ซื้อของด้วยคริปโต “ลูกค้า” อาจเป็นฝ่ายต้องเสีย ‘ภาษีคริปโต’ เสียด้วย

วิเคราะห์

1,565 VIEWS

แม้ว่าจะยังไม่มีการประกาศแนวทางการจัดเก็บ “ภาษีคริปโต” ที่ชัดเจนจากกรมสรรพากร แต่ช่วงนี้เริ่มปรากฏโฆษณาว่าห้างร้านต่างๆ ในประเทศไทยเริ่มประกาศรับชำระเงินด้วย cryptocurrency กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งตรงกับความตั้งใจของผู้พัฒนา cryptocurrency ที่ต้องการให้เกิดการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน แต่อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายด้วยคริปโตก็มีข้อสังเกตนี่น่าสนใจเกี่ยวกับ “ภาษีคริปโต” ในประเด็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยเช่นกัน

เงินได้ตามกฎหมายภาษีคืออะไร? เกี่ยวข้องอย่างไรกับ ‘ภาษีคริปโต’

โดยปกติ กฎหมายภาษีไทยกำหนดให้สิ่งที่ทำให้เรารวยขึ้นจะต้องเสียภาษีเงินได้ ซึ่งเราเรียกสิ่งที่ทำให้เรารวยขึ้นว่า “เงินได้พึงประเมิน” หรือเรียกสั้นๆ ว่าเงินได้

“เงินได้” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เงินเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงทรัพย์สิน และสิทธิประโยชน์ที่ตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้ด้วย

ส่วน cryptocurrency ไม่ใช่เงินตามกฎหมายไทยแน่นอน เพราะถูกกำหนดสถานะไว้เป็น “สินทรัพย์ดิจิทัล” ตั้งแต่ปี 2561 ดังนั้น สถานะของ cryptocurrency จึงเป็น “ทรัพย์สินไม่มีรูปร่าง” ที่มีมูลค่าและถือครองเป็นเจ้าของได้

ถ้าเราซื้อ bitcoin มา 1 BTC ในราคา 1 ล้านบาท แล้วราคาตลาดขึ้นเป็น 1.5 ล้านบาท เลยทิ้งขายเป็นเงินสดได้ทั้งหมด 1 BTC ได้กำไรเป็นเงินสด 5 แสนบาท กำไรส่วนนี้จะเป็น “เงินได้” ที่คนขายต้องนำไปเสียภาษีเงินได้ของตัวเอง เพราะกำไร 5 แสนบาทเป็น “ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอน cryptocurrency ที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนไว้”

แต่ตราบเท่าที่เรายังไม่ขาย bitcoin ที่ซื้อมาด้วยต้นทุน 1 ล้านบาทนั้น ต่อให้มูลค่า bitcoin พุ่งขึ้นไปเป็น 2 ล้านบาท หรือ 20 ล้านบาท แม้เราจะมี unrealized gain แต่ในทางกฎหมายภาษีจะยังไม่นับว่าเรามีรายได้แล้ว เพราะยังไม่เกิดการขายขึ้น จึงยังไม่มี “ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอน cryptocurrency ที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนไว้”

ถ้า HODL ต่อไปก็ยังไม่มีกำไรต้องเสียภาษี และถ้าขายขาดทุนก็ไม่เสียภาษีเช่นกัน

ทำไมใช้คริปโตซื้อของแล้ว “ลูกค้า” ถึงกลายเป็นฝ่ายมีรายได้เสียเอง?

ถ้าสมมติแบบเดิมว่า เราซื้อ bitcoin มา 1 BTC ในราคา 1 ล้านบาท แล้วราคาตลาดขึ้นเป็น 1.5 ล้านบาท แต่คราวนี้แทนที่จะขายเป็นเงินสด เราเลือกเอา 1 BTC ไปแลกนาฬิกา Rolex 1 เรือน ราคา 1.5 ล้านบาทกับร้านขายนาฬิกา

ธุรกรรมแบบนี้ ทางกรมสรรพากรยังไม่เคยมี guideline เกี่ยวกับ crytocurrency ออกมา แต่ถ้าให้เทียบเคียงกับหลักกฎหมายไทยที่มีอยู่ คงจะพอตอบได้ว่าเกิดการแลกเปลี่ยนขึ้น และทำเราในฐานะ “คนซื้อ” มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีของตัวเองจากการซื้อนาฬิกา Rolex ครั้งนี้ด้วย

กฎหมายภาษีใช้คำว่า “ผลประโยชน์” ที่ได้รับจากการโอน cryptocurrency ที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนไว้ ดังนั้น “ผลประโยชน์” ที่ว่านี้ จึงไม่จำกัดว่าจะต้องได้รับกลับมาเป็นเงินเท่านั้น การได้รับโอนทรัพย์สินอย่างนาฬิกา Rolex ซึ่งตีมูลค่าได้เป็นจำนวนเงิน 1.5 ล้านบาทก็สามารถตีความว่าเป็น “ผลประโยชน์” ได้เช่นกัน

เมื่อเราซื้อ bitcoin ในราคา 1 ล้านบาท แต่กลับสามารถนำไปแลกของที่มีมูลค่า 1.5 ล้านบาทได้ นั่นหมายความว่า เจ้าของ bitcoin ซึ่งเป็นฝ่ายคนซื้อจะมี “กำไร” 5 แสนบาท จากการเอาของที่ตัวเองเก็บมาในราคา 1 ล้านบาท ไปแลกของที่มีมูลค่า 1.5 ล้านบาทได้สำเร็จ ทำให้ตอนจบ “คนซื้อ” เลยกลายเป็นคนที่มีรายได้ไปด้วยโดยที่ตัวเองอาจไม่รู้ตัว

ในมุมนี้หลายคนอาจจะรู้สึกแปลกใจ แต่ในมุมกฎหมายภาษีก็เป็นหลักที่ยุติธรรม เพราะถ้ากำไรจากการขายคริปโตต้องเสียภาษีเงินได้ การแลกเปลี่ยนคริปโตกับทรัพย์สินอื่นก็ต้องเสียภาษีเงินได้ด้วยเช่นกัน

แต่ที่น่าสนใจขึ้น คือ การตีความแบบนี้ก็สามารถคิดต่อไปได้ว่าการแลกเหรียญกับเหรียญ เช่น KUB กับ BTC หรือแม้แต่แลก BTC กับ USDT เป็นกรณีการแลก “ของ” กับ “ของ” ซึ่งเป็นธุรกรรมที่ทำให้เกิดการรับรู้กำไร จนนำไปสู่การเสียภาษีเงินได้หรือไม่? แม้ว่าจะยังไม่ได้ขายเหรียญออกมาเป็นเงินสด (Fiat currency) เลยก็ตาม

ซึ่งในประเด็นนี้ สรรพากรที่อเมริกาฟันธงไปแล้วว่าต้องเสียภาษี แต่ในประเทศไทยยังไม่มี guideline ส่วนนี้ออกมาแต่อย่างใด

อนึ่ง ในทางปฏิบัติ ร้านค้าจำนวนมากที่ประกาศรับชำระค่าสินค้าเป็นคริปโตจะยังไม่ได้รับชำระเป็นคริปโตตรงๆ แต่จะใช้วิธีให้ลูกค้าขายคริปโตเป็นเงินบาทตามมูลค่า ณ ขณะที่กำลังซื้อสินค้า แล้วค่อยโอนเงินบาทนั้นเข้ามาที่ผู้ขาย ดังนั้น ทางฝั่งผู้ขายจะมีภาระภาษีทุกอย่างตามปกติเหมือนรับชำระด้วยเงินบาททั่วไป

สรุป แบบนี้ยังควรจ่ายด้วยคริปโตเพื่อซื้อของอยู่ไหม?

ซื้อได้ตามปกติ เพียงแต่มีข้อสังเกตที่อาจเกิดขึ้นได้สำหรับฝ่ายคนซื้อของว่า แม้จะเป็นคนซื้อก็เสียภาษีได้เหมือนกัน ส่วนประเด็นว่าจะตอนนี้จะคำนวณยังไงว่ามีกำไร? ใช้ต้นทุนราคาที่ซื้อครั้งไหน? จะรู้ได้ไงว่าซื้อขายกันจริง? ยังต้องรอ Guildeline จากกรมสรรพากรต่อไป

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)