ด่วน! “กึ่ง” ล็อกดาวน์กรุงเทพ-ปริมณฑล 30 วัน มีผลทันที 28 มิ.ย.

ทั่วไป

ประกาศ “กึ่ง” ล็อกดาวน์กรุงเทพ-ปริมลฑล ประกาศราชกิจจานุเบกษามีผลใช้บังคับทันทีตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน 2564 สั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง ล็อกดาวน์ร้านอาหาร ให้ซื้อกลับบ้านได้อย่างเดียว เป็นเวลา 30 วัน

อย. ขึ้นทะเบียน ‘วัคซีนไฟเซอร์’ให้ใช้ในไทยได้แล้ว

เปรียบเทียบราคาวัคซีนโควิด-19 ต่อโดส (อัพเดตล่าสุด มิ.ย. 2564)

หมอยง เตือนโควิดสายพันธุ์เดลตาระบาดหนักในไทยแน่

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีสาระสำคัญคือประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร เป็นเวลา 30 วัน โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  1. ล็อกดาวน์ปิดแคมป์ก่อสร้าง เพื่อเข้าควบคุมและชะลอการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
  2. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ในร้านอาหารทั้งหมดให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น
  3. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าคอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 21.00 น.โดยให้งดการให้บริการเพิ่มเติมในพื้นที่โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ พื้นที่นั่งรับประทานในศูนย์อาหาร และเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลในพื้นที่พักคอย เพิ่มประสิทธิภาพของระบบหมุนเวียนอากาศ
  4. โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา และการจัดเลี้ยง
  5. ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีกรรรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่ายี่สิบคน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ประกาศ 10 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม)

  1. กรุงเทพมหานคร
  2. จังหวัดนครปฐม
  3. จังหวัดนนทบุรี
  4. จังหวัดสมุทรปราการ
  5. จังหวัดสมุทรสาคร
  6. จังหวัดนราธิวาส
  7. จังหวัดปทุมธานี
  8. จังหวัดปัตตานี
  9. จังหวัดยะลา
  10. จังหวัดสงขลา

เปิดข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 25 “กึ่ง” ล็อกดาวน์กรุงเทพ-ปริมณฑล

ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา 9
แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
(ฉบับที่ 25)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่  26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 นั้น 

โดยที่ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ในความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข เห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีจำนวนมากกว่าหลายพันรายต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่เร่งจัดการอาจกระทบต่อระบบบริการทางสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เตียงผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์การแพทย์ ที่รองรับผู้ป่วยอาการหนักหรือผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินซึ่งมีอยู่จำกัด ประกอบกับพบการระบาดเกิดขึ้น อันเป็นผลจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหาและสกัดกั้นการระบาดแบบกลุ่มก้อน ทำให้พบกลุ่มผู้ติดเชื้อกระจายอยู่โดยรอบพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นในที่พักแรงงานก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน  ตลาดและแหล่งชุมชน อีกทั้งพบกลุ่มผู้ติดเชื้อในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนและในบ้านพักคนชราที่เป็นกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกพบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 กลายพันธุ์ชนิดสายพันธุ์เบตาที่ทำให้ป่วยรุนแรงและมีความเสี่ยงต่อชีวิตในอัตราสูงในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลโดยข้อเสนอแนะของฝ่ายสาธารณสุข ประกอบกับความเห็นของคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 จึงจำเป็นต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมายเฉพาะและบังคับใช้มาตรการควบคุมที่จำเป็นเพื่อมุ่งชะลอและสกัดกั้น การระบาดของเชื้อโรคอย่างเร่งด่วนและหยุดยั้งอัตราการเร่งของจำนวนผู้ป่วย 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534  นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ 

ข้อ 1 มาตรการเร่งด่วนเพื่อสกัดกั้นการระบาดในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ มาตรการ และข้อปฏิบัติต่าง ๆ ตามข้อกำหนดนี้ มุ่งเพื่อการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างเร่งด่วนในเขตพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา) โดยให้ดำเนินการต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อยสามสิบวันเพื่อเข้าควบคุมและชะลอการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 ซึ่งพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนกระจายในหลายพื้นที่ รวมทั้งการสกัดกั้น การเคลื่อนย้ายเดินทางของกลุ่มเสี่ยงเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ออกเป็นวงกว้างสู่พื้นที่อื่นๆ อย่างรวดเร็ว  โดยให้ประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมของมาตรการและข้อปฏิบัตินี้ทุกระยะเวลาสิบห้าวัน 

ให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ข้อห้าม  และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ใช้บังคับกับพื้นที่ ตามวรรคหนึ่งเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้ด้วย 

ข้อ2 การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อควบคุมโรคและป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพแรงงานก่อสร้างซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงและพบการระบาดแบบกลุ่มก้อน ให้ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดปริมณฑล อาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พิจารณามีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร หรือพื้นที่ดำเนินการก่อสร้าง  หรือสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคารประเภทอาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสูง  อาคารขนาดใหญ่ อาคารที่อยู่อาศัยรวม อาคารสาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร  หรือโครงการจัดสรรทุกประเภท ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือโรงงานตามกฎหมาย ว่าด้วยโรงงาน และให้มีคำสั่งปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงานทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร รวมทั้งมีคำสั่งให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามการเดินทาง และเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นการชั่วคราวอย่างน้อยสามสิบวัน 

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนกำลังจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านความมั่นคง เข้าดำเนินการตรวจตราและกำหนดเงื่อนไขจำกัดการเดินทางเข้าออกสถานที่พัก  การตั้งจุดตรวจและสกัดการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ การสั่งให้ปรับปรุงสุขาภิบาลของสถานที่พัก  และตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรค หลักเกณฑ์ จัดทำทะเบียน  และแนวปฏิบัติที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด- 19 (ศปก.ศบค.) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน  กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดต่อไป  

พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจพิจารณาดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เพื่อเข้าจัดการสถานที่พักอาศัยชั่วคราวที่มีคำสั่งปิด เพื่อใช้เป็นสถานที่กักกัน สถานพยาบาล  โรงพยาบาลสนามชั่วคราว หรือเพื่อประโยชน์ต่อการควบคุมโรคได้ตามความเหมาะสม  ภายใต้การกำกับของกระทรวงสาธารณสุข 

ให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบประสานงานกับผู้ประกอบการหรือ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อให้ความช่วยเหลือหรือดำเนินการอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ประกอบอาชีพ แรงงานก่อสร้างตามวรรคหนึ่งตามความเหมาะสม  

การออกคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีหรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศบค.) กำหนดด้วย

ข้อ 3 การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานในสถานประกอบการ และโรงงานเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานควบคุม โรคติดต่อดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติของผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบในสถานประกอบการ และโรงงาน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ตามที่ ทางราชการกำหนด โดยกระจายครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ตามที่ได้ประเมินสถานการณ์ไว้  เพื่อมุ่งจำแนกผู้ติดเชื้อและเข้าจำกัดเขตพื้นที่ที่เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อนขึ้น รวมทั้งกำหนดเงื่อนไข เพื่อกำกับหรือจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางเข้าออกเขตพื้นที่สถานประกอบการหรือโรงงานดังกล่าว  และดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรค หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติที่ ศบค. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกำหนดต่อไป 

ข้อ 4 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล กำหนดเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรค ที่จำเป็นเพิ่มเติมให้เข้มงวดขึ้นจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่ได้กำหนดไว้แล้วตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564 สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่ให้เปิดดำเนินการได้ โดยปฏิบัติต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อยสามสิบวัน  ดังต่อไปนี้ 

(1) การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึง  ร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่  จัดนิทรรศการ โรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต  รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ตลาด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดค้าส่ง ตลาดโต้รุ่ง หรือสถานประกอบการอื่น ที่มีลักษณะคล้ายกันและมีการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภค ที่อื่นเท่านั้น  

(2) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 21.00 นาฬิกา  โดยให้งดการให้บริการเพิ่มเติมในพื้นที่โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ พื้นที่นั่งรับประทาน ในศูนย์อาหาร และเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลในพื้นที่พักคอย เพิ่มประสิทธิภาพของระบบ หมุนเวียนอากาศ และเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการ ด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด  

(3) โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ ให้เปิดดำเนินการ ได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา และการจัดเลี้ยง  

(4) กิจกรรมการรวมกลุ่ม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกัน มากกว่ายี่สิบคน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค  

ข้อ5 มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในเขตชุมชน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดกวดขันการดำเนินการตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคติดต่อในการเข้าไปตรวจตราเขตชุมชน ตลาด หรือสถานที่ที่ได้ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยง ต่อการระบาดของโรค โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจคัดกรองเชิงรุก และเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อมุ่งจำแนกและจำกัด เขตพื้นที่การระบาด และจัดให้ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อเข้ารับการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต หรือเข้ารับการรักษาตามกระบวนการทางสาธารณสุขต่อไป 

เมื่อพบแหล่งที่มีการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อมีคำสั่งปิดเขตชุมชน หรือสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว หรือกำหนดเงื่อนไขเพื่อกำกับหรือจำกัดการเคลื่อนย้าย เดินทางเข้าออกพื้นที่ระบาด และดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคที่กระทรวงสาธารณสุข กำหนดต่อไป ทั้งนี้ การออกคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าว ให้เป็นไปตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีหรือ ศบค. กำหนดด้วย 

ข้อ 6 การให้ความช่วยเหลือประชาชน เมื่อได้มีคำสั่งและดำเนินมาตรการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดตามข้อ 5 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร หรือจิตอาสา โดยการสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย  กรุงเทพมหานคร จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือบุคคล ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานที่หรือจำกัดการเดินทางเข้าออกพื้นที่จากการระบาดแบบกลุ่มก้อน ในเขตชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ หรือบุคคลที่ควรได้รับความช่วยเหลือ ตามความเหมาะสม 

ข้อ 7 กำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและตรวจคัดกรองการเดินทาง ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด เพื่อคัดกรองการเดินทางตามแนวทางที่ ศปก.ศบค. กำหนด เป็นระยะเวลาอย่างน้อยสามสิบวัน  โดยกำหนดรายละเอียดแยกตามพื้นที่ ดังนี้ 

(1) เส้นทางคมนาคมเข้าออกจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี  จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา) การตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อตรวจคัดกรอง การเดินทาง ให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด เพื่อสกัดกั้นและยับยั้งการระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด  โดยบุคคลที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดตามข้อนี้ ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรแสดงตนอื่น ๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด- 19 กระทรวงมหาดไทย กำหนด  

(2) เส้นทางคมนาคมเข้าออกกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม  จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) การตั้งจุดตรวจ  ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเพื่อทำงานข้ามเขตจังหวัด  ให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยให้ผ่านเข้าออกได้เฉพาะแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเพื่อการทำงาน ข้ามจังหวัดจากผู้ว่าราชการจังหวัดต้นทางและจังหวัดปลายทาง ทั้งนี้ สำหรับการเดินทางข้ามเขตจังหวัด ของประชาชนทั่วไป ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นเพื่อมุ่งเน้นความปลอดภัยทั้งต่อประชาชนและพนักงาน เจ้าหน้าที่ และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ 

(3) เส้นทางคมนาคมเข้าออกจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจาก (1) และ (2) การตั้งจุดตรวจ  ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อตรวจคัดกรองการเดินทาง ให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด ในกรณีที่พบ ผู้เดินทางมาจากจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ดำเนินมาตรการควบคุม และป้องกันโรคโดยการคุมไว้สังเกต แยกกัก หรือกักกันในพื้นที่พำนักหรือสถานที่ที่ทางราชการกำหนด  หรือตามหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุขหรือ ศบค. กำหนด 

ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อกำหนดเงื่อนไข หรือมาตรการป้องกันโรคสำหรับบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดขึ้นเป็นการเฉพาะ ในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติที่ ศบค. หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด  ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองการเดินทางและมาตรการที่จะกำหนดขึ้นดังกล่าวต้องไม่กระทบต่อการปฏิบัติ หน้าที่ราชการหรือการดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง  

ข้อ 8 การปราบปรามผู้กระทำผิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ฝ่ายความมั่นคง โดยการสนับสนุนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเข้มงวดตรวจตราเพื่อปราบปรามมิให้มีการลักลอบหรือรวมกลุ่มมั่วสุมกระทำการที่ผิดกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบเล่นการพนัน การเสพยาเสพติด การรวมกลุ่มในลักษณะที่น่าจะนำไปสู่ การแข่งรถในทาง หรือการฝ่าฝืนเปิดดำเนินการของสถานบริการในพื้นที่ที่มีข้อกำหนดห้ามการเปิดไว้  

ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบเดินทาง  หรือขนย้ายแรงงานต่างด้าว หรืออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย  หรือรับแรงงานต่างด้าวที่ออกจากสถานที่พักคนงานตามที่ได้มีคำสั่งปิดสถานที่ไว้แล้วเข้าทำงาน  โดยมิได้ผ่านการตรวจสอบคัดกรองโรค เป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อนขึ้นใหม่ ในพื้นที่อื่น ๆ อาจต้องถูกดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป  

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมในการรับแจ้งเบาะแส เหตุฉุกเฉิน และเข้าปฏิบัติการ ช่วยเหลือประชาชนตามหน้าที่และอำนาจ ทั้งนี้ การปล่อยปละละเลย หรือการย่อหย่อนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐจนเป็นเหตุให้มีการกระทำที่เป็นความผิดตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ  และเป็นเหตุให้เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อนขึ้น ผู้บังคับบัญชาสามารถพิจารณาตามกฎหมาย เพื่อดำเนินการทางวินัยได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม 

ข้อ 9 มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้คงพิจารณาดำเนินมาตรการปฏิบัติงาน นอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดในช่วงระยะเวลานี้เพื่อลดการเดินทางและการติดต่อสัมผัสระหว่างบุคคล  โดยเฉพาะหน่วยงานหรือสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ทั้งนี้ ตามที่ได้กำหนดไว้ ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564  

ข้อ 10 การงดจัดกิจกรรมทางสังคม ให้ประชาชนงดจัดกิจกรรมทางสังคมที่มีการรวมกลุ่ม ในลักษณะการสังสรรค์ จัดเลี้ยง หรืองานรื่นเริง ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อลดการติดต่อสัมผัสกันระหว่างบุคคลอย่างน้อยเป็นระยะเวลาสามสิบวัน เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการ ตามประเพณีนิยมตามที่ได้กำหนดเตรียมการไว้แล้ว โดยขอให้เป็นไปเพื่อความเหมาะสมและมีมาตรการ ป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี




iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)