รู้จัก กกต. และการเลือกตั้ง ในฐานะผู้เสียภาษี

งบประมาณ

5,742 VIEWS

กกต. มาจากไหน?

คุณสมบัติหลักๆ ของการเป็น กกต. คือ ต้องไม่เป็นข้าราชการมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น ไม่ดำรงตำแหน่งใดๆ ก็ตามในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งบันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด และจะต้องไม่ประกอบวิชาชีพอิสระใดๆ

และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบันทั้ง 7 คน มีที่มาจากการรับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ โดยผ่านความเห็นชอบให้เป็น กกต. จาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี พ.ศ. 2561 (ข้อมูลจาก workpointnews.com)

อำนาจและหน้าที่ของ กกต.

รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของ กกต. ไว้ว่า

  1. กกต. มีหน้าที่ดำเนินการหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. การได้มาซึ่ง ส.ว. ครอบคลุมถึง การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติ
  2. กกต. มีหน้าที่ควบคุมและดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและยุติธรรม ควบคุมการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีอำนาจสืบสวนหรือไต่สวนได้
  3. เมื่อผลการสืบสวน หรือพบเห็นการกระทำที่มีเหตุให้สงสัยว่าการเลือกตั้ง หรือการออกเสียงประชามติไม่สุจริต กกต. สามารถสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง รวมถึง มีอำนาจในการสั่งยกเลิกหรือสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้ง หรืออกเสียงประชามติในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วย หรือ ทุกหน่วยได้
  4. กกต. สามารถสั่งระงับการใช้สิทธิสมัครของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี ในกรณีที่พบหลักฐานว่ามีการทุจริตเลือกตั้ง
  5. กกต. มีหน้าที่ดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด
  6. รวมถึงอำนาจหน้าที่อื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนด

งบประมาณ กกต. มาจากไหน?

งบประมาณ กกต. ที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง มาจากช่องทางดังนี้

  1. เงินอุดหนุนที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี (งบประมาณแผ่นดิน a.k.a ภาษีประชาชน )
  2. รายได้จากค่าธรรมเนียมหรือทรัพย์สินของสำนักงาน กกต.
  3. ทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สำนักงาน กกต. **ทรัพย์สินที่ได้รับจะต้องนึกถึงความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่เป็นหลัก
  4. ดอกผลหรือผลประโยชน์ของเงินหรือทรัพย์สินของสำนักงาน กกต.

และเมื่อถึงสิ้นปีงบประมาณสำนักงาน กกต จะต้องทำรายงานรายรับ – รายจ่าย เสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี (อ้างอิงข้อมูลจาก www.ect.go.th )

เงินเดือน กกต. ชุดล่าสุด

อ้างอิงราชกิจจานุเบกษา วันที่ 28 ธันวาคม 2561 (www.ratchakitcha.soc.go.th)ได้มีการเผยแพร่พระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และผลประโยชน์ตอบแทนอื่น ของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2561 ได้กำหนดอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของประธานและกรรมการการเลือกตั้งไว้ว่า

ตำแหน่ง

เงินเดือน
(บาท/เดือน)

เงินประจำตำแหน่ง
(บาท/เดือน)

รวม
(บาท/เดือน)

ประธานกรรมการการเลือกตั้ง

81,920

50,000

131,920

กรรมการการเลือกตั้ง

80,540

42,500

123,040

ข้อควรรู้

ประธานกรรมการการเลือกตั้ง และ กรรมการการเลือกตั้ง 5 คน ได้รับการแต่งตั้งและเข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2561 และกรรมการการเลือกตั้ง 2 คน เข้าดำรงตำแหน่งในวันที่ 4 ธันวาคม 2561 และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบันนี้ ยังได้รับการมอบหมายให้ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ครั้งที่ 28 ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา

กกต. มีจุดเริ่มต้นจาก นายอานันท์ ปันยารชุน ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องการที่จะให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการสอดส่องและดูแลขั้นตอนและกระบวนการการเลือกตั้งให้เกิดความโปร่งใส สุจริต และยุติธรรม จึงมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 3/2535 ลงวันที่ 8 มกราคม 2535 แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและสอดส่องดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

คณะกรรมการติดตามและสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง ในขณะนั้นอยู่ภายใต้ชื่อ “องค์กรกลาง” เป็นองค์กรอิสระที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และเป็นหน่วยงานอิสระไม่มีผลประโยชน์ใดๆ กับการเลือกตั้ง และมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง และทำหน้าที่ตรวจสอบการเลือกตั้งดำเนินไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)