ซื้อประกันลดหย่อนภาษี ประกันแบบไหนได้ลดหย่อนภาษี?

ลดหย่อนภาษี

12,184 VIEWS

การวางแผน “ซื้อประกันลดหย่อนภาษี” เป็นทางเลือกที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ซึ่งปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้ประกัน 4 ประเภทต่อไปนี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

1. ประกันชีวิตทั่วไป

เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน ฿100,000 สำหรับคนที่ทำประกันชีวิตแบบทั่วไปให้ตัวเอง ซึ่งปัจจุบันรวมถึง เงินฝากแบบมีประกันชีวิต ด้วย

ส่วนเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ก็สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงได้เช่นกัน แต่เพดานสิทธิจะลดลงเหลือไม่เกิน ฿10,000


ซื้อประกันชีวิตลดหย่อนภาษีบริษัทไหนดี?

มาตรวจสอบผลประโยชน์ของประกันชีวิตยี่ห้อต่างๆ กันไหม?

เปรียบเทียบแบบประกัน


สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

ประกันชีวิตของตัวเอง

คนที่ทำประกันชีวิตให้ตัวเองสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตจากกรมธรรม์ทุกฉบับไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดเพดานให้หักลดหย่อนได้ไม่เกิน ฿100,000

เช่น ถ้าคุณจ่ายเบี้ยประกันชีวิตไป ฿200,000 คุณจะนำเบี้ยประกันชีวิตไปหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแค่ไม่เกิน ฿100,000 เท่านั้น

ประกันชีวิตของคู่สมรส

ส่วนคนที่ทำประกันชีวิตให้คู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดเพดานให้หักลดหย่อนได้ไม่เกิน ฿10,000 โดยคุณจะต้องเป็นคู่สมรสกันตลอดทั้งปี (ไม่ได้พึ่งแต่งงานกันในปีภาษีนี้)

เช่น ถ้าคุณจ่ายเบี้ยประกันชีวิตให้คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ไป ฿200,000 คุณจะนำเบี้ยประกันชีวิตไปหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแค่ไม่เกิน ฿10,000 เท่านั้น

หมายเหตุ: หากทั้งคุณและคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีรายได้ คู่สมรสสามารถใช้สิทธินำเบี้ยประกันชีวิตส่วนของตัวเองไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน ฿100,000 

เงื่อนไขการรับสิทธิ

เราจะสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตของเรามาหักลดหย่อนได้ ถ้าเข้าครบเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้

  • กรมธรรม์ประกันชีวิตมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
  • ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
  • ถ้ามีการจ่ายเงินคืนเงินปันผลหรือผลตอบแทนระหว่างสัญญา จะต้องได้รับเงินคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี (ถ้าได้รับเงินคืนตามช่วงระยะเวลา เช่น จ่ายคืนทุก 3 ปี หรือ 5 ปี ยอดเงินคืนจะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลา)
  • แจ้งบริษัทประกันชีวิตว่าต้องการนำเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี (ดูช่องทางแจ้งขอใช้สิทธิของแต่ละบริษัท)

แต่ถ้าทำผิดเงื่อนไข เช่น เลิกสัญญาฯ หรือเวนคืนกรมธรรม์ก่อนจะถือครบ 10 ปี (ไม่ว่าจะโดยความตั้งใจหรือเหตุสุดวิสัยอื่น เช่น ทุพพลภาพ) คุณจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนจากเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ฉบับนั้นได้อีกและมีผลย้อนหลังไปถึงการใช้สิทธิลดหย่อนในอดีตด้วย

กล่าวคือ คุณต้องกลับไปคำนวณภาษีในทุกๆ ปีภาษีที่มีการใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตนั้นใหม่อีกครั้ง เสมือนว่าไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนดังกล่าวในปีนั้นๆ เพื่อเสียภาษีส่วนต่างเพิ่มเติม พร้อม เงินเพิ่ม (ดอกเบี้ยทางภาษี) เพิ่มเติมอีกด้วย

2. ประกันสุขภาพตนเอง

เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ใช้เป็นลดหย่อนภาษีได้ ตามที่จ่ายจริง สำหรับคนที่ทำประกันสุขภาพให้ตัวเอง แต่ต้องไม่เกิน ฿25,000 และเมื่อรวมกับ เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป และ เงินฝากแบบมีประกันชีวิต แล้วจะต้องไม่เกิน ฿100,000 ด้วย

เบี้ยประกันชีวิตสุขภาพตนเอง เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีหลักเกณฑ์การลดหย่อนแตกต่างจากเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแต่มีความเกี่ยวพันกันเนื่องจากต้องใช้เพดานสิทธิ์ลดหย่อน ฿100,000 ร่วมกัน

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ที่จ่ายไปตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง ได้สูงสุดปีละไม่เกิน ฿25,000 และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปและเงินฝากแบบมีประกันชีวิต จะต้องไม่เกิน ฿100,000 ด้วย

เงื่อนไขการรับสิทธิ

เราจะสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพตนเองมาหักลดหย่อนได้ ถ้าเป็นการคุ้มครองการประกันสุขภาพที่รับประกันโดยบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในไทยที่คุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่

  • การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
  • การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลการทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
  • การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
  • การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป คุณต้องแจ้งความประสงค์กับบริษัทประกันด้วยว่าต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เนื่องจากบริษัทประกันเองก็มีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลการใช้สิทธิของคุณให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 7 มกราคมของทุกปีด้วยเช่นกัน (ดูช่องทางแจ้งขอใช้สิทธิของแต่ละบริษัท)


ซื้อประกันสุขภาพตัวไหนลดหย่อนภาษีได้?

มาตรวจสอบผลประโยชน์ของประกันสุขภาพยี่ห้อต่างๆ กันไหม?

เปรียบเทียบแบบประกัน


3. ประกันชีวิตแบบบำนาญ

เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ใช้ลดหย่อนภาษีได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของ “เงินได้ที่ต้องเสียภาษี” (ไม่ว่าจะเอามารวมยื่นภาษีด้วยหรือไม่) และไม่เกิน ฿200,000 ต่อปี สำหรับคนที่ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ และอาจจะลดหย่อนได้สูงสุด ฿300,000 ถ้ายังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อน เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

คนที่ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำเบี้ยประกันนั้นไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดเพดานให้หักลดหย่อนได้ไม่เกินจำนวนที่น้อยกว่าระหว่าง 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปี หรือ ฿200,000 ต่อปี ขึ้นอยู่กับว่าจำนวนใดน้อยกว่าก็ให้หักลดหย่อนตามนั้น

แต่ถ้าคุณยังใช้สิทธิ์หักลดหย่อน เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป ไม่ครบ ฿100,000 คุณมีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญบางส่วนไปหักลดหย่อนในฐานะเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปก่อน ดังนี้

  • ส่วนแรก – เอาไปหักลดหย่อนแทนเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปจนครบ ฿100,000 ก่อน
  • ส่วนที่เหลือ – เอาไปหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญจนครบ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีแต่ไม่เกิน ฿200,000

เช่น ถ้ามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปีเป็นเงิน ฿1,000,000 แล้วจ่ายเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไป ฿250,000 ที่จริงแล้วจะหักได้ตามที่จ่ายจริงแค่ไม่เกิน ฿150,000 เท่านั้น (15% x รายได้ ฿1,000,000)

ถ้ายังไม่ได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป เราสามารถแบ่งเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปหักลดหย่อนแทนเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปก่อนได้ ฿100,000 จากนั้นจึงนำเบี้ยประกันส่วนที่เหลืออีก ฿150,000 ให้นำไปหักลดหย่อนในฐานะเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญจริงๆ

ทั้งนี้ ค่าลดหย่อนที่ได้รับสิทธิจากการซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญนี้เมื่อรวมกับเงินที่จ่ายเข้า กองทุน RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข. หรือ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน แล้วจะต้องไม่เกิน ฿500,000 ด้วย


ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญตัวไหนดี?

เปรียบเทียบก่อน ซื้อประกันลดหย่อนภาษี กันไหม?

เปรียบเทียบแบบประกัน


เงื่อนไขการรับสิทธิ

เราจะสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตของเรามาหักลดหย่อนได้ ถ้าเข้าครบเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้

  • กรมธรรม์ประกันชีวิตมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
  • ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
  • จ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ โดยจะจ่ายเป็นจำนวนเงินเท่ากันทุกงวดหรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้
  • กำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เมื่อเรามีอายุตั้งแต่ 55 – 85 ปี หรือมากกว่านั้น
  • ต้องจ่ายเบี้ยประกันครบก่อนได้รับผลประโยชน์
  • แจ้งบริษัทประกันชีวิตว่าต้องการนำเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี (ดูช่องทางแจ้งขอใช้สิทธิของแต่ละบริษัท)

4. ประกันสุขภาพพ่อแม่

เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา หรือประกันสุขภาพพ่อแม่ ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดปีละ ฿15,000 สำหรับคนที่จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา (คนละตัวกับประกันสุขภาพตนเองที่ลดหย่อนได้สูงสุด ฿25,000)

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

การจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายให้ทั้งพ่อและแม่นั้นไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง รวมที่จ่ายให้ทุกคนสามารถใช้ลดหย่อนได้สูงสุดปีละไม่เกิน ฿15,000

ถ้าคู่สมรสของคุณไม่มีเงินได้ เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ของคู่สมรสก็นำไปใช้หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดปีละไม่เกิน ฿15,000

ในกรณีที่คุณจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาร่วมกันพี่น้องคนอื่น สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะเฉลี่ยตามจำนวนพี่น้องที่จ่ายร่วมกัน เช่น จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาไปจริง ฿15,000 และมีคุณกับพี่น้องคนอื่นร่วมกันจ่ายทั้งหมดรวม 3 คน แต่ละคนจะมีสิทธิหักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาได้คนละ ฿5,000 (เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ฿15,000 ÷ 3 คน)

เงื่อนไขการรับสิทธิ

พ่อแม่เรา

คุณเองก็มีสิทธิหักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาได้ถ้าทำตามเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้

  • คุณเป็นลูกแท้ๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมายของพ่อแม่ (ลูกบุญธรรมไม่มีสิทธิหักลดหย่อน)
  • พ่อแม่มีรายได้ทั้ง ปีภาษี ไม่เกิน ฿30,000 (ถ้า ฿30,000 พอดีก็ยังไม่ผิดเงื่อนไข)
  • ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเกณฑ์อายุของพ่อแม่ (อายุเท่าไหร่ก็ได้)
  • อย่างน้อยต้องมีเราหรือพ่อแม่เราคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น
  • เป็นความคุ้มครองพ่อแม่อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่
    • เป็นประกันภัยคุ้มครองการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ;
    • เป็นประกันภัยอุบัติเหตุที่คุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูกด้วย;
    • เป็นประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses); หรือ
    • เป็นประกันภัยแบบดูแลระยะยาว (Long Term Care)

พ่อแม่คู่สมรส

คุณเองก็มีสิทธิหักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่คู่สมรสได้ถ้าทำตามเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้

  • คู่สมรสไม่มีรายได้เลยตลอดปีภาษีนั้น
  • คู่สมรสของคุณเป็นลูกแท้ๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมายของพ่อแม่ (ลูกบุญธรรมไม่มีสิทธิหักลดหย่อน)
  • พ่อแม่มีรายได้ทั้งปีภาษี ไม่เกิน ฿30,000 (฿30,000 พอดีก็ยังไม่ผิดเงื่อนไข)
  • ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเกณฑ์อายุของพ่อแม่ (อายุเท่าไหร่ก็ได้)
  • อย่างน้อยต้องมีเราหรือพ่อแม่เราคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น
  • เป็นความคุ้มครองพ่อแม่อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่
    • เป็นประกันภัยคุ้มครองการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ;
    • เป็นประกันภัยอุบัติเหตุที่คุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูกด้วย;
    • เป็นประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses); หรือ
    • เป็นประกันภัยแบบดูแลระยะยาว (Long Term Care)

ซื้อประกันลดหย่อนภาษี บริษัทไหนดี?

มาตรวจสอบผลประโยชน์ของประกันลดหย่อนภาษีที่ iTAX shop?

เปรียบเทียบแบบประกัน


เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อยเกี่ยวกับประกันลดหย่อนภาษี

  • หลายคนมักเข้าใจผิดว่า เบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายให้คุณพ่อคุณแม่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ด้วย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเพราะความจริงแล้วเบี้ยประกันของคุณพ่อคุณแม่ที่คุณสามารถนำไปลดหย่อนได้มีเพียง เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา เท่านั้น
  • โฆษณาประกันชีวิตมักจะบอกว่า คุณสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด ฿300,000 แต่ความเป็นจริงแล้วเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปจะหักลดหย่อนภาษีสูงสุดได้ ฿100,000 เท่านั้น ส่วนอีก ฿200,000 น่าจะมาจากการหักลดหย่อน เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ตามจริงและไม่เกิน 15% ของรายได้ ซึ่งหมายความว่า คุณต้องมีรายได้ตลอดทั้งปีอย่างน้อยประมาณ ฿1,333,333 หรือตกเดือนละประมาณ ฿111,111
  • การทำประกันชีวิตที่ธนาคารบังคับให้ผู้กู้ทำแบบคุ้มครองสินเชื่อของธนาคารและผู้กู้เป็นผู้รับประโยชน์ตามภาระหนี้สินที่ผูกพัน (เช่น ทำประกันชีวิตแบบคุ้มครองสินเชื่อค่าซื้อบ้าน) จะไม่สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตส่วนนี้มาลดหย่อนภาษีได้ เพราะประกันแบบคุ้มครองสินเชื่อเป็นความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมที่ไม่ใช่ประกันชีวิตทั่วไป ดังนั้น หากต้องการให้เบี้ยประกันชีวิตสามารถลดหย่อนภาษีได้ต้องระบุจำนวนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป และเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมแยกออกจากกัน และผู้เสียภาษีจะใช้สิทธิลดหย่อนได้เฉพาะจำนวนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปเท่านั้น
  • เบี้ยประกันชีวิตของพ่อแม่และบุตร กฎหมายยังไม่อนุญาตให้สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เพราะกฎหมายให้สิทธิที่เกี่ยวกับการทำประกันให้พ่อแม่เฉพาะเบี้ยประกันสุขภาพเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายสำหรับทำประกันชีวิตให้ตัวเองหรือคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้อยู่ ส่วนประกันชีวิตและประกันสุขภาพของบุตรไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้ในทุกกรณี
  • ในกรณีที่บริษัทซื้อประกันชีวิตให้พนักงานหรือกรรมการบริษัท เบี้ยประกันที่บริษัทจ่ายไปจะกลายเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีของพนักงานหรือกรรมการในทุกกรณี แม้ว่าในกรมธรรม์ดังกล่าวจะกำหนดให้ผู้รับประโยชน์เป็นตัวบริษัทเองก็ตาม แต่พนักงานหรือกรรมการสามารถนำใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทรับประกันชีวิตออกให้นั้น มาใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีได้ในปีที่มีการจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตนั้นได้อยู่แม้ว่าบริษัทจะเป็นผู้จ่ายให้ก็ตาม
  • บางคนเข้าใจผิดว่า ถ้าจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพให้ทั้งพ่อและแม่ก็สามารถลดหย่อนได้สูงสุด ฿30,000 (ลดหย่อน ฿15,000 ต่อพ่อหรือแม่หนึ่งคน) ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ผู้เสียภาษี 1 คนสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนนี้ได้ตามที่จ่ายจริงสำหรับ พ่อแม่ทุกคนรวมกัน สูงสุดไม่เกิน ฿15,000 เท่านั้น
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)