ลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเหลือ 2% มีผลตามกฎหมายแล้ว เริ่ม ก.ย.-พ.ย. 63

กฎหมายออกใหม่

169,403 VIEWS

นายจ้างและลูกจ้างเตรียมเฮ! กันยายน ถึง พฤศจิกายน 2563 นี้ ปรับลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม จาก 5% เหลือ 2% มีผลใช้บังคับแล้ว ส่งผลให้ช่วง 3 เดือนนี้ จากเดิมที่ลูกจ้างเคยถูกหักสูงสุดเดือนละ 750 บาท จะปรับเป็น 300 บาท

ประกาศกฎหมายลดประกันสังคมมีผล 3 เดือน

จากข่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้ปรับลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม จาก 5% เหลือ 2% เป็นเวลา 3 เดือนนั้น เมื่อวันที่ 14 ก.ย.63 ราชกิจจานุเบกษา ได้ลงประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) โดยใช้บังคับตั้งแต่กันยายน ถึง พฤศจิกายน 2563

ลูกจ้างเหลือจ่ายเดือนละ 300 บาท

ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง (ผู้ประกันตนตามมาตรา 33) จะจ่ายเงินสมทบเพียงฝ่ายละ 2% ของค่าจ้างผู้ประกันตน (จากเดิมฝ่ายละ 5%) ทำให้เงินสมทบประกันสังคมที่เคยถูกหักสูงสุดเดือนละ 750 บาท จะลดลงเป็นหักเดือนละ 300 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือน กันยายน – พฤศจิกายน 2563

ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 ให้เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราเดือนละ 96 บาท จากเดิม 432 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือน กันยายน – พฤศจิกายน 2563 เช่นกัน

จำเป็นต้องลดประกันสังคมเพราะเหตุโควิด-19

การประกาศลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 ของปี หลังจากที่เคยประกาศลดอัตราเงินสมทบเหลือ 1% มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โดยในประกาศกระทรวงแรงงานฉบับใหม่นี้ได้ระบุสาเหตุว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่นายจ้าง และผู้ประกันตนซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติร้ายแรง กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับมีการขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) มิให้นำไปสู่การระบาดระลอกใหม่ อันส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในท้องที่ประเทศไทย จึงควรลดหย่อนการออกเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนดังกล่าว ซึ่งปรากฏเนื้อความดังนี้

“อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ถึงงวดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยให้ส่งเงินสมทบในอัตราฝ่ายละร้อยละสองของค่าจ้างของผู้ประกันตน

ข้อ 2 ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ถึงงวดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละเก้าสิบหกบาท

ข้อ 3 ในกรณีที่มีการส่งเงินเกินกว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามประกาศนี้ ให้นายจ้าง หรือผู้ประกันตนตามข้อ 1 หรือข้อ 2 แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องขอรับเงินในส่วนที่เกินคืนได้ ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา

ประกาศ ณ วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2563

สุชาติ ชมกลิ่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน”

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)