่าการขายของนักทุนทั่วไปในประเทศจึงมีสัดส่วนอยู่ราว 44% ของมูลค่าการขายทั้งหมด ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่มูลค่าการขายใหญ่ที่สุดในตลาดทุนไทย

พิจารณาเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ 0.1% แต่กำลังศึกษาปริมาณการขายหุ้นขั้นต่ำต่อเดือนที่เหมาะสม

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวต่อว่า สำหรับการศึกษาการเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยพิจารณาตามปริมาณการขายหุ้นในตลาดฯ ขั้นต่ำต่อเดือนที่เหมาะสม โดยศึกษาไว้ 3 แนวทาง ได้แก่

  1. 1 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป
  2. 1.5 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป และ
  3. 2 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป

‘สรรพากร’ รับศึกษาการเก็บภาษี Capital Gain ด้วย แต่ต้องตรากฎหมายใหม่หรือแก้ไขเพิ่ม

ทั้งนี้ กรมสรรพากร ได้ศึกษาภาษีทั้ง 2 ส่วน ได้แก่ ภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (Capital Gain Tax) ซึ่งหากจะเรียกเก็บจากส่วนนี้จะต้องตรากฎหมายขึ้นมาใหม่หรือแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม แต่สำหรับการเก็บภาษีการขายหุ้นนั้นมีประมวลรัษฎากรกฎหมายภาษีของกรมสรรพากรอยู่แล้ว แต่ได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2534 ซึ่งสามารถเก็บได้เลย โดยการหยิบยกกฎหมายนี้ขึ้นมาก็เป็นไปแผนการปฏิรูปภาษี ซึ่งปัจุบันหลายประเทศมีการเรียกเก็บทั้ง 2 ส่วน หรือบางประเทศก็เรียกเก็บเพียงอย่างเดียว

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หวั่นเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ กระทบตลาดทุนไทย วอนรัฐบาลพิจารณาแนวทางให้กระทบนักลงทุนน้อยที่สุด

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แถลงข่าวด่วนถึงเรื่องภาษีขายหุ้น โดยเปิดเผยว่า ได้รับทราบถึงแนวทางการจัดเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว และได้ทำข้อมูลตัวเลขทุกอย่าง ตั้งแต่ภาพรวมจนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ให้กับกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทั้งหมดแล้ว หลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับแนวทางนโยบายของภาครัฐแล้ว

ในมุมมองของตลาดหลักทรัพย์ ได้แต่ขอให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางว่าทำอย่างไรให้กระทบกับนักลงทุนน้อยที่สุด รวมถึงพิจารณาอัตราภาษีที่เรียกเก็บต้องเหมาะสม โดยเปรียบเทียบการเก็บภาษีในประเทศอื่นๆ อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน อินโดนีเซีย เวียดนาม เกาหลี เพื่อไม่ให้กระทบกับความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย เนื่องจากหลังเกิดวิกฤติโควิดในกลุ่มประเทศดังกล่าวมีการเรียกเก็บภาษีเพื่อนำเงินไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน เช่น ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย

ทั้งนี้ ในการเก็บภาษีจะยิ่งทำให้นักลงทุนมีต้นทุนสูงขึ้นและกระทบกับนักลงทุนบางกลุ่มอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการซื้อขายเร็ว เก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้จะยิ่งทำให้นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวรอจังหวะให้ตลาดมีราคาที่เคลื่อนไหวมากยิ่งกว่าเดิมก่อนทำการซื้อขาย ซึ่งอาจกระทบกับมูลค่าการซื้อขายในตลาดมากขึ้นจากปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีปริมาณซื้อขายเฉลี่ยวันละ 90,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงการคลังจะเรียกเก็บภาษีขายหุ้นอีกครั้งจริง ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็พร้อมจะให้ความร่วมมือตามนโยบายรัฐ แต่อยากเสนอให้มีการแจ้งข่าวให้นักลงทุนรับทราบล่วงหน้าเพื่อความเหมาะสมและมีเวลาปรับตัว เช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่จะได้มีเวลาในการวางแผนเก็บภาษีต่างๆ ให้ทันเวลา

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)