เสนอนโยบายภาษีธุรกิจดิจิทัล ไทยควรเก็บภาษีบริษัทต่างชาติรายใหญ่แบบเหมา

ทั่วไป

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2563 สำนักงานพัฒนาธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. หรือ ETDA) ได้จัดเวทีรายงานผลศึกษาวิจัยและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับกลไกด้านภาษีในภาคธุรกิจดิจิทัล โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

จุฬาฯ เสนอแนวทางเก็บภาษีดิจิทัลเพื่อสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า มี 4 ประเทศในอาเซียน  เริ่มออกกฎหมายเก็บภาษีบริการดิจิทัล (Digital Service Tax: DST) ไปแล้ว ได้แก่ อินโดนีเซีย (เริ่ม 1 พ.ค. 2563), มาเลเซีย (เริ่ม 1 ม.ค. 2563), สิงคโปร์ (เริ่ม 1 ม.ค. 2563), และเวียดนาม (เริ่ม 1 ม.ค. 2564)

ซึ่งในประเทศไทยมีมูลค่าการขายสินค้า e-commerce โดยผู้ขายอยู่ต่างประเทศอยู่จำนวนมาก ประเทศไทยจึงควรเริ่มศึกษาเพื่อดูช่องทางเก็บภาษีกับธุรกิจที่อยู่ต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ

การจัดเก็บภาษีไม่ได้มีแค่เรื่องรายได้เข้ารัฐ

โดยปกติคนทั่วไปจะเข้าใจว่าภาษีมีไว้เพื่อจัดเก็บรายได้เข้ารัฐแต่เพียงอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วการจัดเก็บภาษีมีวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากการหารายได้ของรัฐด้วย ซึ่งวัตถุประสงค์การจัดเก็บภาษีโดยทั่วไป ได้แก่

  1. หารายได้เข้ารัฐ
  2. บริหารดุลการชำระเงินและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
  3. ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม
  4. เสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขัน
  5. เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผลิต/บริโภค

ประเทศไทยเก็บภาษีในสัดส่วน 17.5% ของ GDP ซึ่งอยู่ในระดับกลางๆ ทั้งนี้ การเก็บภาษีดิจิทัลทำได้ทั้งภาษีเงินได้และภาษีการบริโภค แต่การเก็บภาษีการบริโภคซึ่งเป็นภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นรูปแบบการเก็บภาษีธุรกิจดิจิทัลที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยตรงยังไม่เกิดขึ้นแต่ทาง EU มีการนำเสนอแนวทางจัดเก็บภาษีในลักษณะนี้แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Facebook, Apple, Google, Amazon เป็นกลุ่มบริษัทที่หลายประเทศสนใจจัดเก็บภาษีมากที่สุดเนื่องจากมีแหล่งรายได้ทั่วโลก

ซึ่งขณะนี้มีกว่า 40 ประเทศที่เริ่มเก็บภาษีดิจิทัลไปแล้ว เช่น ฝรั่งเศส สิงคโปร์ อินเดีย อย่างไรก็ดี ในบรรดาประเทศที่เก็บภาษีดิจิทัลแล้วก็อาจมีแนวทางที่แตกต่างกัน เช่น บางประเทศเลือกเก็บเฉพาะบริษัทใหญ่ เช่น ฝรั่งเศสและอังกฤษเลือกเก็บภาษีเงินได้จากรายรับก่อนหักรายจ่ายในอัตราคงที่ โดยเลือกเก็บภาษีเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ในขณะที่บางประเทศตัดสินใจเก็บทุกรายทั้งใหญ่และเล็กอย่างเท่าเทียมกัน เช่น มาเลเซียและออสเตรเลีย ที่เก็บภาษีการบริโภคทั้งผู้ประกอบการต่างประเทศและในประเทศในอัตราเดียวกัน

อย่างไรก็ดี บางประเทศก็มีจุดยืนชัดเจนที่จะไม่เก็บภาษีดิจิทัล เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

IP Address ถูกนำมาใช้ประกอบการเก็บภาษีดิจิทัลด้วย

ในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย เลือกใช้ข้อมูลจาก IP Adress ข้อมูลบัตรเครดิต ที่อยู่ของลูกค้า เบอร์โทรศัพท์ ซิมการ์ด ฯลฯ เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ซื้อเป็นคนในประเทศตนเองเพื่อเป็นหลักฐานในการจัดเก็บภาษีดิจิทัลต่อไป

ประเทศที่ใช้อินเตอร์เน็ตเยอะ ไม่ได้แปลว่าประเทศนั้นจะเก็บภาษีได้เยอะ

ผู้วิจัยไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างรายได้ภาษีของประเทศ กับสัดส่วนประชากรที่เข้าใช้อินเตอร์เน็ต (internet users) ดังนั้น ในบางประเทศแม้จะมีผู้ใช้งาน internet น้อยก็อาจจะเก็บภาษีได้มากกว่าประเทศที่มีผู้ใช้งาน internet มากกว่าก็ได้ เช่น ประเทศแอฟริกาใต้มีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตน้อยแต่เก็บภาษีในสัดส่วนสูง ส่วนประเทศบังคลาเทศมีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากแต่เก็บภาษีในสัดส่วนต่ำ เป็นต้น

OECD เสนอให้ผู้ให้บริการต้องมีตัวตนในประเทศที่ตนขายของอยู่ด้วย

เมื่อผู้ค้าอยู่ต่างประเทศจึงไม่สามารถติดตามจัดเก็บภาษีได้ ดังนั้น แนวทางของ OECD คือ แนะนำให้ผู้ให้บริการที่มีรายได้จากประเทศใดก็ตามต้องมาจดทะเบียนหรือมีตัวแทนการค้าในประเทศนั้นๆ ด้วย เพื่อให้สามารถติดตามและจัดเก็บภาษีได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางการแข่งขันทั้งผู้เล่นที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ

ผู้ให้บริการดิจิทัลแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม

โดยปกติแล้วผู้ให้บริการดิจิทัล (Digital Service Providers) ถูกแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มกว้างๆ ได้แก่

  1. กลุ่มเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ทำการซื้อขายผ่านระบบดิจิทัล
  2. กลุ่มตัวกลางที่เป็น Digital Platform
  3. กลุ่มลูกค้าผู้ใช้บริการซื้อขายผ่านระบบดิจิทัล
  4. กลุ่มผู้จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานหรือสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการค้าดิจิทัล
  5. กลุ่มหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับความนิยมใช้บริการในไทยก็กำลังจะถูกเก็บภาษี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจข้ามชาติของต่างประเทศ เช่น กลุ่ม Social media, e-marketplace, search engine, entertainment และ travel and tourism

ไทยควรเก็บภาษีดิจิทัลเพราะมีผลดีมากกว่าผลเสีย

ผู้วิจัยได้เสนอ 3 แนวทางการดำเนินงานภายใต้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่

แนวทางที่ 1 การเสริมสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการและผู้บริโภคให้มีความพร้อมต่อการนำภาษีธุรกิจบริการดิจิทัลมาใช้

แนวทางนี้เน้นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่สาธารณะด้านการเสียภาษีดิจิทัล และจัดหลักสูตรฝึกอบรมการวางแผนภาษีให้ผู้ประกอบการเป้าหมาย รวมถึงพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและปรับวิธีจัดเก็บภาษีให้ง่ายเพื่อจูงใจให้ผู้ให้บริการดิจิทัลมาจดทะเบียนภาษีในไทย

แนวทางที่ 2 การสร้างความเข้มแข็งและแข่งขันของผู้ประกอบการดิจิทัล

แนวทางนี้เน้นการทบทวนว่าบริการใดควรอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีดิจิทัล และเพิ่มขีดความสามารถให้ธุรกิจไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจด้านภาษีดิจิทัล

แนวทางที่ 3 การบริหารจัดการภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีธุรกิจดิจิทัลและการส่งเสริมการปรับตัวของผู้มีส่วนได้เสียมีประสิทธิภาพ

แนวทางสุดท้ายนี้เน้นการบริหารจัดการของภาครัฐเป็นพิเศษ โดยการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และพิจารณาออกกฎหมายให้หน่วยงานจัดเก็บภาษีสามารถนำข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ ควรพัฒนาระบบจัดการความเสี่ยงและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขณะนำเข้าสินค้าราคาถูกที่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากร รวมถึงการตั้งศูนย์บริการข้อมูลการให้บริการภาษีดิจิทัลและการสร้างระบบรับข้อร้องเรียนและแจ้งเบาะแสหากพบผู้หลบเลี่ยงการเสียภาษีธุรกิจ

ผู้วิจัยเสนอประเทศไทยเหมาะกับการเก็บภาษีแนวเดียวกับฝรั่งเศสและอังกฤษ

ผู้วิจัยเสนอว่าประเทศไทยควรเลือกเก็บภาษีทางตรงที่จัดเก็บในอัตราคงที่อัตราเดียว เช่น ภาษีเงินได้จากรายรับก่อนหักรายจ่าย 3% และเลือกจัดเก็บเฉพาะผู้ประกอบการต่างชาติบางรายที่มีรายได้สูงจากการทำธุรกิจดิจิทัล เช่น เก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างชาติที่มีรายได้จากการขายของออนไลน์ในไทยเกิน 20 ล้านบาทต่อปี หรือมีผู้ใช้บริการเกิน 12,000 รายต่อปี เป็นต้น

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)