ค่าปรับจราจร 2566 (อัตราใหม่)

ทั่วไป

9,760 VIEWS

ค่าปรับจราจร 2566 (อัตราใหม่) เริ่มบังคับใช้ 5 ก.ย. 2565 ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เพิ่มอัตราโทษสำหรับความผิดหลายกรณี

เมาแล้วขับ

เกณฑ์การวัดว่าเมาแล้วขับ

  • มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ขณะขับขี่

กรณีผู้ขับขี่ใน 4 กรณีต่อไปนี้ แม้มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขณะขับขี่ ก็มีความผิดเมาแล้วขับได้เช่นกัน

  • ผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์
  • ผู้ขับขี่ที่มีใบขับขี่ชั่วคราว (ใบขับขี่อนุญาตแบบ 2 ปี)
  • ผู้ขับขี่ที่มีใบขับขี่ประเภทอื่น ซึ่งใช้แทนกันไม่ได้
  • ผู้ขับขี่ที่ถูกยกเลิกใบขับขี่ หรืออยู่ระหว่างการพักใช้งานใบขับขี่

อัตราโทษฐานเมาแล้วขับ

  • ทำผิดครั้งแรก จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทำความผิดครั้งแรก จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000-100,000 บาท

แข่งรถในทาง

  • จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พยายามแข่งรถในทาง ก็เป็นความผิดเช่นกัน

กรณีรวมกลุ่มมั่วสุมในทาง หรือสถานที่สาธารณะใกล้ทาง ตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป แม้จะยังไม่ได้แข่งรถในทางมีความผิดฐานพยายามแข่งรถในทางได้ หากพบพฤติกรรมต่อไปนี้

  • มีการนัดหมายเพื่อแข่งรถกันมาก่อน
  • รถที่รวมกลุ่มมีการดัดแปลง /ปรับแต่งรถที่มีสภาพไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
  • มีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าจะทำการแข่งรถในทาง

ความผิดฐานพยายามแข่งรถต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง กล่าวคือ จำคุกไม่เกิน 2 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 3,333-6,666 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้จัด และผู้โฆษณา ประกาศ ชักชวน ให้มีการแข่งรถ ต้องรับโทษด้วย

  • มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร้านแต่งรถ ที่ได้แต่งรถไปใช้แข่งก็มีความผิด

  • ร้านแต่งรถ ที่ได้แต่งรถไปใช้แข่ง ต้องรับโทษในฐานะผู้สนับสนุน คือ ระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง กล่าวคือ จำคุกไม่เกิน 2 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 3,333-6,666 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การรัดเข็มขัดนิรภัย

  1. รถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถตู้ 
  2. รถกระบะ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหน้า กรณีเป็นรถกระบะสองตอนผู้โดยสารตอนหลัง ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย ด้วย

ความผิดฐานไม่รัดเข็มขัดนิรภัย

  • ปรับสูงสุด 2,000 บาท

การนั่งท้ายกระบะหรือบริเวณแคป

สามารถนั่งได้โดยไม่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยแต่ต้องนั่งไม่เกินจำนวนที่กำหนดในลักษณะที่ปลอดภัย และผู้ขับขี่ต้องขับขี่ด้วยความเร็วตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนดซึ่งประกาศกำหนดอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 4 ธันวาคม 2565 

ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี (คาร์ซีท)

การบังคับให้มีที่นั่งนิรภัย (Car Seat) สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ยังไม่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน 2565 แต่จะบังคับใช้เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำประกาศและลงประกาศให้ประชาชนทราบในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

ทั้งนี้ เบื้องต้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนจะประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐาน/ลดอัตราภาษีของที่นั่งนิรภัย รวมถึงวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่ไม่สามารถใช้ที่นั่งนิรภัยได้เพื่อจัดทำประกาศ เรื่อง การใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้แล้วเสร็จภายใน 4 ธันวาคม 2565

ค่าปรับจราจร สำหรับความผิดอื่นๆ

ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

  • ปรับสูงสุด 4,000 บาท

ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง

  • ปรับสูงสุด 4,000 บาท

ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย

  • ปรับสูงสุด 4,000 บาท

ขับรถย้อนศร

  • ปรับสูงสุด 2,000 บาท

ขับขี่จักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย

  • ปรับสูงสุด 2,000 บาท

ขับขี่รถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น

  • จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)