ภาษีแม่ค้าออนไลน์ ขายของออนไลน์เสียภาษีอย่างไร?

ทั่วไป

1,380 VIEWS

ภาษีแม่ค้าออนไลน์ เป็นเรื่องที่บุคคลทั่วไปที่ทำธุรกิจขายของออนไลน์ควรทำความเข้าใจ ทั้ง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อจะได้เสียภาษีได้อย่างถูกต้อง และไม่มีปัญหาถูกประเมินภาษีย้อนหลัง

ภาษีแม่ค้าออนไลน์ สำหรับกรณีขายของทั่วไป

โดยปกติแล้วเมื่อบุคคลทั่วไปเริ่มทำธุรกิจขายของออนไลน์จะมีภาษี 2 ตัวที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งสามารถลงรายละเอียดได้ดังนี้

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่เกี่ยวข้องกับการขายของออนไลน์

โดยปกติ รายได้ที่ได้รับจากการขายของออนไลน์ มักจะอยู่ในรูปแบบการขายของแบบซื้อมาขายไป (กระเป๋า, รองเท้า, เครื่องสำอาง เป็นต้น) ซึ่งจัดเป็น เงินได้ประเภทที่ 8 (เงินได้ 40 (8)) และเป็นเงินได้ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี หมายความว่า คุณจะต้องยื่นภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

แต่ถึงอย่างนั้น สรรพากรและภาษีก็ไม่ได้ใจร้ายกับพ่อค้าแม่ค้าอย่างที่คิด เพราะคุณสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 ช่องทาง (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น) ไม่ว่าจะเป็น การหักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือ การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง

  • หากเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายเพราะกฎหมายให้สิทธิเหมาค่าใช้จ่ายตามยอดขายที่เกิดขึ้นในอัตรา 60% ของยอดขาย
  • หากเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง จะต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายในการยื่นภาษีด้วย

อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีซื้อมาขายไป กฎหมายยังได้กำหนดวิธีคำนวณภาษีแบบเหมาจากยอดขายในอัตรา 0.5% อีกวิธีด้วย ซึ่งจะต้องนำมาใช้ก็ต่อเมื่อคำนวณแบบเหมาได้ค่าภาษีเกิน 5,000 บาท และค่าภาษีแบบเหมา 0.5% นั้นสูงกว่าวิธีปกติ

วิธีคำนวณภาษี จะคิดจากรายได้สุทธิ ไม่ใช่รายได้ที่ได้รับตลอดทั้งปี

พ่อค้าแม่ค้าหลายคน (ที่ทำธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดา) มักจะเข้าใจผิดว่า การคำนวณภาษีสำหรับคนขายของคือ เมื่อมีรายได้เท่าไหร่ ให้นำเงินที่ได้นั้นมาคูณอัตราภาษีได้ทันที จึงทำให้หลายๆ คนเห็นจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายผิดไป ซึ่งในความจริงแล้ว อัตราภาษีที่คุณต้องจ่าย จะสามารถคำนวณได้จากเงินได้สุทธิ นั่นคือ

เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี

นั่นหมายความว่า คุณสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่กฎหมายกำหนด และหากคุณมีการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างเหมาะสม ภาษีที่คุณจะต้องจ่ายก็จะลดน้อยลงไปด้วย

การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ขายของต้องยื่นภาษีทั้ง ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีด้วย

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หลายคนมักจะไม่รู้ว่า รายได้จากการค้าขายตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน ของทุกปี มากกว่า 60,000 บาท (กรณีโสด) หรือ รายได้รวมกับคู่สมรสแล้วเกิน 120,000 บาท คุณจะต้องทำการ ยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ด้วย หมายความว่า ใน 1 ปี คุณจะต้องทำการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี ควบคู่ไปกับการยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ด้วยนั่นเอง โดยอาจจะต้องยื่นภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง (ประจำปี 1 ครั้ง และครึ่งปีอีก 1 ครั้งด้วย)

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เกี่ยวข้องกับ “ภาษีแม่ค้าออนไลน์”

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) เป็น ภาษีที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องเจอเมื่อยอดขายตลอดทั้งปีเกิน 1,800,000 บาท โดยกฎหมายจะบังคับให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ยอดขายเกิน 1,800,000 บาท (แต่จะเลือกเข้าระบบ VAT ก่อนยอดขายเกิน 1.8 ล้านก็สามารถทำได้เช่นกัน)

เมื่อจด VAT แล้วพ่อค้าแม่ค้าจะต้องจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% จากผู้บริโภค โดยคำนวณจากมูลค่าสินค้า แล้วนำส่งให้กรมสรรพากรซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บอีกที โดยต้องยื่นภาษีเป็นรายเดือน ซึ่งเรียกว่า “ภ.พ.30”

ดังนั้น เมื่อขายสินค้าจะต้องเรียกเก็บเงินจากลูกค้าเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 107 บาท (ค่าสินค้า 100 บาท + VAT 7 บาท) โดยค่าสินค้าจะทำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ส่วน VAT 7 บาท จะต้องนำส่งให้กรมสรรพากรในเดือนถัดไปโดยไม่ต้องนำไปคำนวณเป็นเงินได้ของกิจการ โดยภาษีที่เรียกเก็บจากตอนขายจะเรียกสั้นๆ ว่า ภาษีขาย

ในทางกลับกัน ถ้าซื้อสินค้ามาในราคา 107 บาท แสดงว่าสินค้านั้นจริงๆ ราคาเพียง 100 บาท แต่อีก 7 บาทนั้นคือ VAT ที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่จด VAT แล้วได้จ่ายตอนซื้อสินค้า ซึ่งค่าภาษี 7 บาทที่จ่ายไปตอนซื้อสินค้าเข้ามา เรียกสั้นๆ ว่า ภาษีซื้อ

การยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่จด VAT แล้วจะมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือน (เดือนภาษี) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมีภาษีมูลค่าเพิ่มต้องนำส่งหรือไม่ก็ตาม ซึ่งในแต่ละเดือนอาจเกิดผลลัพธ์แตกต่างกันดังต่อไปนี้

1. ภาษีขาย มากกว่า ภาษีซื้อ

กรณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนมียอดขายมากกว่ายอดซื้อ ดังนั้น จึงมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) มากกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนจ่ายออกไป (ภาษีซื้อ) ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องนำส่วนต่างนี้มานำส่งให้กรมสรรพากรพร้อมกับการยื่นภาษีรายเดือน((มาตรา 82/3 วรรคสอง ประมวลรัษฎากร))

2. ภาษีขาย เท่ากับ ภาษีซื้อ

กรณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนมียอดขายเท่ากับยอดซื้อ ดังนั้น จึงมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเท่ากับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนจ่ายออกไป เช่นนี้ ผู้ประกอบการจึงไม่มีภาระต้องนำส่วนต่างนี้ แต่ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีรายเดือนอยู่ดี

3. ภาษีขาย น้อยกว่า ภาษีซื้อ

กรณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนมียอดขายน้อยยอดซื้อ ดังนั้น จึงมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนจ่ายออกไป เช่นนี้ ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ แต่ไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษี เพราะตนจ่ายออกไปมากกว่าที่เรียกเก็บได้

ภาษีซื้อที่เหลืออยู่เนื่องจากหักออกจากภาษีขายไม่หมดนั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถเลือกใช้ประโยชน์เป็นเครดิตภาษีสำหรับการยื่นภาษีครั้งต่อไป หรือขอเงินคืนภาษีก็ได้

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

ในกรณีที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่จด VAT แล้ว จะได้ประโยชน์จากการซื้อขายสินค้าและบริการ คือ สามารถนำ VAT ที่ตัวเองจ่ายไปในฐานะภาษีซื้อมาหักกลบกับภาษีขาย ทำให้ภาระต้นทุนต่ำลงได้

เช่น จากเดิมต้นทุน 107 บาทจะเหลือเพียง 100 บาท เพราะลูกค้าของผู้ประกอบการจะเป็นผู้แบกรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 บาทให้แทน

อย่างไรก็ดี แม้ต้นทุนเรื่องสินค้าหรือบริการจะลดลง แต่การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะมีต้นทุนค่าทำบัญชีเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติตามให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ใช้คอนโดจด VAT ได้แล้ว

กรมสรรพากรอํานวยความสะดวกให้พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ ที่เป็นบุคคลธรรมดาและต้องการ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สามารถใช้ที่อยู่ในอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมขอจดทะเบียน VAT ผ่านระบบออนไลน์ได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป

คุณสมบัติของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่มีสิทธิ ใช้คอนโดจด VAT ได้

  • เป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย
  • อาศัยในอาคารชุด/คอนโดมิเนียม
  • จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
  • มีสถานประกอบการอยู่ในอาคารชุดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

รายการเอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อใช้อัปโหลดสำหรับลงทะเบียน

  1. สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ (กรณีเช่า) หรือ หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ (กรณีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้อสังหาริมทรัพย์นั้น โดยไม่มีค่าตอบแทน)
  2. เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานประกอบการ (กรณีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ใช้ที่อยู่อาศัยของตนเองเป็นสถานประกอบการ)
  3. สำเนาทะเบียนบ้านที่ตั้งสถานประกอบการ
  4. แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานประกอบการ พร้อมภาพถ่ายสถานประกอบการ
  5. สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารที่ใช้ประกอบกิจการ (ถ้ามี)

จุดเด่นของการให้บริการจด VAT ผ่านระบบออนไลน์ กรณีใช้คอนโดจด VAT

  1. ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
  2. ยื่นคำขอในเวลาที่กฏหมายกำหนด ต้องแนบเอกสารหลักฐาน
  3. ต้องมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
  4. สามารถแก้ไขข้อมูลได้ก่อนเวลา 17.00 น. ของวันที่ยื่นแบบคำขอฯ เท่านั้น

ขั้นตอนการจด VAT ผ่านระบบออนไลน์ กรณีใช้คอนโดจด VAT

  1. ไปที่ระบบบริการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) สำหรับผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้อาคารชุดเป็นสถานประกอบการ >> https://rdecommerce.rd.go.th/vatcondo/main/MainRegistration
  2. ใส่เลขบัตรประชาชน 13 หลัก พิสูจน์และยืนยันตัวตนดิจิทัล (NDID)
  3. อัปโหลดเอกสารที่เกี่ยวข้อง

หมายเหตุ

  • การยื่นรายการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ จะต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา
  • ผู้ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีภาระและหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามกฎหมาย
  • เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ควรอ่านคำแนะนำการจดทะเบียน และเลือกระบุประเภทการประกอบการฯ ที่ตรงกับความต้องการจดทะเบียนให้ถูกต้อง

ถอดบทเรียน “แม่น้องแมงปอ” ขายของออนไลน์เลี้ยงลูกป่วยติดเตียง โดนเก็บภาษีย้อนหลัง 12 ล้าน

  1. แม่จันทกร หรือที่ชาวเน็ตเรียกกันว่าแม่น้องแมงปอ เป็นคุณแม่ของน้องแมงปอ อายุ 14 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจนเป็นผู้ป่วยติดเตียง
  2. นอกจากน้องแมงปอแล้ว ยังมีคุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมและลูกสาวคนโตที่มีอาการป่วยที่สมองด้วยเช่นกัน แม่น้องแมงปอจึงเป็นคนเดียวที่แบกรับภาระดูแลคนในบ้าน 3 คน ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายสูงและมีความเครียดเรื่องดูแลคนในครอบครัวเป็นอย่างมาก เพราะมีเงินไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
  3. เมื่อปี 2561 แม่น้องแมงปอเริ่มหาทางออกให้ชีวิตโดยการเริ่มขายของผ่าน Facebook LIVE โดยช่วงแรกเริ่มจากรับน้ำพริกมาขาย หลังจากนั้นจึงเริ่มขยายไปขายของกินอื่นๆ เช่น หมูทอด หมูสวรรค์ หมูฝอย ขนมปั้นขลิบ คุกกี้ โดยเป็นสินค้าที่แม่น้องแมงปอทำขายเอง โดยขายผ่านช่องทาง Facebook และ TikTok
  4. เมื่อเริ่มได้ออกสื่อมากขึ้น ประกอบกับของกินรสชาติดี จึงเริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น หลายคนช่วยซื้อจนขายดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในช่วง 3 ปีล่าสุด มีเงินหมุนเวียนเข้าบัญชีธนาคารของแม่น้องแมงปอราว 80 ล้านบาท
  5. โดยปกติการขายของออนไลน์จะมีภาษี 2 ตัวที่คนขายของต้องรู้ ได้แก่ ภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตามกฎหมายภาษีแล้ว หากมียอดขายเกินปีละ 60,000 บาท จะต้องยื่นภาษีเงินได้ประจำปีด้วย และถ้าปีใดมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท ผู้ขายจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ยอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท และจะต้องเริ่มคิด VAT 7% จากราคาสินค้าที่ขายด้วย เช่น ถ้าเดิมขาย 100 บาท จะต้องคิด VAT เพิ่มอีก 7 บาท เพื่อนำ 7 บาทนั้นมาส่งให้สรรพากรเป็นรายเดือน
  6. ตลอดช่วงเวลาที่ขายของออนไลน์ แม่น้องแมงปอไม่เคยยื่นภาษีเงินได้ประจำปี ไม่เคยจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่เคยทำบัญชีรับจ่ายใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงไม่เคยเก็บหลักฐานต้นทุนค่าวัตถุดิบสินค้าหรือค่าขนส่งใดๆ ไว้เลย กิจการขายของออนไลน์ของแม่น้องแมงปอจึงเป็นธุรกิจเงินหมุนไปเรื่อยๆ ที่แม้แต่เจ้าของก็ไม่รู้ว่าปีๆ นึงมีรายรับรายจ่าย หรือกำไรขาดทุนเดือนละเท่าไหร่ มีเงินเข้าบัญชีกี่ครั้ง เป็นจำนวนมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญไม่เคยรู้ว่าเรื่องภาษีตนต้องทำอะไรบ้าง
  7. วันนึงเจ้าหน้าที่สรรพากรเดินทางมาพบที่บ้าน เพื่อชี้แจงว่าแม่น้องแมงปอมีภาษีค้างชำระและถูกประเมินภาษีย้อนหลังเป็นเงินค่าภาษีรวมค่าปรับต่างๆ แล้วเป็นเงินราว 12 ล้านบาท จึงเดินทางมาอธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเพื่อเปิดโอกาสให้มาแม่น้องแมงปอชี้แจงเส้นทางการเงินด้วย
  8. แม่น้องแมงปอยอมรับว่าที่ผ่านมาตัวเองผิดจริงที่ละเลยไม่ใส่ใจเรื่องภาษีมาก่อน หลังจากสรรพากรชี้แจงสถานการณ์ทำให้ตนเข้าใจมากขึ้นและมีความตั้งใจอยากทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ด้วยค่าภาษีที่ค้างอยู่จำนวนสูงมาก จึงต้องการขอผ่อนและขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สรรพากร แต่ไม่ขอรับบริจาคจากประชาชน ขอแค่ให้อุดหนุนสินค้าของตนก็พอ
  9. โดยปกติ เมื่อสรรพากรประเมินภาษีจะประเมินยอดขายที่คาดว่าเกิดขึ้น (เช่น ดูจากรายการเดินบัญชีเงินฝากธนาคาร) และหักต้นทุนค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% จากยอดขาย (คำนวณภาษีโดยเหมาว่ามีกำไร 40%) อาจทำให้เสียภาษีในอัตราที่สูง ซึ่งผู้เสียภาษีมีสิทธิ์โต้แย้ง และขอให้คำนวณภาษีโดยหักต้นทุนค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขี้นจริงได้ แต่เนื่องจากแม่น้องแมงปอไม่เคยทำบัญชี ไม่เคยเก็บหลักฐานรายจ่ายใดๆ เลย ทำให้ชี้แจงต้นทุนที่แท้จริงได้ยากว่าเป็นเท่าไหร่กันแน่ และค่ารักษาพยาบาลของน้องแมงปอก็ไม่สามารถนำมาหักเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายทางธุรกิจได้ เพราะเป็นรายจ่ายส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
  10. เมื่อถูกประเมินภาษีย้อนหลังในกรณีไม่เคยยื่นภาษีมาก่อน นอกจากจะต้องจ่ายภาษีที่ค้างชำระแล้ว จะมีบทลงโทษทั้งเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ค้าง และเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) อีก 1.5% ต่อเดือนจนกว่าจะชำระภาษีครบ เช่น หากถูกประเมินภาษีย้อนหลัง 1,000 บาท นอกจากต้องจ่ายค่าภาษี 1,000 บาทแล้ว ยังต้องจ่ายเบี้ยปรับอีก 2,000 บาท (รวมเป็น 3,000 บาท) และดอกเบี้ยอีกราวปีละ 18% ทำให้ทุกครั้งโดนภาษีย้อนหลัง บทลงโทษจึงรุนแรง
  11. รองอธิบดีกรมสรรพากร ดร.วินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ชี้แจงว่าเคสลักษณะนี้สรรพากรก็เห็นใจและยินดีช่วยเหลือ ซึ่งกรมสรรพากรมีมาตรการผ่อนปรนบทลงโทษได้อยู่แล้ว และสามารถขอผ่อนค่าภาษีค้างชำระได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดตามกฎหมายที่ผู้เสียภาษีต้องทำตามมาตรฐานตามกรอบของกฎหมายด้วย
  12. โฆษกกรมสรรพากรก็ชี้แจงเพิ่มว่าไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับใคร และให้คำแนะนำว่าหากประชาชนมีข้อสงสัยก็สามารถเข้ามาสอบถามที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ได้ และเตรียมเปิดห้องเรียนภาษีออนไลน์ให้มาอบรมรับความรู้ภาษีที่ถูกต้องด้วย
  13. สถานการณ์แบบนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมอยากทำ iTAX bnk บัญชีธนาคารจัดการภาษีอัตโนมัติสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์โดยไม่ต้องรู้ภาษี (www.itax.in.th/bnk) เพราะผมก็หวังว่าจะไม่มีใครต้องเจอเหตุการณ์แบบแม่น้องแมงปออีกเช่นกัน

หวังว่าเหตุการณ์ของแม่น้องแมงปอจะเป็นอุทาหรณ์ให้แม่ค้าออนไลน์ใส่ใจเรื่องภาษีมากขึ้น ถ้าติดกระดุมเม็ดแรกถูก เราจะสามารถทำธุรกิจได้อย่างสบายใจโดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังอีกต่อไป

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)