คืนภาษีนิติบุคคล ผ่านพร้อมเพย์ (PromptPay) กับคำถามที่พบบ่อย

SME

21,068 VIEWS

กรมสรรพากรจับมือธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ สนับสนุนการทำธุรกรรมดิจิตอลอย่างต่อเนื่อง ด้วย บริการคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) พร้อมให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) โฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า 

บริการคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ถือเป็นการสนับสนุนการทำธุรกรรมแบบดิจิตอล และเป็นการเพิ่มช่องทางการรับเงินคืนภาษีแก่ผู้เสียภาษีอีกด้วย ซึ่งจากเดิมนิติบุคคลจะสามารถรับเงินภาษีคืนได้เพียง 2 ช่องทาง คือ

  • รับเงินคืนภาษีผ่านเช็ค และ
  • รับคืนเงินภาษีผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร

แต่ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ผู้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจะสามารถรับเงินคืนภาษีผ่านช่องทางพร้อมเพย์​ (PromptPay) ได้อีกหนึ่งช่องทาง

นิติบุคคลรูปแบบไหน ถึงจะรับเงินคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์ได้?

นิติบุคคลที่จะสามารถรับเงินคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์ได้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

  • เป็นนิติบุคคลที่มีพร้อมเพย์แล้ว
  • เป็นนิติบุคคลที่มีเงินคืนภาษีไม่ถึง 100 ล้านบาท
  • เป็นนิติบุคคลที่ไม่เปลี่ยนแปลงสถานะนิติบุคคล (เช่น ไม่ได้กำลังควบรวมกิจการ หรือโอนกิจการ)

สำหรับนิติบุคคลที่ตรงตามเงื่อนไขข้างต้น และได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้เรียบร้อยแล้ว กรมสรรพากรจะทำการคืนเงินภาษีเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่ผูกไว้กับเลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลัก ส่วนนิติบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ตรงตามเงื่อนไขข้างต้นก็ไม่ต้องเป็นกังวลใจ เพราะกรมสรรพากรจะทำการคืนเงินภาษีผ่านเช็คหรือโอนคืนเงินภาษีผ่านบัญชีธนาคารเหมือนเดิม

คำถามที่พบบ่อย

1. นิติบุคคลลงทะเบียนพร้อมเพย์ผ่านช่องทางไหนได้บ้าง?

นิติบุคคลสามารถสมัครพร้อมเพย์ได้ด้วยการผูกเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก กับบัญชีธนาคารของนิติบุคคล 1 บัญชี (จะเป็นบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวันก็ได้) และสามารถสมัครลงทะเบียนพร้อมเพย์ได้ง่ายๆ เพียงเตรียมเอกสารและติดต่อธนาคารที่บริษัทท่านมีบัญชีอยู่

2. กรณีที่ขอคืนเงินภาษีแล้ว แต่ยังไม่ได้สมัครพร้อมเพย์ ต้องสมัครพร้อมเพย์ในกี่วัน?

ไม่มีกำหนดลงทะเบียน แต่กรมสรรพากรแนะนำให้นิติบุคคลที่ขอคืนภาษี ทำการลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้ล่วงหน้าจะดีที่สุด

3. มีหมายเลขพร้อมเพย์อยู่แล้ว สามารถเปลี่ยนบัญชีธนาคารได้หรือไม่?

ทำได้ แต่คุณจะต้องยกเลิกการลงทะเบียนพร้อมเพย์ที่ผูกไว้กับบัญชีธนาคารเดิมก่อน จึงจะสามารถลงทะเบียนพร้อมเพย์กับธนาคารใหม่ได้

4. เป็นนิติบุคคลที่มีพร้อมเพย์อยู่แล้ว หากยกเลิกจะรับเงินคืนภาษีผ่านช่องทางไหนได้บ้าง?

ในกรณีที่คุณเป็นนิติบุคคลที่มีพร้อมเพย์อยู่แล้ว และต้องการยกเลิกการลงทะเบียนก็สามารถทำไ้ด้ โดยติดต่อยกเลิกการลงทะเบียนพร้อมเพย์ผ่านธนาคารที่คุณใช้บริการอยู่ และสามารถรับคืนเงินภาษีผ่านทางเช็ค หรือ รับคืนเงินภาษีผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร 

ทั้งนี้ทั้งนั้น กรมสรรพากรไม่แนะนำให้ดำเนินการยกเลิกการผูกบัญชีธนาคารกับระบบพร้อมเพย์ในช่วงเวลาที่มีการคืนเงินภาษี เพราะอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาด และส่งผลให้คุณได้รับเงินคืนภาษีช้ากว่าที่ควรจะเป็น

5. กรมสรรพากรมีการแจ้งเตือนเมื่อนิติบุคคลได้รับอนุมัติคืนเงินภาษีหรือไม่?

กรมสรรพากรจะแจ้งเตือนด้วยการส่งหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากร (ค.20) ให้แก่นิติบุคคลที่ทำการขอคืนเงินภาษี ทั้งนี้ กรณีที่นิติบุคคลได้รับเงินคืนภาษีน้อยกว่าที่ดำเนินการขอคืนภาษีมา กรมสรรพากรจะจัดส่งหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากร (ค.20) พร้อมระบุรายละเอียดที่ทำให้คุณได้รับเงินคืนภาษีน้อยกว่าที่ดำเนินการมา

6. ขอคืนเงินภาษี แต่ถูกประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ยอดเงินที่ได้รับคืนเงินภาษี เป็นยอดที่หัก VAT แล้วใช่หรือไม่?

ใช่ หากคุณเป็นนิติบุคคลที่ยื่นขอรับเงินคืนภาษี แต่ถูกประเมิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะไม่สามารถรับคืนเงินภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์ได้ แต่จะได้รับคืนเงินภาษีผ่านเช็ค หรือ รับโอนเงินคืนภาษีผ่านทางธนาคารเท่านั้น และยอดเงินคืนภาษีที่ได้รับ จะเป็นยอดหลังจากที่ถูกหักภาษีที่ต้องจ่ายทั้งหมดแล้ว

7. คืนเงินภาษีนิติบุคคลผ่านพร้อมเพย์ แล้วจะยกเลิกการคืนเงินภาษีผ่านเช็คหรือไม่?

เพื่อเป็นการลดต้นทุนการทำธุรกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน เพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการให้บริการ และเพื่อสนับสนุน นโยบายการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ในอนาคตอาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบพร้อมเพย์แทนการคืนภาษีผ่านเช็ค หรือ โอนคืนเงินภาษีผ่านธนาคารให้แก่นิติบุคคลทุกประเภท

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) โฆษกกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า 

การคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบพร้อมเพย์จะช่วยอำนวยความสะดวก และเพื่อความปลอดภัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ในขณะนี้ เพื่อลดการติดต่อกันในระหว่างการทำธุรกรรม เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้ทุกคนอยู่ที่บ้าน สนับสนุนแนวคิด อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติของรัฐบาลต่อไป

ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทั่วประเทศ หรือ ติดต่อศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) ได้ที่โทร. 1161

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)