นายกฯ รับทราบปม ‘ภาษีคริปโต’ มอบ ‘สรรพากร’ ต้องชี้แจงให้ชัด

ทั่วไป

นายกฯ รับทราบข้อกังวล ภาษีคริปโต มอบสรรพากร ชี้แจงวิธีคำนวณภาษีและการยื่นภาษีประจำปีให้ชัดเจน ย้ำรัฐบาลเน้นสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาตลาดเงินสมัยใหม่กับความเข้าใจของประชาชน เตือนหาความรู้ก่อนลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล

9 มกราคม 2565 – นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบถึงข้อกังวลของหลายฝ่ายต่อกรณีที่กรมสรรพากรได้กำหนดให้ผู้ที่มีกำไรจาการขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ภาษีคริปโต เช่น คริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีประจำปี ว่าจะสร้างอุปสรรคต่อการพัฒนาตลาดการเงินสมัยใหม่ รวมถึงสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้ Startup กลุ่ม FinTech (เทคโนโลยีด้านการเงิน) เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

รัฐบาลไม่ปิดกั้นเทคโนโลยีใหม่ๆ นายกฯ มอบ ‘สรรพากร’ ชี้แจงให้เกิดความชัดเจนปม ภาษีคริปโต

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายปิดกั้นการพัฒนาใหม่ๆ ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมใดรวมถึงกลุ่ม FinTech เพียงแต่ส่วนใดที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ มีกลุ่มคนเข้าใจในวงจำกัดและจะเกี่ยวข้องกับการนำทรัพย์สินของประชาชนมาลงทุนนั้น รัฐบาลต้องใช้ความระมัดระวัง พิจารณาอย่างรอบด้านก่อนให้การสนับสนุน เช่นที่ผ่านมามี Startup กลุ่มเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาระดมทุนในประเทศไทยมาก รัฐบาลก็ออกนโยบายยกเว้นภาษีกองทุนร่วมลงทุน (Venture capital) ให้ เพื่อจูงใจให้มีการลงทุนจริงในประเทศ ส่วนการซื้อขายคริปโตเคอเรนซี่นั้นยังเน้นการซื้อขายเหรียญเพื่อทำกำไรเท่านั้น ขณะที่ความเข้าใจของผู้ลงทุนยังอยู่ในวงจำกัด

“กรณีที่มีผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้สะท้อนว่า หลักเกณฑ์การคิดภาษีจากกำไรการขายสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ลงทุนแต่ละประเภทยังไม่มีความชัดเจน นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลังดำเนินการชี้แจงให้เกิดความชัดเจนต่อไป”

น.ส.ไตรศุลี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ติดตามการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมาโดยตลอด โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายกระทรวงการคลังให้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาคเอกชนในการศึกษาความเหมาะสมในเชิงนโยบาย โดยข้อมูลล่าสุดก็ได้เห็นพัฒนาการของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลว่าเริ่มเป็นที่นิยม แต่ก็ยังยอมรับกันในวงจำกัด หากเร่งให้การสนับสนุนโดยไม่พิจารณาอย่างรอบด้าน อาจเกิดวิกฤตคริปโตฯ เช่นเดียวแบบเดียวกับวิกฤตการเงินได้

“รัฐบาลไม่ปฏิเสธการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล นโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีคือต้องให้ผู้ลงทุนมีความเข้าใจ รู้เท่าทันในระดับที่มากและกว้างขวางพอ วางเกณฑ์การกำกับที่ดีและมีนโยบายการสนับสนุนด้านต่างๆ รวมถึงเรื่องของภาษีไปพร้อมกัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจสูงสุด และท่านก็ได้ฝากความห่วงใยถึงผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลทุกคนว่าขอให้ทำความเข้าใจตลาดอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุนด้วย” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวทิ้งท้าย

ย้อนร้อยประเด็น ‘ภาษีคริปโต’ ในไทย เริ่มจากโฆษกสรรพากรชี้แจง ต้องเสียภาษีจากกำไรเป็นรายธุรกรรม

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 คุณสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี และโฆษกกรมสรรพากร ได้ออกมาชี้แจงประเด็น “ภาษีคริปโต” ในนามกรมสรรพากรในรายการ Morning Wealth ของ The Standard Wealth สำหรับข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับภาษีคริปโต เป็นเวลา 30 นาที (ช่วงครึ่งหลังตั้งแต่นาทีที่ 30 เป็นต้นไป)

จากคำชี้แจงของโฆษกกรมสรรพากรภายในรายการ จึงนำมาสู่สถานการณ์ภาษีคริปโตของไทยซึ่งสรุปได้เป็น 10  ประเด็นสำคัญ ดังนี้

  1. กำไรจากการขายคริปโตตามกฎหมายไทย คิดเป็น “รายธุรกรรม” กล่าวคือ หากธุรกรรมแรกมีกำไร 100 บาท ธุรกรรมที่สองขาดทุน 100 บาท ผู้เสียภาษีจะต้องนำกำไร 100 บาทจากธุรกรรมแรกมายื่นภาษี ส่วนธุรกรรมที่สองซึ่งขาดทุน 100 บาท ไม่สามารถนำมาหักกลบจากกำไรของธุรกรรมแรกได้
  2. ถ้าซื้อขายผ่านกระดานเทรด (Exchange) แล้วเก็บเงินเอาไว้ในกระดานเทรดโดยไม่ได้ถอนเงินสดออกมา ก็ต้องเสียภาษีอยู่ดี เพราะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใช้เกณฑ์เงินสด (cash basis) คือ เกิดรายได้เมื่อไหร่เป็นรายได้เมื่อนั้น ดังนั้น หากขายคริปโตแล้วได้กำไร ย่อมเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แม้ว่าเงินนั้นจะยังไม่ได้ถอนออกมา แต่ยังไม่มีคำชี้แจงกรณีนำเหรียญนึงไปแลกกับคู่เหรียญอื่นๆ ว่าจะเกิดกำไรได้หรือไม่ และยังไม่ได้ชี้แจงในกรณีนำเหรียญไปแลกกับ stable coin ว่าถือว่ามีกำไรแล้วหรือไม่
  3. เหรียญที่ได้จากการ Locked Staking ก็ต้องเสียภาษีเหมือนกัน มองเหมือนดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร แต่ยังไม่มีคำชี้แจงว่าหากเหรียญที่ได้รับมูลค่า 5 บาทนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงมูลค่าระหว่างปี จะให้ใช้มูลค่าใดนำแสดงเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี
  4. กรมสรรพากรได้พูดคุยกับกระดานเทรดในประเด็นภาษีคริปโตแล้วเพื่อหาทางอำนวยความสะดวกสำหรับการส่งธุรกรรมที่เกิดขึ้นของผู้เสียภาษีให้กรมสรรพากร ซึ่งเป็นเรื่องความร่วมมือในอนาคต
  5. รายได้จากการขุด (Mining) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง แต่ยังไม่ได้ชี้แจงว่าใช้มูลค่า ณ เวลาใดสำหรับแสดงเป็นรายได้ (เช่น อ้างอิงมูลค่า ณ เวลาที่ขุดได้?)
  6. โฆษกกรมสรรพากรยืนยันว่ากรมสรรพากรมี big data และมีการทำ data analytics เพื่อวิเคราะห์ว่าผู้เสียภาษีรายใดจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มไม่เสี่ยง หากเจ้าหน้าที่สรรพากรมีข้อสงสัยว่าแสดงรายได้ไม่ครบถ้วน ก็สามารถขอเชิญให้ผู้เสียภาษีชี้แจงได้ หากพิสูจน์ได้ว่าแสดงรายได้ครบถ้วนแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าพบว่าผู้เสียภาษีแสดงรายได้ต่ำกว่าข้อมูลที่กรมสรรพากรมี ทางกรมจะขอให้ผู้เสียเสียภาษียื่นและชำระภาษีเพิ่มเติมจากส่วนที่ขาด ซึ่งหากเป็นการชำระเพิ่มเติมหลังจากหมดเวลายื่นภาษีประจำปีแล้ว จะต้องชำระเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ยเนื่องจากชำระภาษีล่าช้า) โดยคำนวณจากเฉพาะภาษีที่ชำระไว้ขาด ในอัตรา 1.5% ต่อเดือน แต่ไม่มีค่าปรับอื่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด เนื่องจากยื่นภาษีแล้ว เพียงแต่แสดงรายได้ไม่ครบถ้วน
  7. กรมสรรพากรยอมรับว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติที่ต้องให้ผู้ขายแจ้งผู้ซื้อว่าตนมีกำไรเท่าไหร่จากธุรกรรมดังกล่าว แต่ถ้าผู้ขายไม่แจ้งผู้ซื้อว่าตนมีกำไรเท่าไหร่ ก็ให้ผู้ซื้อหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากยอดซื้อทั้งจำนวนเลย ดังนั้น ผู้ขายต้องรักษาสิทธิ์ของตนโดยแจ้งผู้ซื้อให้ทราบก่อนว่าตนมีกำไรเท่าไหร่ เพื่อให้หักภาษี ณ ที่จ่ายได้อย่างถูกต้อง
  8. กรมสรรพากรเข้าใจว่าในทางปฏิบัติอาจมีข้อสงสัยว่าการซื้อขายผ่านกระดานเทรด จะเป็นการตั้งราคาเสนอซื้อ-ขาย ซึ่งผู้ซื้อไม่อาจทราบได้ว่าผู้ขายเป็นใคร จะหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ผ่านระบบของกระดานเทรดได้อย่างไร รวมถึงจะระบุชื่อผู้ขายและส่งหนังสือรับรองการให้ภาษี ณ ที่จ่ายให้ผู้ขายด้วยวิธีการใด ซึ่งกรมสรรพากรมีความตั้งใจจะอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษี โดยกำลังหารือแนวทางดังกล่าวกับกระดานเทรดเพื่อหาความชัดเจนขึ้นในอนาคต
  9. กฎหมายออกมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ที่เพิ่งเริ่มเคลื่อนไหวปี 2565 เพราะกรมสรรพากรพบว่าในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา มีการเทรดกันอย่างคึกคัก จึงมีความห่วงใยผู้เสียภาษีว่าจะลืมไปว่ารายได้จากการขายคริปโตเคอร์เรนซี่จะต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2564 ในช่วงต้นปี 2565 ด้วย จึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้เสียภาษีทราบถึงหน้าที่ดังกล่าว จะได้ไม่หลุดหลงไปจนลืมยื่นภาษีและรับบทลงโทษในภายหลัง ทั้งนี้ เนื่องจากเดิมกฎหมายภาษีคริปโตเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 ซึ่งสถานการณ์ตลาดคริปโตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ก็มีโอกาสที่กฎหมายภาษีคริปโตอาจเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ เหมือนดังเช่นในอดีตที่ไม่เคยมีกฎหมายกำหนดว่ากำไรจากคริปโตเป็นเงินได้ประเภทใด จนเมื่อปี 2561 จึงกำหนดให้ชัดเจนว่าเป็นเงินได้จากการลงทุนกลุ่มเดียวกับพวกดอกเบี้ย เงินปันผล
  10. แนวปฏิบัติที่ชัดเจนของกรมสรรพากรจะออกมาในรูปแบบ Q&A ภายในเดือนนี้เลย (มกราคม 2565) ซึ่งจะเป็นมาตรฐานที่ใช้ร่วมกันทั้งผู้เสียภาษีและเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นขึ้นในการปฏิบัติจริง
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)