ครม. มีมติ ขยายสิทธิ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ เป็น 9 ล้านคน

ทั่วไป

34,662 VIEWS

สืบเนื่องจาก มาตรการชดเชยรายได้ สำหรับผู้ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่จะได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐ เดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่เมษายน – มิถุนายน 2563)

จากเดิมกระทรวงการคลังได้ประเมินผู้ได้รับสิทธิไว้เบื้องต้นเพียง 3 ล้านคน แต่มีผู้ลงทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือผ่าน เราไม่ทิ้งกัน.com ไปถึง 23 ล้านคนแล้วนั้น (www.facebook.com/ChaoJiranuntarat)

ในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม กระทรวงการคลังจึงเสนอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการชดเชยรายได้ ดังนี้

1. ขยายจำนวนผู้ได้รับสิทธิจากมาตรการชดเชยรายได้ จาก 3 ล้านคน เป็น 9 ล้านคน 

จากการเปิดให้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาจากรัฐ 5,000 บาท ผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com เมื่อวันที่ 28 – 30 มีนาคม ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังพบว่า มีผู้ลงทะเบียนที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบสิทธิจำนวน 18.8 ล้านคน (และขณะนี้เพิ่มเป็น 23 ล้านคนแล้ว (ตรวจสอบล่าสุด 31 มี.ค. 63) ซึ่งหมายความว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 จำนวนมากกว่าตัวเลขที่กระทรวงการคลังประเมินไว้ในคราวแรก

ลงทะเบียน COVID-19

ภาพจาก www.facebook.com/ChaoJiranuntarat

ประกอบกับ มาตรา 54 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม กำหนดให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่มีประมาณ 5 ล้านคน ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. 2533 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้ จึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกันตนกลุ่มนี้ที่ได้รับผลกระทบด้วย

และเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 70,676 คน ที่เป็นลูกจ้างในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 ที่ไม่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เนื่องจากส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมยังไม่ครบ 6 เดือน ให้สามารถได้รับเงินเยียวยาจากการว่างงานได้

กระทรวงการคลังจึงจำเป็นที่จะต้องเสนอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการชดเชยรายได้ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ด้วยการขยายจำนวนผู้ได้รับสิทธิจากมาตรการชดเชยรายได้ จากเดิม 3 ล้านคน เป็น 9 ล้านคน

ในส่วนนี้ iTAX วิเคราะห์ว่า

รัฐอาจจะต้องใช้วงเงินช่วยเหลือสูงสุด 135,000 ล้านบาท และจะมีผู้ได้รับเงินช่วยเหลือจริงราว 40% ของผู้ลงทะเบียนทั้งหมด

อ่านวิธีการลงทะเบียนได้ที่ : สิ่งที่ต้องเตรียม ก่อนลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาท

2. เสนอให้นำงบกลางมาใช้ สำหรับการจ่ายเงินชดเชยรายได้ครั้งแรก

เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ได้รับการชดเชยรายได้รวดเร็วที่สุด กระทรวงการคลังจึงขอนำ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 45,000 ล้านบาท ที่ได้รับจัดสรรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 มาใช้สำหรับการจ่ายเงินชดเชยรายได้ครั้งแรกในเดือนเมษายน 2563 ก่อน

และสำหรับการจ่ายเงินชดเชยรายได้ในงวดต่อไป กระทรวงการคลังจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมต่อไป

3. เงินเยียวที่ได้จากมาตรการเยียวยา ไม่ต้องเสียภาษี

กระทรวงการคลังเสนอให้ ยกเว้นภาษีสำหรับเงินที่ได้รับจากมาตรการชดเชยรายได้ของภาครัฐ ทั้งนี้ได้มอบหมายกรมสรรพากรให้เสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อยื่นเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

**นโยบายนี้ยังอยู่ในขั้นตอนเสนอเพื่อพิจารณาเท่านั้น

4. โครงการสินเชื่อเพื่อค่าใช้จ่าย สำหรับอาชีพอิสระ

โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 โดยสามารถขอสินเชื่อผ่าน 2 ธนาคาร ได้แก่

  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร

ในส่วนของดอกเบี้ยจาก โครงการสินเชื่อเพื่อค่าใช้จ่าย สำหรับอาชีพอิสระ จะเป็นดอกเบี้ยเงินกู้อัตราต่ำ มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน หรือร้อยละ 1.20 ต่อปี 

โดยกระทรวงการคลังคาดว่าจะสามารถอนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับสินเชื่อดังกล่าวได้ไม่เกิน 1,600 บาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และปีต่อฝๆ ไป โดยแบ่งเป็น

  • ธนาคารออมสินไม่เกิน 800 ล้านบาท 
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.)ไม่เกิน 800 ล้านบาท

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวข้างต้นยังเป็นเพียง มติ คณะรัฐมนตรีเท่านั้น ยังไม่มีการประกาศเป็นกฎหมายแต่อย่างใด และหากมีความคืบหน้าหรือการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม ทีมงาน iTAX จะรีบอัปเดตให้ผู้เสียภาษีทราบทันที

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)