ไม่ได้รับเงินผ่านบัญชีธนาคาร สรรพากรรู้ได้ไงว่าเราไม่ได้เสียภาษี

ทั่วไป

13,506 VIEWS

ถ้าจะถามถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาษีที่สังคมเข้าใจผิดกันมานานคงหนีไม่พ้น “แค่รับเงินสด สรรพากรก็ไม่รู้แล้ว ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงนั้น ไม่ว่าคุณจะมีรายได้จากช่องทางไหน จะรับเงินสดหรือโอนผ่านบัญชีธนาคาร สรรพากรก็รู้แหล่งที่มาของรายได้ของคุณอยู่ดี และหากคุณสงสัย iTAX จะเล่าให้ฟัง

รับเงินรายได้เป็นเงินสด ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องจ่ายภาษี

ผู้เสียภาษีมักจะเข้าใจว่า การรับเงินค่าจ้างเป็นเงินสดที่ไม่มีการทำธุรกรรมผ่านบัญชีธนาคารนั้น จะช่วยให้สามารถปิดบังรายการเงินได้ที่แท้จริงได้ และคิดกันไปว่า สรรพากรจะไม่มีทางรู้แน่ๆ ว่าเรารายได้เท่าไหร่ หากคุณเป็นหนึ่งคนที่คิดแบบนี้ เราอยากจะบอกว่า คุณกำลังคิดผิดมหันต์เลยทีเดียว เพราะในความเป็นจริง ไม่ว่าคุณรับเงินค่าจ้างเป็นเงินสด หรือหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมผ่านธนาคารมากแค่ไหน  กรมสรรพากรก็สามารถรู้รายได้ที่แท้จริงของคุณได้อยู่ดี

และหากคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ คุณจะต้องทำการยื่นภาษี และเสียภาษีเช่นเดียวกับมนุษย์เงินเดือนคนอื่นๆ

เลี่ยงไปใช้เงินสดแล้ว สรรพากรรู้ได้อย่างไรว่า เรามีรายได้เท่าไหร่?

สิ่งที่ทำให้กรมสรรพากรรับรู้รายได้ของคุณ หรือเช็กได้ว่าคุณได้ทำการเสียภาษีหรือยื่นภาษีถูกต้องหรือไม่นั้น ก็เพราะว่า

  • การหักภาษี ณ ที่จ่าย ของบริษัทผู้ว่าจ้าง

คุณอาจจะคิดว่า หากไม่รับเงินค่าจ้างผ่านธนาคาร ย่อมไม่มีหลักฐานว่าคุณมีรายได้ ในเมื่อไม่มีหลักฐานรายได้ ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่คุณอาจจะลืมไปว่า บริษัทมักจะจ่ายเงินค่าจ้างพร้อมกับ การหักภาษี ณ ที่จ่าย และการหักภาษี ณ ที่จ่ายนี่แหละ ที่จะทำให้สรรพากรทราบว่า คุณรับเงินจากผู้ว่าจ้างเท่าไหร่

ทั้งนี้ก็เพราะ เมื่อบริษัทผู้ว่าจ้างทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายรายได้ของคุณแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องนำส่งเงินภาษีที่หักให้แก่กรมสรรพากร และใช่! เรากำลังจะบอกคุณว่า เมื่อผู้ประกอบการนำเงินภาษีส่งกรมสรรพากร ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่กรมสรรพากรจะไม่ทราบว่า คุณมีรายได้เท่าไหร่

  • การบันทึกค่าใช้จ่ายของบริษัท

นอกเหนือจาก การหักภาษี ณ ที่จ่าย เจ้าของธุรกิจจะต้องนำส่งรายการบันทึกค่าใช้จ่ายของบริษัทให้กรมสรรพากรด้วย และในบันทึกเหล่านั้นจะต้องระบุค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้อย่างละเอียด พร้อมกับเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ได้แก่

  1. เอกสารการรับเงินของผู้ที่รับเงิน 
  2. ใบกำกับภาษี หรือใบเสร็จรับเงินที่ระบุชื่อบุคคลอื่น เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สามารถใช้เป็นหลักฐานได้ว่า กิจการนั้นๆ เป็นผู้จ่ายเงินจริง
  3. ใบสำคัญจ่าย (Payment Voucher) พร้อมหลักฐานการจ่ายเงิน เช่น หลักฐานการโอนเงิน, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนในกรณีที่จ่ายเป็นเงินสด

รายได้ที่ไม่ถูกหักภาษี = รอดจากกรมสรรพากรจริงหรือ?

ในกรณีที่คุณรับเงินค่าจ้างจากบริษัทหรือธุรกิจต่างๆ แต่ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็อย่าเพิ่งดีใจไปว่า รายการเงินได้ของคุณนั้นจะสามารถเล็ดลอดสายตาเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรไปได้ เพราะต่อให้บริษัทที่ว่าจ้างคุณจ่ายเงินให้คุณโดยไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย แต่สิ่งหนึ่งที่บริษัทจะต้องทำและเลี่ยงไม่ได้ก็คือ รายการค่าใช้จ่ายที่จะต้องส่งให้กรมสรรพากร นั่นหมายความว่า ต่อให้เงินค่าจ้างที่ได้รับไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่สรรพากรก็สามารถรับรู้ได้อยู่ดีว่า คุณได้รับเงินค่าจ้างจากบริษัทไหน เท่าไหร่บ้าง

ทั้งนี้ หากคุณเป็นหนึ่งคนที่รับเงินค่าจ้างเป็นเงินสดมาตลอดไม่ว่าจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ก็ตาม  หากคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ เราแนะนำให้คุณทำการยื่นภาษีเงินได้ประจำปีให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันปัญหา โดนตรวจสอบภาษีย้อนหลัง และการยื่นภาษีนั้นไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องเสียภาษีเสมอไป ในทางกลับกันการยื่นภาษีอาจจะทำให้คุณได้เงินคืนภาษีก็ได้

และหากคุณไม่แน่ใจว่า จะต้องเริ่มคำนวณภาษีจากตรงไหน รายได้ที่คุณได้รับถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ หรือคุณสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีอะไรได้บ้าง คุณสามารถวางแผนภาษีและคำนวณภาษีได้ที่ แอปพลิเคชั่น iTAX Pro (ฟรีทั้ง iOS และ Android) แล้วคุณจะรู้ว่า จัดการภาษีง่ายกว่าที่คิด

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)