สรุปมาตรการภาษีสู้โควิด-19 ในประเทศไทย 2563 ช่วง 5 เดือนแรก

ข่าวภาษี

7,623 VIEWS

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ ประเทศไทยมีมาตรการภาษีเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน องค์กรธุรกิจ และผู้ประกอบการต่างๆ โดยสรุปมาตรการภาษีสู้โควิด-19 ในประเทศไทย ตาม Timeline ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 จนถึง พฤษภาคม 2563 ได้ดังนี้

มกราคม 2563

ยังไม่มีมาตรการภาษีเกี่ยวกับ COVID-19 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศไทยช่วงก่อนหน้านั้นยังไม่มีความรุนแรง

กุมภาพันธ์ 2563

แม้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ประเทศไทยจะเริ่มมีผู้ติดเชื้อโควิดในระดับที่ต่ำ แต่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศไม่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศได้ จึงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปอย่างมาก 

ประเทศไทยจึงเริ่มมีมาตรการภาษีเกี่ยวกับ COVID-19 เป็นครั้งแรกโดยเน้นการส่งเสริมการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม และมาตรการขยายเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ทั้งแบบกระดาษและออนไลน์ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 (ขยายเวลายื่นภาษีครั้งที่ 1) เพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายภาคการบริโภค

แต่พอมาถึงช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 กรมสรรพากรเริ่มออกมาตรการป้องกันและควบคุมโรคสำหรับเจ้าหน้าที่สรรพากรตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เช่น การเลื่อนและหลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ การกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่กลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงต้องหยุดงานเพื่อเฝ้าระวังและกักตัวเป็นเวลา 14 วัน (Quarantine) และการจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันและทำความสะอาด รวมถึงการวัดไข้เพื่อคัดกรองก่อนเข้าอาคาร เป็นต้น

มีนาคม 2563

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศไทยเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากพบผู้เสียชีวิตรายแรกของประเทศ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม

ไวรัสโคโรนาเริ่มกระจายไปสู่ประชาชนหลายกลุ่ม โดยกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้นมาจากการชกมวยไทยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ที่สนามมวยเวทีลุมพินี จนเป็นเหตุให้ช่วงกลางเดือนมีนาคม ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นเกินวันละ 100 คน จนนำไปสู่มาตรการสั่งปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสและแพร่เชื้อได้ง่าย (เช่น สถานศึกษา ผับ ร้านนวด สถานบริการ สนามมวย สนามม้า เป็นต้น) รวมถึงการงดจัดกิจกรรมที่รวมตัวคนจำนวนมากด้วย โดยเริ่มจากพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และตามด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม

ในเดือนมีนาคม โรงพยาบาลและมูลนิธิหลายแห่งได้เริ่มประชาสัมพันธ์โครงการรับเงินบริจาคจากประชาชนเพื่อซื้ออุปกรณ์การแพทย์และเครื่องช่วยหายใจของตัวเอง 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้เปิดบัญชีเพื่อรับบริจาคสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการนิติบุคคล ที่ต้องการสมทบทุนช่วยเหลือรัฐบาลโดยสามารถนำเงินบริจาคไปลดหย่อนภาษีได้ 

อนึ่ง วันที่ 28 มีนาคม 2563 เวลา 18.00 น. เป็นวันแรกที่รัฐบาลเปิดเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 และไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม สามารถลงทะเบียนรับเงินชดเชย 5,000 บาท ซึ่งทางกรมสรรพากรได้แถลงข่าวยืนยันว่าจะไม่นำข้อมูลจาก ‘เราไม่ทิ้งกัน’ มาตรวจสอบภาษีอย่างแน่นอน 

ด้วยสถานการณ์ที่เริ่มรุนแรงขึ้นในเดือนมีนาคม จึงเป็นช่วงเวลาที่ ครม. มีมติให้กระทรวงการคลังแถลงมาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อย่างจริงจังหลายมาตรการ ได้แก่ 

  1. เลื่อนเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีออกไปอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยให้ยื่นได้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 (จากเดิมที่เคยประกาศขยายให้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ไปแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์)
  2. ยกเว้นภาษีให้สำหรับค่าตอบแทนจากการเสี่ยงภัยของบุคลากร ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้รับตลอดทั้งปี 2563
  3. เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพเป็น 25,000 บาท
  4. เลื่อนเวลายื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี (ภ.ง.ด. 50) ออกไปถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และเลื่อนเวลายื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) ออกไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2563
  5. เลื่อนเวลายื่นภาษีรายเดือนต่างๆ ให้ ผู้ประกอบการที่ต้องหยุดกิจการตามคำสั่งของทางราชการ และเลื่อนให้ผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นรายกรณี
  6. ลดและยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมให้กลุ่ม Non-bank สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

มาตรการเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีสภาพคล่องทางการเงินและมีความคล่องตัวในการทางานเพิ่มขึ้น สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยการยืดเวลาชำระภาษีออกไป และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้ทุกคนอยู่ที่บ้านได้ เนื่องจากไม่ต้องเดินทางออกมายื่นภาษี

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเข้ายา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ต้าน COVID-19 สำหรับบริจาคเป็นสาธารณกุศล โดยยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรค COVID-19 เช่น ยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศและบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2564 ด้วย

เมษายน 2563

เข้าเดือนเมษายน สถานการณ์โควิดในประเทศไทยยังไม่ดีขึ้น วันที่ 3 เมษายน 2563  รัฐบาลเริ่มประกาศเคอร์ฟิวห้ามประชาชนออกนอกบ้านในเวลากลางคืน ระหว่างสี่ทุ่มถึงตีสี่ของทุกวัน และประกาศยกเลิกวันหยุดในช่วงสงกรานต์ รวมถึงการส่งจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีในประเทศไทย 20 อันดับแรก เพื่อขอให้ร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโควิด

เมื่อวันที่ 19 เมษายน รัฐบาลประกาศกฎหมายด่วนจำนวน 5 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการตั้งวงเงินพยุงเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านบาท และการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 ได้แก่ 

  • การกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาโควิด 
  • การให้สินเชื่อช่วยเหลือ SME  
  • การชะลอการชำระหนี้และดอกเบี้ย 
  • การขยายเวลาคุ้มครองเงินฝากทั่วไป 
  • หลักเกณฑ์การประชุมออนไลน์ที่มีผลถูกต้องตามกฎหมาย 
  • การตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของตราสารหนี้ 

ส่วนกรมสรรพากรก็เริ่มใช้มาตรการขยายเวลายื่นแบบและชำระภาษีต่างๆ ตามประกาศกระทรวงการคลังของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และได้ขยายสิทธิประโยชน์นี้ให้ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้ประกอบการทุกราย (ไม่ใช่เฉพาะกิจการที่ถูกสั่งหยุดกิจการตามคำสั่งของทางราชการตามที่เคยประกาศมาก่อนหน้านี้เท่านั้น)

นอกจากนี้รัฐบาลการประกาศใช้มาตรการภาษีอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ได้แก่

  1. เปิดตัวกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ SSFX ใช้ลดหย่อนภาษีได้อีก 200,000 บาท สำหรับหน่วยลงทุน SSFX ที่ซื้อภายใน 1 เมษายน –  30 มิถุนายน 2563
  2. ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5%
  3. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) พร้อมให้สิทธินำดอกเบี้ยไปหักเป็นรายจ่ายได้ 150% สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคล
  4. รักษาการจ้างแรงงานด้วยสิทธิหักรายจ่ายได้ 300%
  5. การันตีคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายใน 15 วัน ให้ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มดี

พฤษภาคม 2563

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศไทยเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และเดือนนี้เป็นเดือนที่มีการประกาศตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 0 คนเป็นครั้งแรก

วันที่ 3 พฤษภาคม รัฐบาลเริ่มผ่อนปรนให้บางกิจการสามารถดำเนินการได้ตามปกติ เช่น ร้านตัดผม

วันที่ 14 พฤษภาคม รัฐบาลขายพันธบัตรรัฐบาล ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ดอกเบี้ยสูงสุด 4% เป็นวันแรก

ส่วนทางกรมสรรพากร ได้เปิดตัวมาตรการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการนิติบุคคลลดการเดินทางและการติดต่อระหว่างกัน รวมถึงออกมาตรการขยายเวลายื่นแบบและชำระภาษีต่างๆ ของผู้ประกอบการออกไปอีกเป็นรอบที่สอง

ทั้งหมดนี้คือสรุปมาตรการภาษีสู้โควิด-19 ในประเทศไทย 2563 ทั้งหมดในช่วง 5 เดือนแรก หากมีมาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องกับโควิดเพิ่มเติม iTAX จะนำมาสรุปเพิ่มให้เป็นระยะ

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)