เงินบำเหน็จชราภาพ ครม.อนุมัติจ่ายเพิ่มให้ผู้ประกันตนอีก 2.95%

ทั่วไป

ครม.เห็นชอบเพิ่มอัตราจ่าย “เงินบำเหน็จชราภาพ” ให้แก่ผู้ประกันตนอีก 2.95% ในช่วง 1 พฤษภาคม-31 กรกฎาคม 2565 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนราว 4.8 ล้านคน ให้ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้นในภาพรวม 4,553 ล้านบาท

5 เมษายน 2565 – นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเป็นการเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการลดอัตราเงินสมทบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [ปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพสำหรับผู้ประกันตนซึ่งออกเงินสมทบเข้ากองทุนในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ (งวดเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565)] ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

โดย ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฯ โดยกำหนดอัตราการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ ให้แก่ผู้ประกันตนในช่วงที่มีการลดอัตราเงินสมทบ 3 เดือน ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม-31 กรกฎาคม 2565 โดยให้คำนวณเพิ่มจากอัตราเงินสมทบขึ้นอีก 2.95% ของค่าจ้างที่มีตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-31 กรกฎาคม 2565 เพื่อให้สามารถจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพได้เพิ่มขึ้น

เพิ่มอัตรา เงินบำเหน็จชราภาพ อีก 2.95% ช่วยผู้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 4,860,212 คน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากราคาพลังงานเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป ให้ลดอัตราเงินสมทบที่นายจ้างและผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมในระยะเวลา 3 เดือน ส่งผลให้ผู้ประกันตนบางส่วนจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพลดลง เนื่องจากเป็นการคำนวณจากเงินที่มีการจ่ายเข้ากองทุน

ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายลดผลกระทบ โดยเสนอร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ โดยให้คำนวณอัตราเงินสมทบเพิ่มขึ้นอีก 2.95% ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม-31 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงลดอัตราส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานคาดว่ามีผู้ที่ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพที่จะได้รับผลกระทบจากการลดอัตราเงินสมทบจำนวน 4,860,212 คน หรือคิดเป็น 36% ของผู้นำส่งเงินสมทบ ม.33 และ ม.39 ทั้งหมดในช่วงระยะเวลาที่ลดอัตราเงินสมทบ และเมื่อมีการปรับอัตราจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ จะมีผลให้ผู้ประกันตนได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้นในภาพรวม จำนวน 4,553 ล้านบาท

สำหรับผู้ประกัน ม.33 ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น 1,032 บาท/คน รวมเป็นเงิน 4,232 ล้านบาท และผู้ประกันตนตาม ม.39 ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น 423 บาท/คน รวมเป็นเงิน 321 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินที่เพิ่มขึ้นไปใช้จ่ายเพื่อยังชีพในยามชรา บรรเทาปัญหาการเงินของผู้ประกันตนได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อสถานการณ์เหมาะสม กองทุนประกันสังคมอาจจะต้องมีการเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาชดเชยกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนี้ต่อไป

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)