ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-tax invoice) คืออะไร?

ภาษี

ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-tax invoice) คืออะไร? ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ คือ ใบกำกับภาษีรูปแบบหนึ่งที่อยู่ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณได้จากมูลค่าสินค้าหรือบริการ โดยไม่ต้องออกในรูปแบบกระดาษ ซึ่งหลักฐานที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการใช้สิทธิลดหย่อน ช้อปดีมีคืน 2566 หากต้องการรับสิทธิค่าลดหย่อนสูงสุด 40,000 บาท

การออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันยังคงเป็นภาคสมัครใจ แต่ผู้ประกอบการที่จะมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้จะต้องได้รับอนุญาตอธิบดีกรมสรรพากรก่อนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิออกเป็นแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ให้ลูกค้าได้ หากผู้ประกอบการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เองโดยไม่ได้ขออนุญาตก่อน แม้จะผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ไฟล์ดังกล่าวจะยังไม่นับเป็นใบกำกับภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ 2 ระบบ ได้แก่

  1. ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt และ
  2. ระบบ e-Tax Invoice by email

1. ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt

ลักษณะของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ที่ถูกต้อง

โดยปกติ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จะต้องประกอบด้วยรายการต่างๆ ครบถ้วนเหมือนใบกำกับภาษีแบบกระดาษ

องค์ประกอบของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

ตัวอย่างใบกำกับภาษีเต็มรูป

โดยปกติ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องประกอบด้วยรายการต่างๆ ครบถ้วนเหมือนใบกำกับภาษีแบบกระดาษ ได้แก่

  • คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
  • ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
  • ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
  • หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี (และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี)
  • ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
  • จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้า/บริการให้ชัดแจ้ง
  • วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
  • ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่ได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จากระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt สามารถตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นได้ดังนี้

  1. ผู้ซื้ออาจได้รับไฟล์จากช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ใดก็ได้ เช่น ช่องทางอีเมล หรือแอปที่ผู้ประกอบการกำหนด
  2. ไฟล์ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จากระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแบบ PDF
  3. คุณสามารถตรวจสอบความถูกต้องของไฟล์ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับจากผู้ขายได้ที่เว็บไซต์ สพธอ. https://validation.teda.th/webportal/v2/#/validate โดยอัพโหลดไฟล์ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับเพื่อตรวจสอบ
  4. นอกจากนี้ คุณสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร etax.rd.go.th

2. ระบบ e-Tax Invoice by Email

ระบบ e-Tax Invoice by Email จะรองรับเฉพาะการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ทางอีเมลสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กเท่านั้น โดยระบบนี้ไม่สามารถรองรับการออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้

ลักษณะของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice by Email ที่ถูกต้อง

โดยปกติ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จะต้องประกอบด้วยรายการต่างๆ ครบถ้วนเหมือนใบกำกับภาษีแบบกระดาษ

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่ได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จากระบบ e-Tax Invoice by Email สามารถตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นได้ดังนี้

  1. ต้องได้รับจากช่องทางอีเมลเท่านั้น
  2. อีเมลดังกล่าวต้องส่งจาก [email protected]
  3. ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จากระบบ e-Tax Invoice by Email ที่ถูกต้อง จะต้องใช้ชื่ออีเมลว่า <ประทับรับรองทางเวลาเรียบร้อย>[วันที่ออกใบกำกับภาษีเป็นวันเดือนปีพ.ศ.][INV][เลขที่ใบกำกับภาษี] เช่น
    • ชื่ออีเมล <ประทับรับรองทางเวลาเรียบร้อย>[02012566][INV][056-2666] หมายความว่าคุณได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เลขที่ 056-2566 ลงวันที่ 02 มกราคม 2566 เป็นต้น
  4. ในอีเมลที่คุณได้รับจะต้องมีไฟล์ใบกำกับภาษีที่ข้อความครบถ้วนถูกต้องและได้รับการประทับรับรองเวลาทางอีเมล (time stamp) แล้ว
  5. ตรวจสอบว่าไฟล์ใบกำกับภาษีที่แนบมากับอีเมลดังกล่าวได้รับการประทับรับรองเวลาถูกต้องแล้ว ได้ที่เว็บไซต์ https://validation.etax.teda.th

มาตรการ “ช้อปดีมีคืน 2566” ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 40,000 บาท ต้องใช้ e-tax invoice

มาตรการช้อปดีมีคืน 2566 กำหนดให้ค่าซื้อสินค้าหรือบริการสามารถนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 40,000 บาท (รวม VAT แล้ว) โดยแบ่งสิทธิลดหย่อนตามค่าซื้อสินค้าและบริการ เป็น 2 ส่วน ดังนี้

  1. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวน 30,000 บาทแรก ที่มีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์
  2. ค่าซื้อสินค้าหรือบริการ อีกจำนวน 10,000 บาท ที่มีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

ตัวอย่างที่ 1

ซื้อคอมพิวเตอร์ราคา 40,000 บาท (รวม VAT แล้ว) โดยได้รับใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษ จะใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดเพียง 30,000 บาท

สาเหตุเนื่องจากกรณีนี้จะได้สิทธิลดหย่อนจากวงเงิน 30,000 แรกที่มีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่จะไม่ได้สิทธิอีก 10,000 บาท เนื่องจากไม่ได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

ตัวอย่างที่ 2

ซื้อคอมพิวเตอร์ราคา 40,000 บาท (รวม VAT แล้ว) โดยได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ จะใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 40,000 บาท

สาเหตุเนื่องจากกรณีนี้จะได้สิทธิลดหย่อนจากทั้งวงเงิน 30,000 แรกที่มีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ และอีก 10,000 บาท จากใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)