แนวทางปฏิบัติ ป้องกันโควิด 19 สําหรับประชาชนและกลุ่มเสี่ยง

ทั่วไป

3,869 VIEWS

กรมควบคุมโรค ได้จัดทำคำแนะนำแนวทางปฏิบัติเพื่อ ป้องกันโควิด 19 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติในการ ป้องกันโควิด สําหรับประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด ทีมงาน iTAX จึงนำมาสรุปเพื่อประโยชน์ในการป้องกันตัวเองจากการเจ็บป่วนและลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในระหว่างที่ยังรอวัคซีนโควิด โดยมีรายละเอียดดังนี้

10 แนวทางการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ป้องกันโควิด 19 และลดการแพร่เชื้อ 

  1. ออกจากบ้านเมื่อจําเป็นเท่านั้น หากออกนอกบ้านให้เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น แออัด หรือพื้นที่ปิด
  2. สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่ออยู่นอกบ้าน
  3. ใช้รถสาธารณะเมื่อจําเป็นเท่านั้น และหลีกเลี่ยงชั่วโมงเร่งด่วนหากต้องซ้อนมอเตอร์ไซด์ควรนั่งหันข้าง
  4. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วม หรือหลังจากไอ จาม หรือหลังสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผู้ใช้งานร่วมกันในที่สาธารณะ เช่น กลอนหรือลูกบิดประตู ราวจับ หรือราวบันได เป็นต้น
  5. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จําเป็น
  6. ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 70 ปี ผู้มีโรคเรื้อรังเช่นเบาหวานโรคหัวใจโรคความดัน โลหิตสูง โรคปอด และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ให้เลี่ยงการออกนอกบ้าน เว้นแต่จําเป็น ให้ออกนอกบ้านน้อยที่สุด ในระยะเวลาสั้นที่สุด
  7. แยกของใช้ส่วนตัวไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น
  8. เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ๆ ควรทานอาหารแยกสํารับหรือหากทานอาหารร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ออกกําลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  9. หากเดินทางกลับจากประเทศหรือพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ควรกักตัวเองที่บ้าน 14 วัน และปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
  10. หมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ เจ็บคอ มีน้ํามูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที 

แนวทาง ป้องกันโควิด 19 สําหรับกลุ่มเสี่ยง

ใครจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง

กลุ่มเสี่ยงสูง คือ กลุ่มบุคคลที่มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไปหากติดโควิด 19 ซึ่งได้แก่

  • หญิงตั้งครรภ์
  • กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา
  • ผู้สูงอายุ
  • คนที่มีโรคประจําตัว 7 กลุ่มโรค

รายชื่อ 7 กลุ่มโรคประจำตัวเสี่ยงสูง

กองสุขศึกษา กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคต่อไปนี้ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง และถือเป็นกลุ่มนำร่องที่จะต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อน

  1. โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง
  2. โรคหัวใจและหลอดเลือด
  3. โรคไตวายเรื้อรัง
  4. โรคหลอดเลือดสมอง
  5. โรคอ้วน
  6. โรคมะเร็ง
  7. โรคเบาหวาน

คําแนะนําสําหรับผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ผู้สูงอายุถือเป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มวัยอื่น การอยู่รวมกันเป็นครอบครัวที่มีสมาชิกในบ้านมีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง อาจทําให้ผู้สูงอายุติดเชื้อได้

ดังนั้น ผู้สูงอายุและบุคคลในครอบครัว ควรมีการปฏิบัติตน เพื่อการป้องกันการรับสัมผัสและแพร่กระจายเชื้อโรค โดยให้คำแนะนำสำหรับแต่ละกลุ่ม ดังนี้

กลุ่มผู้สูงอายุ

  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ําและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70 % ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าส้วม หรือเมื่อสัมผัสสิ่งของร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก
  • เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ๆ ควรทานอาหารแยกสํารับ หรือหากทานอาหาร ร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ออกกําลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หากไอ จาม ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากหรือใช้ข้อศอกปิดปากจมูก และทํา ความสะอาดมือด้วยสบู่และน้ําหรือเจลแอลกอฮอล์ทันที หรือให้สวมหน้ากาก หลีกเลี่ยงการอยู่ ใกล้ชิดผู้ที่มีอาการหวัด มีไข้ ไอ จาม มีน้ํามูก
  • งดออกจากบ้านหรือเข้าไปในบริเวณที่มีคนแออัด หากจําเป็นให้ใส่หน้ากากอนามัยหรือ หน้ากากผ้า ใช้เวลาน้อยที่สุด รักษาระยะห่างจากบุคคลอื่น 1 – 2 เมตร หลีกเลี่ยงการสวมกอด หรือพูดคุยในระยะใกล้ชิดกับบุคคลอื่น และเปลี่ยนมาใช้การสื่อสารทางโทรศัพท์ หรือ Social media เป็นต้น
  • หากมีโรคประจําตัว ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็ง ควรจัดเตรียมยาสํารองสําหรับรักษาโรคประจําตัวของ ผู้สูงอายุไว้ ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ หากถึงกําหนดตรวจตามนัด ให้ติดต่อขอคําแนะนําจาก แพทย์ และให้ญาติไปรับยาแทน
  • ดูแลสภาพจิตใจของตนเอง ไม่ให้เครียดเกินไป หาวิธีผ่อนคลายความเครียด เช่น การออกกําลังกาย ที่เหมาะสมกับสุขภาพ (เช่น รํามวยจีน โยคะ) ฟังเพลง ร้องเพลง หรือเล่นดนตรี ปลูกต้นไม้ ทําสวน จัดห้อง ตกแต่งบ้าน เล่นกับสัตว์เลี้ยง สวดมนต์ นั่งสมาธิ การฝึกหายใจคลายเครียด ทําบุญตักบาตร เป็นต้น

กลุ่มผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ

  • หมั่นสังเกตตนเอง ว่ามีอาการไข้ หรืออาการทางเดินหายใจหรือไม่ หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรงดการใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ
  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้สูงอายุโดยไม่จําเป็น หาวิธีการสร้างความสัมพันธ์อันดี โดยรักษาระยะห่างกับผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่ทําหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และล้างมือทุกครั้งก่อนให้การดูแล

คําแนะนําสําหรับผู้ที่มีโรคประจําตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคระบบทางเดินหายใจ

ผู้ที่มีโรคประจําตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง และโรคระบบทางเดินหายใจ หากมีการติดเชื้อโควิด 19 จะมีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อหรือป่วยรุนแรง จึงให้คำแนะนำสำหรับแต่ละกลุ่ม ดังนี้

กลุ่มผู้ป่วย

  • ให้อยู่ในที่พักอาศัย เว้นการคลุกคลีใกล้ชิดกับบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ดูแลรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล 1 – 2 เมตร
  • หากต้องออกนอกที่พักอาศัยไปในพื้นที่ที่มีคนแออัด หรือโดยสารรถสาธารณะ ให้สวม หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา
  • งดใช้ของหรือเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • มีหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อของสถานพยาบาลที่รักษาประจํา เพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพ
  • ติดต่อสถานพยาบาลที่รักษาประจําก่อนกําหนดนัด เพื่อรับทราบข้อปฏิบัติ เช่น ให้ญาติหรือผู้อื่นไปรับยาแทน ให้ไปรับยาใกล้บ้าน หรือให้ย้ายไปตรวจที่สถานพยาบาลอื่น
  • รับประทานยาสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจสุขภาพตนเอง เช่น วัดความดันโลหิต หรือวัดระดับน้ําตาลในเลือดเองที่บ้าน
  • หากมีอาการป่วยฉุกเฉิน ให้โทรเรียก 1669

กลุ่มญาติ ผู้ใกล้ชิด และผู้ดูแลผู้ป่วย

  • สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ให้การดูแล
  • ล้างมือก่อนและหลังการให้การดูแล
  • หากมีอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ เช่น มีน้ํามูก ไอ เจ็บคอ หรือรู้สึกมีไข้ ต้องงดการให้การดูแล หรืออยู่ใกล้ชิด ควรมอบหมายผู้อื่นทําหน้าที่แทน
  • ทําความสะอาดเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องใช้ประจําร่วมกันในบ้าน เช่น เครื่องวัดความดันโลหิตด้วยแอลกอฮอล์

คําแนะนําสําหรับผู้ปกครองของกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี

โรคโควิด 19 มีอันตรายต่อเด็กเช่นเดียวกับโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั่วไป เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดธรรมดา จึงมีคําแนะนําสําหรับผู้ปกครอง ดังนี้ 

  • ห้ามพาเด็กออกไปที่สาธารณะโดยไม่จําเป็น ควรให้เด็กเล่นในบ้าน
  • เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ใกล้ชิดคนอื่นให้น้อยที่สุด
  • ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กไม่ควรออกไปนอกบ้าน ถ้าจําเป็นต้องออกไปเมื่อกลับมาถึงบ้าน ต้องอาบน้ํา เปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนมาเล่นกับเด็ก
  • สอนเด็กล้างมือ ใส่หน้ากาก กินอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุก สะอาด และนอนพักผ่อน
    ให้เพียงพอ
  • หากเด็กติดเชื้อโควิด 19 อาการของโรค เริ่มตั้งแต่มีอาการหวัดน้อยๆ จนถึงปอดอักเสบหรือปอดบวม และหากมีโรคประจําตัว ก็จะมีอาการชัดเจนอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ถ้าเริ่มมีอาการ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

คําแนะนําสําหรับหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด ที่มีหน้าที่ดูแลเด็กเล็ก

เนื่องจากเชื้อโควิด 19 เป็นเชื้อไวรัสชนิดใหม่ ยังไม่มีข้อมูลว่าหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไปหรือไม่ จึงมีคําแนะนําดังนี้ 

การดูแลหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด กลุ่มปกติ

กลุ่มปกติ คือ กลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ ใช้หลักการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้ออย่างเคร่งครัด โดย

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ที่มีไข้ หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ หรือผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง
  • หลีกเลี่ยงการอยู่สถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรือรวมกลุ่มกันจํานวนมาก
  • สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่อออกนอกบ้าน
  • หากต้องอยู่ในสถานที่สาธารณะ ควรเว้นระยะห่างจากบุคคลอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณดวงตา ปาก และจมูก
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ
  • แยกภาชนะรับประทานอาหารและงดใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70%
  • เฝ้าระวังอาการ โดยเฉพาะอาการไข้หรืออาการระบบทางเดินหายใจ หากมีอาการป่วยเล็กน้อย ควรพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ถ้ามีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจเหนื่อย ควรรีบไปพบแพทย์
  • หากถึงกําหนดนัดฝากครรภ์ สามารถติดต่อขอคําแนะนํากับแพทย์ที่ฝากครรภ์ เพื่อพิจารณาความจําเป็นในการไปตรวจตามนัด 

การดูแลหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19

กลุ่มเสี่ยงในที่นี้ ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง หรือสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด 19

  • แยกตนเองออกจากครอบครัวและสังเกตอาการจนครบ 14 วัน งดการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
  • งดออกไปในที่ชุมชนโดยไม่จําเป็น และอยู่ห่างจากผู้อื่นในระยะ 1 – 2 เมตร
  • กรณีครบกําหนดนัดฝากครรภ์ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง 14 วัน เพื่อพิจารณาเลื่อนการฝากครรภ์ และปฏิบัติตามคําแนะนําของเจ้าหน้าที่
  • กรณีเจ็บครรภ์คลอด ต้องไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง 14 วัน

คําแนะนําสําหรับการดูแลทารกแรกเกิด กรณีแม่เป็นผู้ที่สงสัยติดเชื้อหรือติดเชื้อโควิด 19

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานการติดต่อผ่านทางรกหรือผ่านทางน้ํานม แต่ทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อโควิด 19 จัดเป็นผู้มีความเสี่ยง จะต้องมีการแยกตัวออกจากทารกอื่น และต้องสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน

สําหรับแนวทางการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อคํานึงถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการในการแพร่เชื้อไวรัสผ่านทางน้ํานม ดังนั้น ทารกจึงสามารถกินนมแม่ได้ โดยปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด ดังนี้

กรณีแม่เป็นผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อหรือติดเชื้อโควิด 19 แล้ว แต่อาการไม่มาก

สามารถกอดลูก และให้นมจากเต้าได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแม่และครอบครัว ต้องปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด

กรณีแม่ที่ติดเชื้อโควิด 19 และมีอาการชัดเจน

หากยังสามารถบีบน้ํานมได้ ให้ใช้วิธีบีบน้ํานมและให้ผู้ช่วยเป็นผู้ป้อนนมแก่ลูก หากไม่สามารถบีบน้ํานมเองได้ อาจพิจารณาใช้นมผงแทน

ข้อปฏิบัติในกรณีให้ทารกกินนมจากเต้า

  1. อาบน้ําหรือเช็ดทําความสะอาดบริเวณเต้านมและหัวนมด้วยสบู่และน้ํา
  2. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ํา นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้แอลกอฮอล์เข้มข้น 70% เช็ดทําความสะอาด
  3. สวมหน้ากากอนามัยตลอดการทํากิจกรรมเกี่ยวกับการให้นมลูก
  4. ไม่สัมผัสบริเวณใบหน้าของทารก เช่น การหอมแก้ม

ข้อปฏิบัติในการบีบน้ํานม และการป้อนนม

  1. อาบน้ําหรือเช็ดทําความสะอาดบริเวณเต้านมและหัวนมด้วยน้ําและสบู่ 
  2. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ําและสบู่ นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้แอลกอฮอล์เข้มข้น 70% เช็ดทําความสะอาด
  3. สวมหน้ากากอนามัย ตลอดการทํากิจกรรมเกี่ยวกับการเตรียมนม การบีบน้ํานม และการให้นม
  4.  ไม่สัมผัสบริเวณใบหน้าของทารก เช่น การหอมแก้ม
  5. หาผู้ช่วยหรือญาติที่มีสุขภาพแข็งแรง ทราบวิธีการป้อนนมที่ถูกต้อง และต้องปฏิบัติตามวิธีการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยนําน้ํานมแม่มาป้อนด้วยการใช้ช้อน ถ้วยเล็ก หรือขวดนม
  6. ล้างทําความสะอาดอุปกรณ์ เช่น ที่ปั๊มนม ขวดนม ด้วยน้ํายาล้างอุปกรณ์ และทําการนึ่งฆ่าเชื้อหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม

เมื่อพบอาการติดเชื้อ รีบเข้ารับการรักษาภายใน 48 ชั่วโมง

หากพบผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจําตัว เช่น โรคปอด โรคเบาหวาน มีอาการทางเดินหายใจ ไอ เจ็บคอ หายใจเหนื่อย มีน้ํามูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที หากมาช้าเกิน 48 ชั่วโมง จะมีโอกาสเสียชีวิตได้

สายด่วน 1668 ติดต่อกรมการแพทย์ ประสานงานผู้ติดเชื้อโควิด

การลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19

ขณะนี้ประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้แล้วโดยเปิดให้จองคิวสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงสูงก่อน ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2564 และจะเริ่มฉีดให้ตั้งแต่ 7 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2564 ส่วนบุคคลทั่วไปจะเริ่มจองได้ในเดือนกรกฎาคม 2564 และจะเริ่มฉีดในเดือนสิงหาคม 2564

ทั้งนี้ การลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีน สามารถทำได้ด้วยตัวเองหรือทำให้คนใกล้ชิดได้ผ่านไลน์ ‘หมอพร้อม’

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)