ได้รับดอกผลหลักประกันการใช้ไฟฟ้า เงินสด ต้องเสียภาษีอย่างไร?

ทั่วไป

7,213 VIEWS

หลายคนได้รับเอกสารจาการไฟฟ้าฯ เขียนว่า “หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร” (ใบ 50 ทวิ) พร้อมมีข้อความระบุว่าเราเป็น ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย พร้อมระบุ ประเภทเงินได้พึงประเมินจ่าย ว่าเป็น “ดอกผลหลักประกันการใช้ไฟฟ้า เงินสด” แถมยังถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในช่อง ภาษีที่หัก และนำส่งไว้ด้วย

ดอกผลหลักประกันการใช้ไฟฟ้า เงินสด

จึงเกิดข้อสงสัยว่า เงินก้อนนี้ต้องไปเสียภาษีประจำปีด้วยหรือไม่อย่างไร?

ดอกผลหลักประกันการใช้ไฟฟ้า ต้องนำไปเสียภาษีด้วย

สาเหตุเนื่องจาก เงินดังกล่าวเป็นดอกผลที่ได้รับจากการนำเงินประกันไปฝากไว้กับการไฟฟ้าฯ จึงทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นจากดอกผลดังกล่าว (คล้ายกับดอกเบี้ยเงินฝาก) จึงกลายเป็นรายได้ที่ต้องนำไปเสียภาษีด้วย

แต่การไฟฟ้าฯ ไม่ใช่ธนาคาร ดังนั้น เมื่อจ่ายดอกผลหลักประกันการใช้ไฟฟ้ามาให้ประชาชน ดอกผลนี้จึงถูกจัดเป็น เงินได้ทํานองเดียวกับดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4) (ก) เหมือนดอกเบี้ย แต่ไม่ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เหมือนดอกเบี้ยเสียทีเดียว

เงินได้ประเภทนี้ ผู้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับดอกผลหลักประกันการใช้ไฟฟ้า เงินสด ไม่เกิน 150,000 บาท จึงถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 5% (หากเกิน 150,000 บาท อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจะสูงขึ้นอีก)

ดอกผลหลักประกันการใช้ไฟฟ้า ต้องยื่นภาษีอย่างไร?

และเนื่องจากดอกผลหลักประกันการใช้ไฟฟ้าไม่ใช่ดอกเบี้ย จึงไม่สามารถเลือกปล่อยให้ถูกหักภาษี ณ ท่ีจ่ายเป็นภาษีสุดท้ายได้ เมื่อถึงเวลายื่นภาษีประจำปีจึงจำเป็นนำมายื่นภาษีด้วย โดยให้กรอกใน ภงด 90 ข้อ 3 ในช่อง “รายการเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)” ในช่อง “อื่นๆ (ระบุ)” (อยู่คนละช่องกับดอกเบี้ย) แล้วกรอกว่าเป็น “ดอกผลหลักประกันการใช้ไฟฟ้า” พร้อมระบุจำนวนเงินดอกผลฯ ที่ได้รับ และภาษีที่ถูกหัก เพื่อนำไปคำนวณภาษีต่อไป

เงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า ไม่ต้องเสียภาษี

ส่วนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นเงินต้นนั้น เป็นเงินของเราแต่แรกอยู่แล้ว ดังนั้น หากได้รับคืนจึงไม่ต้องนำไปเสียภาษีแต่อย่างใด โดยสังเกตได้จากเอกสารของการไฟฟ้าฯ ไม่ได้ระบุว่าเรามีรายได้จากค่าประกันการใช้ไฟฟ้าที่ต้องนำไปเสียภาษี ระบุแต่เพียงดอกผลหลักประกันการใช้ไฟฟ้าเท่านั้น

อนึ่ง ผู้เสียภาษีบางรายเมื่อนำดอกผลหลักประกันการใช้ไฟฟ้าไปคำนวณภาษีอาจทำให้เสียภาษีเพิ่ม แต่ผู้เสียภาษีหลายรายเมื่อนำไปคำนวณภาษีจะช่วยให้ได้เงินคืนภาษีเพิ่มด้วย โดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้ไม่สูงมาก ศึกษาวิธีคำนวณภาษี

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)