ข้อแตกต่างของการจดทะเบียนบริษัท และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่คนทำธุรกิจควรรู้

SME

290,070 VIEWS

เพราะการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย และมีเรื่องที่คุณต้องทำความเข้าใจนับไม่ถ้วน และนอกเหนือจากงานบริหารแล้วก็มีเรื่องของภาษีหรือการจดทะเบียนบริษัทนี่แหละที่เป็นเรื่องที่หลายคนปวดหัวมากพอสมควร และสิ่งที่ทำให้เจ้าของธุรกิจหลายคนสับสน คงหนีไม่พ้นเรื่องของ การจดทะเบียนบริษัท และการจดห้างหุ้นส่วนจำกัด เพราะไม่ว่าคุณจะหาข้อมูลด้วยตัวเอง หรือได้รับคำแนะนำจากเพื่อนหรือคนใกล้ตัว การขอจดทะเบียนบริษัทและห้างหุ้นส่วนก็อาจจะทำให้คุณสับสนอยู่ไม่มากก็น้อย

และหากคุณอยากรู้ว่า การจดทะเบียนบริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นแตกต่างกันอย่างไร ยื่นจดแบบไหนจะเหมาะกับธุรกิจของคุณมากกว่า iTAX ได้รวบรวมข้อมูลความแตกต่างของการจดทะเบียนบริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัด รับรองว่า คุณจะได้คำตอบที่คุณต้องการหลังอ่านบทความนี้จบแน่นอน

ข้อแตกต่างของบริษัทจำกัด และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด

สำหรับข้อแตกต่างของการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด จะสามารถแบ่งออกได้ 5 ข้อดังนี้

1. จำนวนร่วมลงทุน (จำนวนผู้ถือหุ้น หรือผู้ก่อตั้ง)

  • บริษัทจำกัด : จะต้องมีผู้ร่วมลงทุน หรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 3 คน
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด : จะต้องมีผู้ร่วมลงทุนหรือหุ้นส่วนอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป

2. การลงทุน

  • บริษัทจำกัด : การลงทุนสำหรับการจดทะเบียนบริษัทนั้น จะเป็นลักษณะของ ทุนเรือนหุ้น (Capital stock) โดยที่ผู้ลงทุนจะต้องแบ่งทุนออกเป็นหุ้น แต่ละหุ้นจะต้องมีมูลค่าเท่าๆ กัน (มูลค่าหุ้นจะต้องไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 5 บาท) และจะต้องเป็นการลงหุ้นด้วยเงินเท่านั้น
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด : การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น คุณไม่ต้องแบ่งเป็นทุนเป็น ทุนเรือนหุ้น (Capital stock) เหมือนการจดทะเบียนบริษัทจำกัด และไม่ต้องกังวลเรื่องขั้นต่ำของทุนจดทะเบียนด้วย เพราะการจดห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นไม่ได้มีการกำหนดขั้นต่ำไว้ นั่นหมายความว่า คุณสามารถใช้จำนวนเงินลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในห้างหุ้นส่วนกันทั้งหมด รวมถึง สามารถลงทุนด้วยเงิน ทรัพย์สินและแรงงาน เป็นทุนจดทะเบียนได้

เพิ่มเติม : การลงหุ้นด้วยแรงงาน จะต้องเป็นการลงทุนในรูปแบบของหุ้นส่วนผู้จัดการ (หุ้นส่วนจำพวกที่ไม่จำกัดความรับผิด) เท่านั้น หากเป็นหุ้นส่วนที่ต้องการจำกัดความรับผิด จะต้องลงหุ้นด้วยเงินหรือทรัพย์สินเท่านั้น ไม่สามารถลงหุ้นด้วยแรงงานได้

3. ความรับผิดในหนี้สิน

  • บริษัทจำกัด : เนื่องจากความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้นมีจำกัด ผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนจะรับผิดชอบเฉพาะเงินลงทุนในหุ้นที่ยังไม่ได้ชำระเท่านั้น
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด : จะแบ่งความรับผิดชอบออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

3.1 หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดชอบ (หุ้นส่วนผู้จัดการ) รับผิดชอบไม่จำกัดจำนวน

3.2 หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดชอบ (หุ้นส่วนทั่วไป) รับผิดชอบเท่าจำนวนหุ้นที่ลงไป

4. ค่าธรรมเนียม

  • บริษัทจำกัด : มีค่าธรรมเนียมในการจัดตั้ง 5,000 บาท
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด : ค่าธรรมเนียมในการจัดตั้ง 1,000 บาท

หมายเหตุ : ค่าธรรมเนียมในการจัดตั้งบริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัดข้างต้น ยังไม่รวมค่าอากรแสตมป์และค่ารับรองเอกสาร

5. การประชุมสามัญประจำปี

  • บริษัทจำกัด : จะต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นทุกปี
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด : ไม่ต้องประชุมหุ้นส่วนประจำปี (ก็ได้)

6. การปิดงบประจำปี

  • บริษัทจำกัด :  ผู้ที่สามารถเซ็นปิดงบได้ จะต้องเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) เท่านั้น
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด : ผู้ที่สามารถเซ็นปิดงบ จะเป็น ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) หรือ ผู้สอบบัญชีภาษีอากร (TA) ก็ได้

7. อัตราภาษี

ไม่ว่าคุณจะยื่นจดทะเบียนบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด คุณจะต้องจ่ายภาษีในรูปแบบของ อัตราภาษีก้าวหน้า (อัตราภาษีที่จะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นเมื่อมีฐานภาษีเพิ่มขึ้น)


จดบริษัทจำกัด หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ดีกว่า?

การจดบริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจของคุณ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วที่ปรึกษาในการจัดตั้งบริษัท มักจะแนะนำให้เจ้าของธุรกิจจดบริษัทมากกว่า ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

1. จดบริษัทมีความน่าเชื่อถือมากกว่า

คนส่วนใหญ่มักรู้สึกว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดมักจะเป็นการดำเนินธุรกิจแบบครอบครัว และรู้สึกว่าบริษัทจำกัด มีความมั่นคงและน่าเชื่อถือมากกว่า ดังนั้น หากธุรกิจของคุณต้องติดต่อกับผู้คนจำนวนมาก และต้องการเพิ่มความน่าเชื่อถือและความมืออาชีพให้กับธุรกิจ การจดทะเบียนบริษัทจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์คุณมากกว่า

2. ความรับผิดชอบการขาดทุนของบริษัท

หากคุณเลือกจดทะเบียนบริษัท และธุรกิจของคุณขาดทุน คุณจะต้องรับผิดชอบแค่หุ้นที่คุณลงทุนไปเท่านั้น หากเกิดการฟ้องร้องภายหลังทรัพย์สินส่วนตัวของคุณจะไม่ถูกดึงมาข้องเกี่ยวด้วย แต่หากคุณจดห้างหุ้นส่วนจำกัด ความรับผิดชอบของคุณจะขึ้นอยู่กับประเภทการลงทุน ดังนี้

  • หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดชอบ (หุ้นส่วนผู้จัดการ) : คุณจะต้องรับผิดชอบนอกเหนือจากเงินที่ลงทุนไปด้วย
  • หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดชอบ (หุ้นส่วนทั่วไป) : คุณจะต้องรับผิดชอบแค่ในส่วนที่ลงทุนไปเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดชอบเกินกว่าที่ลงทุนไป

3. ระยะเวลา

หลายคนมักจะคิดว่าการจดทะเบียนบริษัทมีความยุ่งยากและต้องใช้เวลามากกว่าการจดห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันการจดทะเบียนบริษัทใช้ระยะเวลาเท่ากับการจดห้างหุ้นส่วนจำกัด คือ 1 วันเท่านั้น

ข้อเปรียบเทียบของการจดทะเบียนบริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัดที่เราพูดมาทั้งหมด อาจจะทำให้คุณพอจะตัดสินใจได้บ้างว่า ธุรกิจของคุณเหมาะกับการจดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดมากกว่า

แต่หากคุณมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามค่าบริการ iTAX sme 062-486-9787 เรามีทีมงานมืออาชีพที่พร้อมจัดการปัญหาเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทไว้คอยให้บริการ เพื่อที่คุณจะได้ใช้เวลาไปกับการจัดการธุรกิจได้มากขึ้น

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)