รับรู้เงินเดือนและสวัสดิการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ในฐานะผู้เสียภาษี

งบประมาณ

ถ้าจะถามหาเรื่องที่ร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ และเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจคงหนีไม่พ้นเรื่องของ การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และหากคุณเป็นหนึ่งคนที่ก็อยากรู้ว่า งบประมาณ 1,300 ล้านบาทถูกใช้ไปกับเรื่องใดบ้าง iTAX หาข้อมูลมาให้เรียบร้อยแล้ว

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

  • วุฒิสภาไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489

วุฒิสภาไทย เริ่มก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2489 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 มีการแบ่งรูปแบบสำคัญออกเป็น 2 ยุค คือ ยุคสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง และยุคสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งและการสรรหา และกำหนดให้วุฒิสภามีวาระ 4 ปี

  • วุฒิสภาไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

วุฒิสภาไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ประกอบไปด้วย สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง 200 คน โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง มีหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มีกำหนดวาระคราวละ 6 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง

และรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 กำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี หรือเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาโดยไม่มีการลงมติ และมีหน้าที่อื่นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

  • วุฒิสภาไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

ในวาระเริ่มแรก กฎหมายกำหนดให้วุฒิสภาประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 250 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง โดยจะมีอายุตามกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และอย่างที่หลายคนรู้กันว่า สมาชิกวุฒิสภาชุดแรก ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 นั้น มาจากการสรรหาและคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้ง 250 คน โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คัดเลือกผู้ได้รับเลือกจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 50 คน และคัดเลือกจากรายชื่อสำรองจำนวน 50 คน โดยเป็นการคัดเลือกจากบุคคลกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง
  2. คสช. คัดเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาวุฒิสมาชิกให้ได้จำนวน 194 คน และคัดเลือกรายชื่อสำรองจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาจำนวน 50 คน
  3. ผู้ดำรงตำแหน่ง 6 ตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง)
  4. คสช. นำรายชื่อบุคคลซึ่งได้รับคัดเลือกจำนวน 250 คน ขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป และให้หัวหน้า คสช. เป็นผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการ

ข้อมูลจาก : https://library2.parliament.go.th/


งบประมาณที่ใช้ในการสรรหา ส.ว.

อย่างที่สำนักข่าวหลายแห่งได้นำเสนอข่าวงบประมาณที่ใช้ในการสรรหา ส.ว. ไปทั้งหมด 1,300 ล้านบาทนั้น ทีมงาน iTAX จึงลองทำการค้นข้อมูลดูว่า การคัดเลือก ส.ว. นั้นมีการใช้งบประมาณไปในเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ของ กกต (www.ect.go.th) ได้ความว่า

เรื่อง

งบประมาณที่ถูกใช้ไป (บาท)

จ้างทำวิจัยประเมินผลกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2561

3,000,000

จ้างการจัดการเลือก ส.ว. ระดับประเทศ

4,394,942

จ้างทำอาหารกลางวัน และอาหารว่างพร้อมเครื่องดื่ม

โครงการศูนย์ประชาสัมพันธ์การได้มาซึ่ง ส.ว.

45,000

จ้างจัดกิจกรรมรณรงค์ตามสถานการณ์
(โค้งสุดท้ายของการเลือก ส.ว.)

210,000

ซื้อวัสดุอุปกรณ์ประจำสถานที่เลือกระดับประเทศ 10 ชุด
(เลือก ส.ว.)

10,000

จ้างพิมพ์บัตรตัวอย่างบัตรลงคะแนนเลือก ส.ว.

119,930

จ้างพิมพ์บัตรลงคะแนนเลือก ส.ว.

902,708.50

จ้างประชาสัมพันธ์ข้อมูลการได้มาซึ่ง ส.ว.

ผ่านเครือข่ายสมาคมออนไลน์

2,200,000

จ้างทำแนวกั้นแถบพลาสติก สำหรับเลือก ส.ว.

545,849.70

ผลิตสื่อให้ความรู้การดำเนินการได้มาซึ่ง ส.ว.

จำนวน 4 รายการ

2,700,000

จ้างจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ข้อมูลการได้มา ซึ่ง ส.ว.

500,000

จ้างทำแผ่นพับการเลือก ส.ว.

301,400

จ้างทำแฟลตไดร์ฟ ความจุ 32 GB

ติดโลโก้ข้อความ กกต. และ ส.ว. 2561

78,645

จ้างทำป้ายประชาสัมพันธ์ ติดตั้งภายในศูนย์อำนวยการ

เลือก ส.ว.

16,264

รวม

15,024,739

[สรุปได้ว่า งบประมาณที่ใช้ในการสรรหา ส.ว. 250 คน จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ใช้จริงไปเพียง 15 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.16% ของงบประมาณที่ตั้งไว้เท่านั้น]

** หมายเหตุ งบประมาณข้างต้นปรากฎในเว็บไซต์ของ กกต. ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เท่านั้น จึงอาจจะมีรายการเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้เงินเดือนเท่าไหร่?

ทันทีที่มีการประกาศรายชื่อ ส.ว. ผู้เสียภาษีหลายคนอาจจะตั้งคำถามเกี่ยวกับเงินเดือนที่ ส.ว. ทั้ง 250 คนจะได้รับ ซึ่งสามารถแบ่งออกตามตำแหน่งต่างๆ ได้ดังนี้

ตำแหน่ง

เงินประจำตำแหน่ง
(บาท/เดือน)

เงินเพิ่ม
(บาท/เดือน)

รวมทั้งหมด
(บาท/เดือน)

ประธานวุฒิสภา

74,420

45,500

119,920

รองประธานวุฒิสภา

73,240

42,500

115,740

สมาชิกวุฒิสภา

71,230

42,330

113,560

นอกเหนือจากเงินเดือนและเงินเพิ่มที่ ส.ว. ได้รับในแต่ละเดือนแล้ว ส.ว. แต่ละคนยังได้รับ เบี้ยประชุมกรรมาธิการครั้งละ 1,500 บาท รวมถึง ค่าพาหนะในการเดินทางครั้งแรกเพื่อเข้ามารับหน้าที่ (กรณีอยู่ต่างจังหวัด) มายังรัฐสภาและค่าเดินทางเมื่อสิ้นสุดวาระ

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็มีสวัสดิการเช่นกัน

นอกเหนือจากเงินเดือนและเบี้ยประชุมที่ ส.ว. จะได้รับแล้ว ยังมีสวัสดิการอื่นๆ เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

1. ส.ว. มีสิทธิเสนอให้แต่งตั้งผู้ช่วยประจำตัว ได้แก่

  • ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน ได้รับค่าตอบแทน 24,000 บาทต่อเดือน
  • ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน ได้รับค่าตอบแทนคนละ 15,000 บาทต่อเดือน
  • ผู้ช่วยดำเนินงาน 5 คน ได้รับค่าตอบแทนคนละ 15,000 บาทต่อเดือน

2. สิทธิรักษาพยาบาล

ส.ว. จะได้รับแพคเกจตรวจสุขภาพประจำปี 7,000 บาท และได้รับ

2.1 กรณีรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก

  • ทั่วไป 90,000 บาทต่อปี
  • อุบัติเหตุ  – ฉุกเฉิน 20,000 บาทต่อครั้ง

2.2 กรณีผู้ป่วยใน

  • ค่าห้องและค่าอาหารต่อวัน (ไม่เกิน 31 วันต่อครั้ง) 4,000 บาท
  • ค่าห้องไอซียู 10,000 บาท
  • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป 100,000 บาทต่อครั้ง
  • ค่ารถพยาบาล 1,000 บาท
  • ค่าแพทย์ผ่าตัด 120,000 ต่อครั้ง

3. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางราชการภายในประเทศ

3.1 ค่าพาหนะการเดินทางไป – กลับประชุมรัฐสภา : เบิกตามระยะทางที่แจ้งไว้ครั้งแรก

3.2 ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในประเทศ : เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 270 บาทต่อคนต่อวัน

3.3 ค่าที่พัก (เบิกตามจริง) แบ่งออกเป็น

  • ค่าห้องพักคนเดียว ไม่เกิน 2,500 บาทต่อคนต่อวัน
  • ค่าห้องพักคู่ไม่เกิน 1,400 บาทต่อคนต่อวัน
  • ค่าที่พักกรณีเหมาจ่าย 1,200 คนต่อวัน

4. ได้รับตั๋วฟรีจากบริษัทขนส่ง ประกอบไปด้วย

  • บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด
  • บริษัท กานต์นิธิ เอวีเอชั่น จำกัด (กานต์แอร์)
  • บริษัท โอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์ จำกัด (วัน ทู โก แอร์ไลน์)
  • บริษัท แฮปปี้ แอร์ ทราเวิลเลอร์ส จำกัด
  • การรถไฟแห่งประเทศไทย
  • บริษัท ขนส่ง จำกัด

5. เบี้ยเลี้ยงสำหรับการเดินทางไปราชการต่างประเทศ

ในกรณีที่ ส.ว. เดินทางไปราชการที่ต่างประเทศ จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้เป็น 2 กรณีใหญ่ๆ คือ

5.1 เบิกเหมาจ่าย ไม่เกินวันละ 3,100 บาทต่อคน

5.2 กรณีไม่เหมาจ่าย แบ่งออกเป็น

  • ค่าอาหาร เครื่องดื่ม โรงแรม จ่ายจริงไม่เกินวันละ 4,500 บาทต่อคน
  • ค่าทำความสะอาดเสื้อผ้า จ่ายจริงไม่เกินวันละ 500 บาทต่อคน
  • ค่าใช้สอยเบ็ดเตล็ด เหมาจ่ายไม่เกินวันละ 500 บาทต่อคน
  • อัตราค่าเช่าที่พัก (แบ่งตามกลุ่มประเทศ) 4,500 – 14,000 บาทต่อวันต่อคน
  • ค่าเครื่องแต่งตัวเหมาจ่าย 9,000 บาท

ทั้งหมดนี้คือ หน้าที่ เงินเดือน และสวัสดิการต่างๆ ที่ ส.ว. ชุดแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะได้รับ ส่วนหลังจากนี้ไปจะมีสวัสดิการส่วนไหนเพิ่มขึ้น iTAX จะมาอัปเดตให้ผู้เสียภาษีได้รู้กันต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)