เปิดนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล โดยผู้แทน 6 พรรคการเมือง

วิเคราะห์

สรุปเนื้อหาจากเสวนาวิชาการ “เปิดนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล” โดยผู้แทน 6 พรรคการเมือง เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2566 จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ร่วมกับ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และ 9 สมาคมด้านดิจิทัล สรุปโดยทีมงาน iTAX media

รูปแบบกิจกรรมเสวนาวิชาการ “เปิดนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล”

  1. ผู้แทนพรรคการเมืองจะมีโควต้าเวลาตอบคำถามตลอดงานเสวนาคนละ 15 นาที โดยสามารถวางแผนใช้สิทธิตอบคำถามข้อละนานกี่นาทีก็ได้หรือขอไม่ตอบคำถามใดก็ได้ ดังนั้น คำตอบบางข้ออาจสั้น-ยาวไม่เท่ากัน และบางข้ออาจไม่มีคำตอบจากผู้แทนบางพรรคเนื่องจากไม่ได้ใช้สิทธิตอบคำถามข้อดังกล่าว
  2. หากใช้เวลาครบหมด 15 นาทีแล้วจะไม่สามารถตอบคำถามได้อีก
  3. คำถามจะเป็นการถามสดจากตัวแทนภาคเอกชน โดยมี 6 คำถาม ประกอบด้วย
    1. คุณนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที
    2. คุณวิโรจน์ ศิริรัตนรักษ์ รองประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย
    3. คุณมิ้นท์ กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA)
    4. ดร.แป้ง อสมา กุลวานิชไชยนันท์ ตัวแทนจากสมาคมผู้ประกอบการเทคโนโลยีดิจิทัล (DTE)
    5. คุณแคสเปอร์ ธนกฤต เสริมสุขสันต์ อุปนายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup)
    6. คุณอั๋น คุณพิพัฒน์ พิเชฐจำเริญ อุปนายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย
  4. ในกรณีที่ผู้แทนพรรคการเมืองขอใช้สิทธิตอบข้อเดียวกันมากกว่า 1 คน ให้ผู้แทนของแต่ละพรรคตกลงลำดับการตอบคำถามกันเอง
  5. ผู้แทนพรรคการเมืองประกอบด้วย
    1. พรรคชาติพัฒนากล้า – คุณวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค
    2. พรรคประชาธิปัตย์ – เกียรติ สิทธีอมร คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ
    3. พรรคเพื่อไทย – คุณศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการ คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ
    4. พรรคก้าวไกล – คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
    5. พรรคไทยสร้างไทย – คุณเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน รองเลขาธิการพรรค
    6. พรรคพลังประชารัฐ – คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรค และรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

สรุปคำตอบของผู้แทนพรรคการเมือง จาก 6 คำถามจากงานเสวนา “เปิดนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล” โดยผู้แทนภาคเอกชน

1. แนวทางแก้ไขด้านการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce) ที่ขาดแคลนในไทยเป็นอย่างไร? – คุณนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที

ไทยสร้างไทย – คุณเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน

  • ผลักดันผ่านสถานศึกษาทั้งอาชีวะและมหาวิทยาลัยหากร่วมกัน คาดว่าภายใน 3 ปีจะแก้ปัญหาให้ได้ และมีคนเพียงพอ
  • นอกจากทักษะด้าน coding แล้ว ควรเพิ่มทักษะในการแก้ปัญหาด้วย เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ startup ด้วยตัวเองได้

ชาติพัฒนากล้า – คุณวรวุฒิ อุ่นใจ

  • ระยะสั้น แก้ไขให้ชาวต่างชาติเข้ามาเป็นกำลังคนทดแทนด้านดิจิทัลก่อน ทั้งคนเวียดนาม คนอินเดีย คนจีน แต่ต้องตั้งกฎกติกาให้รัดกุม
  • ระยะยาว ปฏิรูประบบการศึกษาให้มหาวิทยาลัยเป็น marketplace ทางวิชาการ ต้องมีหลักสูตรเร่งรัดโดยหารือกับภาคเอกชนเพื่อผลิตกำลังคนที่ตอบโจทย์ เพราะภาคการศึกษามักตามไม่ทันความต้องการของตลาด
  • พัฒนากำลังคนด้านอื่น ให้มาเป็นกำลังคนด้านดิจิทัล

ก้าวไกล – คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

  • ระยะสั้น แก้ไขให้ชาวต่างชาติเข้ามาเป็นกำลังคนทดแทนด้านดิจิทัลก่อน
  • ระยะกลาง ทำให้ธุรกิจ startup ในไทยเติบโตเป็นบริษัทใหญ่เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดทักษะด้าน coding ที่ใช้งานได้จริงให้กับกำลังคนด้านดิจิทัล เพราะเชื่อว่าทักษะที่ใช้งานได้จริงเกิดขึ้นนอกห้องเรียนมากกว่าในชั้นเรียน
  • ภาครัฐสามารถเป็นสร้าง demand ให้ผู้พัฒนาได้โดยกำหนดโจทย์ของเมือง เช่น ปัญหาด้านประปา ไฟฟ้า ไฟส่องสว่าง สามารถพัฒนา smart censor ด้วย iOT โดยใช้งบหลวงเพื่อนำมาซื้อเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยผู้ผลิตในประเทศไทยก่อน

ประชาธิปัตย์ – เกียรติ สิทธีอมร

  • ต้องมีสถาบันเสริมทักษะเพิ่ม แม้จะไม่ได้เรียนจบมาทางด้าน coding
  • สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อกับการพัฒนาบุคลากรและการสร้างธุรกิจ startup

เพื่อไทย – คุณศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ

  • ระยะสั้น แก้ไขให้ชาวต่างชาติเข้ามาเป็นกำลังคนทดแทนด้านดิจิทัลก่อน
  • ผลักดันนโยบายการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ลดอัตรานักเรียนที่หลุดออกจากระบบ สนับสนุนอินเตอร์เน็ตและแท็ปเล็ตฟรี และคัดกรองการเรียนที่เหมาะสมกับศักยภาพเป็นรายบุคคล แรงงานอายุ 40 ขึ้นไปก็สามารถสนับสนุนให้มีทักษะสูงขึ้นได้
  • ภาครัฐเป็นตัวกลางเชื่อมความรู้จากทั่วโลกมาให้ มากกว่าจะเป็นผู้ผลิตความรู้เอง

พลังประชารัฐ – คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

  • ไม่ได้ใช้สิทธิตอบคำถาม

2. นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะผลักดัน SME ไทยเป็นพิเศษและโฟกัสกลุ่มไหนเป็นพิเศษ? – คุณวิโรจน์ ศิริรัตนรักษ์ รองประธานสมาพันธ์ SME ไทย

ชาติพัฒนากล้า – คุณวรวุฒิ อุ่นใจ

  • SME ไทยมีปัญหาเรื่องเงินทุนมาตลอด ต้องเปลี่ยนระบบการใช้สินเชื่อเดิมแล้วใช้ระบบ credit score แทน ซึ่งจะทำได้ต้องมีเรื่อง Big Data เช่น ประเทศจีนสามารถพิจารณาการให้สินเชื่อได้อย่างรวดเร็ว หากปล่อยให้เป็นระบบเดิมต่อไป SME จะติดหนี้นอกระบบกันทั้งประเทศ
  • มีการสนับสนุนด้านนวัตกรรมให้ SME ซึ่งจำเป็นต้องมีเรื่อง Research & Development โดยต้องให้สิทธิประโยชน์และความคุ้มครองด้าน R&D ให้เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้คนอย่างคิด
  • ไม่เห็นด้วยกับโครงการ OTOP เพราะเน้นด้านการผลิตแต่ไม่ได้เน้นด้านการตลาด สิ่งที่ควรเป็นคือหาตลาดก่อนแล้วค่อยบอกแต่ละตำบลว่าควรผลิตอะไร จังหวัดไหนควรทำ supply chain สินค้าตัวนั้นอย่างไร หนึ่งจังหวัดควรมีไม่เกิน 5 ผลิตภัณฑ์

ก้าวไกล – คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

  • สร้างแต้มต่อให้ SME สามารถทำธุรกิจได้โดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ
  • พัฒนา trade bureau ผ่านระบบ e-tax invoice & e-receipt เพื่อตรวจสอบการดึงเวลาจ่ายเงิน และสามารถนำข้อมูลบนระบบไปใช้ด้านการให้สินเชื่อได้
  • หวยใบเสร็จ เพื่อสนับสนุนให้มีลูกค้าเดินเข้าหา SME มากขึ้น

พลังประชารัฐ – คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

  • ผลักดันด้าน Digital Transformation เพื่อพัฒนาให้ SME มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้เกิด startup ที่สร้างระบบพัฒนาศักยภาพให้ SME ได้มากขึ้น
  • ดำเนินงานบัญชีบริการดิจิทัลให้ภาครัฐซื้อบริการดิจิทัลแบบเฉพาะเจาะจงได้ต่อไป ตอนนี้ติดที่กรมบัญชีกลาง
  • เชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลระหว่างภาคเอกชนให้ได้มากขึ้น เพื่อทำให้พัฒนาธุรกิจร่วมกันได้
  • เงินสนับสนุนปัจจุบันมีน้อยเกินไป ต้องแก้ไขกฎหมายให้สนับสนุนการลงทุนกับ Startup ให้ได้มากกว่านี้ เพราะปัจจุบันนี้ใช้งบประมาณภาครัฐแล้วมีข้อจำกัดยังไม่สามารถลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงแบบ Angel Fund ได้และมีความเสี่ยงเรื่องความรับผิดมากเกินไป

เพื่อไทย – คุณศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ

  • มีแผนจะพัฒนาโครงการ OTOP ให้ดีกว่านี้ และมีแผนพัฒนา digital economy ซึ่งจะเป็นระบบเศรษฐกิจฐานรากของทุกธุรกิจในอนาคตอย่างแน่นอน
  • ต้องสร้าง digital government เพื่อแก้ไขปัญหาที่ SME พบด้านเวลา ข้อมูล และแหล่งทุน เพราะอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือรัฐราชการ ที่มีกระบวนการเยอะมากและไม่เชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เข้าถึงและนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยภาคเอกชนแบบ machine-readable ไม่ใช่ไฟล์ PDF หรือใช้เลขไทย เปลี่ยนจากรัฐอุปสรรคเป็นรัฐสนับสนุน หากปลดล็อกอุปสรรคที่เกิดจากภาครัฐได้แล้ว แหล่งเงินทุนจะตามมาได้เอง

ประชาธิปัตย์ – เกียรติ สิทธีอมร

  • ตั้งกองทุน SME 3 แสนล้านบาทเพื่อร่วมลงทุนกับ SME ได้โดยไม่ต้องกู้
  • จัดงบประมาณลงทุนในสัดส่วน 3% ของ GDP ด้านการพัฒนานวัตกรรม ภายใน 4 ปี โดย 70% ของงบประมาณส่วนนี้จะให้รัฐร่วมลงทุนและเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์สินทางปัญหา
  • ต้องให้ SME รายเล็กได้ประโยชน์จากการเปิดข้อมูลก่อนรายใหญ่
  • ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านนวัตกรรมตามนิยามขององค์การการค้าโลก (WTO) และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และพัฒนามหาวิทยาลัยมาร่วมพัฒนาบุคลากรด้วย เพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจที่น่าลงทุนติดอันดับโลก
  • ไปสู่ no-stop service ให้บริการภาครัฐเป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด

ไทยสร้างไทย – คุณเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน

  • ไม่ได้ใช้สิทธิตอบคำถาม

3. แผน 100 วันและ action plan ด้านการพัฒนา e-commerce หากท่านได้เป็นรัฐบาลจะเป็นอย่างไร? – คุณมิ้นท์ กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA)

ชาติพัฒนากล้า – คุณวรวุฒิ อุ่นใจ

  • ปัญหาที่มีมานานคือรัฐบาลไม่เข้าใจ e-commerce สิ่งที่ทำได้ระยะสั้นคืออุดหนุนค่าขนส่งให้ e-commerce ซึ่งเป็นโมเดลที่ประเทศจีนทำและเริ่มดำเนินนโยบายเรื่อง e-commerce park
  • แก้ปัญหาเรื่อง Fraud เพราะกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยเฉพาะการโกงในไทยค่อนข้างรุนแรง
  • ต้องสร้าง e-commerce platform ของไทย เพราะทุกวันนี้ไม่มี e-commerce platform ของไทยเหลืออีกแล้ว และเสียเอกราชทาง e-commerce ไปแล้ว คนจีนรู้ก่อนล่วงหน้า 6 เดือนแล้วว่าตลาดไทยต้องการอะไร
  • ต้องเปลี่ยนบท E-commerce จากแค่ user ให้เป็นผู้ขายให้ได้ และต้องการรัฐบาลที่เข้าใจเพราะ E-commerce แข่งกันที่ความเร็วและความยืดหยุ่น ถ้ารัฐบาลไม่เข้าใจ ประเทศไทยจะเสียท่าและเป็นได้แค่ประเทศผู้ซื้อไปเรื่อยๆ ไม่มีทางเป็นผู้ขายได้

พลังประชารัฐ – คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

  • รัฐบาลมีหน้าที่ต้องวางรากฐานให้เกิด e-commerce ได้ ซึ่งประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ดีระดับโลกอยู่แล้ว
  • ต้องแก้ปัญหาเรื่อง Fraud ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่จริงและรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่ และอยู่ในระหว่างการพัฒนา Digital Post ID โดยไปรษณีย์ไทย เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง และทำให้ e-commerce ไทยเข้มแข็งขึ้นได้
  • ต้องมีการจดแจ้งขึ้นทะเบียนธุรกิจ Plaform เพราะทุกวันนี้ยังไม่มีการกำกับดูแล แต่ก็ต้องหาทางรับมือในอนาคตด้วยว่าสำหรับ plaform ต่างชาติที่ไม่เข้ามาจดแจ้งในไทยและไม่ทำตามกฎหมายไทย ภาครัฐควรดำเนินการเข้มข้นเพียงใด ต้องถึงขนาดปิดกั้นการเข้าถึงเลยหรือไม่ เพราะหากปิดมากเกินไปผู้บริโภคไทยก็อาจเดือดร้อน คงต้องชั่งน้ำหนักว่าทำอย่างไรจึงจะเหมาะสม และภาครัฐก็มีข้อจำกัดตามกรอบของกฎหมายที่อยากให้ภาคเอกชนเข้าใจด้วย

ไทยสร้างไทย – คุณเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน

  • ภาครัฐสามารถช่วยเหลือ e-commerce ไทยได้ และน่ามองหาตลาดต่างประเทศให้สินค้าไทยออกไปขายต่างประเทศได้ด้วย เช่น ส่งสินค้าไทยไปขายในตลาดอินเดียผ่าน e-commerce
  • ต้องพัฒนาด้าน logistics เพื่อให้การขนส่งสินค้าไปต่างประเทศ และต้องส่งเสริมด้าน R&D เพื่อให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพพร้อมสำหรับส่งออกต่างประเทศได้

ประชาธิปัตย์ – เกียรติ สิทธีอมร

  • กองทุน SME สามารถช่วยแก้ปัญหา E-commerce ได้ภายใน 100 วัน
  • ต้องแก้ปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมาย เช่นเรื่องการจัดการเครือข่าย call center ที่อยู่ตามชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศไทยดำเนินการได้แค่ภายในประเทศ จึงต้องหาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน
  • ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันหาทางออก เพราะภาครัฐอย่างเดียวเก่งไม่พอ

ก้าวไกล – คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

  • ต้องแก้ปัญหาด้าน supply chain เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ถ้าคนจีนมาสั่งทุเรียนผ่าน platform ไทย ทำอย่างไรจึงจะส่งสินค้าไปถึงมือลูกค้าได้โดยสินค้ายังไม่เน่าเสีย เพราะถ้าคนจีนสั่งทุเรียนจาก platform จีน จะมีเครือข่ายของ platform จีนในไทยมารับซื้อทุเรียนเพื่อไปส่งถึงมือลูกค้าได้ ทำให้เห็นปัญหาว่า supply chain ฝั่งไทยยังไม่ครบวงจรและพร้อมสำหรับตลาดต่างประเทศ

เพื่อไทย – คุณศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ

  • ตั้งหน่วยงานจัดการเรื่อง cybercrime และแก้กฎหมายเรื่อง e-signature สามารถทำได้ภายใน 100 วัน
  • นำ blockchain มาปรับใช้เรื่องเงินดิจิทัล เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน อาจทำได้ภายใน 100 วันหรืออย่างช้าภายใน 1 ปี
  • แก้ปัญหาโครงสร้างด้านพลังงาน เพราะมีผลต่อต้นทุนด้าน logistics
  • ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงอีกครั้ง เพื่อเพิ่มโอกาสด้านการส่งออกสินค้าไทย

4. ปัญหาด้าน Big Data ของหน่วยงานรัฐคือไม่รู้ว่าเก็บที่ไหน ไม่เชื่อมโยงกัน และไม่มีมาตรฐาน ควรจะดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาอย่างไร? ดร.แป้ง อสมา กุลวานิชไชยนันท์ ตัวแทนจากสมาคมผู้ประกอบการเทคโนโลยีดิจิทัล (DTE)

พลังประชารัฐ – คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

  • ภาครัฐมีแนวทางจัดทำ data catalog เพื่อสร้างมาตรฐาน ซึ่งเพิ่งเริ่มมาไม่นาน และยอมรับว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีมาตรฐานการเก็บข้อมูลมาก่อน จึงจำเป็นต้องใช้เวลา
  • ตั้งสถาบัน GBDi เพื่อดูแลด้าน Big Data ของประเทศโดยเฉพาะ 
  • มีโครงการ Health link เพื่อเชื่อมข้อมูลระหว่าง 200 โรงพยาบาล เพื่อให้ประวัติคนไข้เชื่อมโยงกัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หากทำสำเร็จจะเก็บไว้ระบบ cloud กลางเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
  • มีแผนทำ cloud กลางด้านการเกษตรอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่คาดว่าถ้าทำสำเร็จจะมีประโยชน์กับภาคการเกษตรในการนำไปวิเคราะห์อย่างมาก ส่วนภาคอุตสาหกรรมมีข้อมูลค่อนข้างพร้อม ทาง GBDi จะดูแลการนำข้อมูลไปใช้ต่อไป
  • ประเทศไทยมี พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อบังคับให้ภาครัฐใช้ระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้ แต่ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีความต้องการที่แตกต่างกันและแต่ละหน่วยงานก็ยังมีโอกาสปรับปรุงให้ประสิทธิภาพให้ดีกว่านี้ได้

ก้าวไกล – คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

  • ออกกฎหมายกำหนดมาตรฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานให้เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกันได้ เพื่อสร้างเศรษฐกิจข้อมูลให้เกิดขึ้น และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
  • รัฐต้องมีฐานข้อมูลกลางโดยหน่วยงานต้องแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยให้ GBDi เป็นผู้ดูแล เพื่อให้ AI มาเรียนรู้ข้อมูลได้

ชาติพัฒนากล้า – คุณวรวุฒิ อุ่นใจ

  • ดำเนินการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประชาชนต้องเป็นของประชาชน ประชาชนสามารถควบคุมได้ว่าจะนำไปใช้อย่างไร
  • ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมทั้ง application ทั้ง software ให้ภาคเอกชนและประชาชนนำไปใช้ได้

ไทยสร้างไทย – คุณเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน

  • ต้องเปลี่ยนความคิดให้ภาครัฐตัดสินใจโดยเป็น data-driven government ซึ่งที่จริงภาครัฐมีข้อมูลเยอะมาก แต่ไม่เคยจัดระเบียบให้นำมาใช้งานได้จริง ทุกวันนี้จึงเป็นการตัดสินใจโดยใช้สัญชาตญาณเสียมากกว่า
  • ภาครัฐต้องจัดเตรียมบริการข้อมูลให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย

ประชาธิปัตย์ – เกียรติ สิทธีอมร

  • ต้องจัดระเบียบข้อมูลภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับประชาชน แต่ต้องทำร่วมกับภาคเอกชน โดยมีคณะทำงานร่วมกัน เช่น สมาคมด้านดิจิทัล กกร. สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าไทยฯ

เพื่อไทย – คุณศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ

  • ต้องแก้ปัญหาฐานข้อมูลชุดเดียวกันให้ถูกต้องตรงกัน เช่น จำนวนนักเรียน จำนวนเกษตรกรที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะเป็นไปได้ว่าเป็นความผิดพลาดของข้อมูลด้วยความตั้งใจจะทุจริตคอรัปชัน การจัดการข้อมูลที่ดีจะทำให้เกิดความโปร่งใสและลดโอกาสการทุจริตได้

5. คิดว่า startup คืออะไร? แล้วปัญหาใหญ่ของ startup ที่ทำให้ไปสู่ระดับโลกไม่ได้คืออะไร? – คุณแคสเปอร์ ธนกฤต เสริมสุขสันต์ สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup)

ก้าวไกล – คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

  • สตาร์ทอัพ ต้องมีความสามารถด้านการเติบโตอย่างรวดเร็วได้ ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี เช่น Grab ที่แก้ปัญหาด้าน logistics เพียงแต่ใช้เทคโนโลยีมาเสริม 
  • พรรคต้องการเปิดโอกาสให้ทุกสมาคมมาออกแบบนโยบายร่วมกันได้
  • ปัญหาที่พบ ได้แก่ ด้านบุคลากรที่ค่าตัวแพง ปัญหาเงินทุนที่ไม่มี VC กล้าเสี่ยง รวมถึงตลาดไทยที่คนไทยยังไม่มั่นใจใน startup และภาครัฐไม่กล้าลงทุนสนับสนุน startup เพราะกังวลเรื่องใช้เงินเอื้อประโยชน์ให้เอกชน
  • รัฐสามารถเริ่มได้โดยเปลี่ยนความต้องการของภาครัฐเป็นตลาดและโอกาสให้ startup มาทำธุรกิจได้ โดยรัฐมีนโยบายพร้อมซื้อสินค้าที่ผลิตในไทยก่อน

ชาติพัฒนากล้า – คุณวรวุฒิ อุ่นใจ

  • สตาร์ทอัพ ทำในสิ่งที่ลูกค้าไม่รู้ว่าตัวเองต้องการ ถ้าทำสิ่งที่ลูกค้าอยู่แล้วว่าต้องการอะไรจะเป็น SME  สตาร์ทอัพต้องสร้างตลาดและหา demand เอง ซึ่งตลาดไทยมีความท้าทายเพราะหา early adopter ได้ยาก
  • สตาร์ทอัพไม่ใช่เรื่องปริมาณแต่เป็นเรื่องคุณภาพ ถ้าภาครัฐไม่เข้าใจจะไปกำหนดเรื่องจำนวนสตาร์ตอัพที่ต้องการเกิดขึ้นซึ่งอาจไม่ตรงโจทย์ ประเทศไทยจึงต้องการรัฐบาลที่เข้าใจสตาร์ทอัพ
  • ประเทศสิงคโปร์มีโครงการ BLOCK71 ในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยมีโค้ชที่มีประสบการณ์ มีกลุ่ม founder ที่มีความสามารถหลากหลาย และมีแหล่งเงินทุนที่เชื่อมไปหา Silicon Valley ได้ ซึ่งประเทศไทยก็สามารถแบบนี้ได้ เช่น ในรูปแบบ smart city และเรามีความพร้อมที่จะทำด้านนี้ได้อยู่แล้ว
  • ทางรอดของ startup ในประเทศไทยควรเป็น corporate VC คือ ใช้ความรู้และเครือข่ายให้ corporate ช่วยเป็นพี่ใหญ่สนับสนุนให้เติบโต รวมถึงให้ภาครัฐเป็นลูกค้าซื้อบริการจากสตาร์ทอัพไทย

ประชาธิปัตย์ – เกียรติ สิทธีอมร

  • สตาร์ทอัพ คือธุรกิจที่เกิดใหม่เพราะเห็นช่องว่างบางอย่างในตลาด และโตแบบก้าวกระโดด ทำในสิ่งที่ลูกค้ารู้ว่าต้องการแต่ไม่มีใครเคยทำให้ได้มาก่อน
  • ปัญหาที่พบคือ สภาพแวดล้อมให้ startup เติบโตได้ เช่น นโยบายภาษีที่เหมาะสม บุคลากรที่มีความพร้อมและค่าแรงเหมาะสม และการเลือกตลาดที่ใหญ่พอ เช่น startup ในแคนาดาเลือกเจาะตลาดอเมริกา หรือ startup สิงคโปร์ที่เลือกเจาะตลาดอาเซียน ดังนั้น ประเทศเป้าหมายต้องมีแนวโน้มที่ GDP จะเติบโตด้วยจึงจะเป็นตลาดที่น่าสนใจ
  • การช่วยเหลือ startup ของภาครัฐต้องตั้งคำถามด้วยว่าประเทศได้ประโยชน์อะไรจาก startup ไม่ใช่แค่ startup ได้ประโยชน์อะไรจากประเทศ ประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่ายต้องไปด้วยกัน

ไทยสร้างไทย – คุณเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน

  • สตาร์ทอัพ เกิดขึ้นเพราะอยากเป็นผู้แก้ไขปัญหา ไม่ใช่แค่บ่นปัญหาแต่ลงมือทำด้วย
  • ต้องพักใช้ใบอนุญาต 1,400 ฉบับเป็นเวลา 3 ปีเพราะคนจะได้กล้าคิดและกล้าทำด้วย
  • ปัญหาด้านเงินทุน โดยกำหนดว่าอุตสาหกรรมที่แข็งแรงและมีแต้มต่อคืออะไร รัฐจะได้ผลักดันได้ชัดเจนขึ้น
  • แก้ปัญหาด้าน digital nomad ให้เข้ามาทำงานในไทยได้ เพราะคนต่างชาติอยากมา แต่โครงการกฎระเบียบบ้านเรามองคนต่างชาติเหล่านี้ในแง่ร้าย
  • ต้องใช้ประโยชน์จากมหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนด้าน startup ด้วย

เพื่อไทย – คุณศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ

  • สตาร์ทอัพ (รวมถึง SME) คือ คนหิวด้านความสำเร็จ หิวการได้เห็นสังคมที่ดีขึ้น หิวการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นในทุกวัน
  • อุปสรรคคือเวลา แหล่งข้อมูล และแหล่งทุน
  • ภาครัฐต้องนำแหล่งข้อมูลจากทั่วโลกมาใช้ได้
  • ต้องแก้ไขการจัดซื้อจัดจ้างให้ซื้อสินค้าบริการจาก startup และ SME ได้ โดยทำให้โปร่งใส
  • ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ปรับโครงสร้างพลังงานและคมนาคม
  • สร้างระบบเศรษฐกิจให้ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อเพิ่มโอกาสให้มีตลาดผู้บริโภคในไทยมากขึ้น เพราะหากไม่มีกำลังซื้อในไทย สุดท้าย startup จะต้องออกไปขายให้ลูกค้านอกประเทศอย่างเดียว โดยผู้บริโภคไทยไม่มีโอกาสได้รับบริการเลย

พลังประชารัฐ – คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

  • ไม่ได้ใช้สิทธิตอบคำถาม

6. สมมติว่าพรรคของท่านได้ดูแลกระทรวงดิจิทัลฯ และได้งบประมาณ 1,257 ล้านบาท จะนำไปทำอะไรก่อน? – คุณอั๋น พิพัฒน์ พิเชฐจำเริญ อุปนายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย

พลังประชารัฐ – คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

  • กระทรวงดิจิทัลฯ ช่วยกำกับและส่งเสริมมากกว่า ไม่ได้มีงบประมาณทำอะไรได้มาก แต่ทุกวันนี้ก็พยายามส่งเสริม startup อยู่แล้ว เช่น depa ซึ่งเป็นหน่วยงานทำหน้าที่สนับสนุนเป็นหลักซึ่งก็ประสบความสำเร็จ เป็นที่น่าพอใจ
  • ปัญหาใหญ่ของกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นเรื่องคน เพราะเด็กไทยไม่ได้สนใจวิชาชีพด้านดิจิทัลมากนัก จึงมีบุคลากรออกมาจำนวนไม่มาก ประเทศไทยได้คะแนนดีเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี แต่ได้คะแนนต่ำเรื่องบุคลากรด้านเทคโนโลยี การพัฒนาคนจึงสำคัญมาก และหวังว่าทุกพรรคจะให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคนด้วยกัน

ก้าวไกล – คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

  • งบประมาณไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ควรเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และมีการบูรณาการข้อมูลเพื่อนำไปใช้งานประโยชน์ได้จริง เช่น หากมีสวัสดิการประชาชนจะต้องถึงมือได้ทันทีโดยไม่ต้องลงทะเบียน ไม่ต้องร้องขอ โดยอาศัยโครงการ Digital ID ซึ่งสามารถเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพการใช้งบประมาณได้
  • ระบบราชการมีอุปสรรคเวลาพัฒนาระบบด้วยตัวเอง ดังนั้น การพัฒนาระบบสามารถร่วมมือกับภาคเอกชนได้เช่นกัน

ประชาธิปัตย์ – เกียรติ สิทธีอมร

  • งบประมาณไม่ใช่อุปสรรค อุปสรรคคือผู้บริหารมีวิสัยทัศน์เพียงพอไหมที่จะทำ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน มีงบน้อยมากแต่สร้าง impact ให้ประชาชนได้มาก ดังนั้น ผู้บริการกระทรวงนี้จะต้องเข้าใจและอยู่ ahead of the game เสมอ
  • กระทรวงดิจิทัลฯ ต้องไม่นำงบประมาณเป็นข้อจำกัด เพราะในอดีตเคยมีวิธีที่ภาครัฐเปิดตลาดต่างประเทศให้เอกชนได้โดยใช้งบประมาณน้อยมากแต่เอกชนได้ลูกค้ากลับประเทศ ดังนั้น ภาครัฐต้องคุยกับเอกชนอยู่เสมอ รัฐไม่ควรวางตัวเก่งกว่าเอกชน แต่รัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้เอกชนเติบโตและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้

ไทยสร้างไทย – คุณเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน

  • กระทรวงดิจิทัลฯ ควรวางตัวสนับสนุน new S-curve ให้ประเทศไทยได้ และแบ่งงานกับกระทรวงอื่นๆ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับหน่วยอื่นๆ เรื่องงบประมาณอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
  • กระทรวงดิจิทัลฯ ควรใช้งบประมาณส่งเสริมให้คนไทยมีทักษะใหม่ๆ ที่สำคัญ และต้องเป็นงานที่กระทรวงอื่นไม่ทำ เช่น cyber security
  • ทุกวันนี้ทุกหน่วยงานมีแอปเป็นของตัวเอง และเป็นเจ้าของข้อมูลเองด้วย กระทรวงฯ ควรกำหนดบทบาทใหม่ว่าควรดำเนินการอย่างไร และประสานอย่างไรให้แอปเหล่านี้มีความหมายมากกว่านี้ได้

เพื่อไทย – คุณศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ

  • กระทรวงดิจิทัลฯ ควรมีบทบาทในการไปช่วยกำหนดการใช้งบประมาณของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านดิจิทัลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดความโปร่งใส เพราะทุกวันนี้ทุกกระทรวงถืองบของตัวเองแต่ไม่ได้พูดคุยกัน
  • กระทรวงดิจิทัลฯ ต้องวางโครงการระบบการชำระเงินดิจิทัลของประเทศและเปิด API ให้ภาคเอกชนมาร่วมกันพัฒนาระบบได้ และจัดซื้อจัดจ้างให้บริสุทธิ์โปร่งใสขึ้นได้

ชาติพัฒนากล้า – คุณวรวุฒิ อุ่นใจ

  • ไม่ได้ใช้สิทธิตอบคำถาม

สรุปส่งท้าย

ทุกพรรคเห็นภาพตรงกันว่าเศรษฐกิจดิจิทัลมีความสำคัญ และพบอุปสรรคที่ภาครัฐจำเป็นต้องแก้ปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะด้านกฎระเบียบภาครัฐ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยให้เติบโตได้มากยิ่งขึ้น

ส่วนบรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสร้างสรรค์ ทั้งผู้แทนจากพรรคการเมืองและสมาคมต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันตลอดการเสวนาไปจนถึงช่วงหลังจบเสวนาด้วย ซึ่งหวังว่าจะทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนานโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตต่อไป

เปิดนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล 2

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)