ลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ม.40 เหลือ 60% มีผลแล้ว

ทั่วไป

ลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ม.40 เหลือ 60% มีผลใช้บังคับตามกฎหมายแล้ว โดยบังคับใช้เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2565

9 พฤษภาคม 2565 – เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมเผยแพร่ข่าว พระราชกฤษฎีกา ประกาศลดจ่ายเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนมาตรา 40 เหลือร้อยละ 60 เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่ม กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2565

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้แล้ว โดยมีใจความในการลดอัตราเงินสมทบให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 เหลือ 60% เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่งวดเดือน กุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2565 ในอัตราใหม่ ดังนี้

ลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ม.40 ปรับอัตราใหม่เหลือ 60%

  • ทางเลือกที่1 ให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบจากเดิมอัตรา 70 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่เป็น 42 บาท/เดือน
  • ทางเลือกที่ 2 ให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบจากเดิมอัตรา 100 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่เป็น 60 บาท/เดือน
  • ทางเลือกที่ 3 ให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบจากเดิมอัตรา 300 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่เป็น 180 บาท/เดือน

ช่องทางการชำระเงินสมทบ ม.40

โดยผู้ประกันตนมาตรา 40 สามารถชำระเงินสมทบในอัตราใหม่ ตั้งแต่วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2565 ผ่านช่องทางที่ท่านสะดวกได้ดังนี้

  1. เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-eleven
  2. เคาน์เตอร์โลตัส
  3. เคาน์เตอร์บิ๊กซี
  4. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
  5. ตู้บุญเติม
  6. เคาน์เตอร์เซ็นเพย์ พาวเวอร์บายบุญเติม
  7. ผ่านแอป shopeePay

สำหรับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างดำเนินการปรับระบบการรับชำระเงิน

จ่ายอัตราเต็มก่อนประกาศ “ลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ม.40” สามารถขอคืนจากประกันสังคมได้

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่ชำระเงินสมทบเต็มจำนวนในอัตราเดิม ตั้งแต่งวดเดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2565 ก่อนประกาศมีผลบังคับใช้ วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการจัดส่งเอกสารขอรับเงินคืนในส่วนที่ชำระไว้เกินจำนวนทางไปรษณีย์ หรือท่านสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการขอรับเงินคืน (สปส.1-40/7) ในเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th พร้อมแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ของผู้ประกันตน (ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสิน) และส่งเอกสารทางไปรษณีย์ โดยไม่ต้องเดินทางมา ณ สำนักงานประกันสังคม หรือหากท่านสะดวกสามารถ ยื่น ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั้งนี้ สํานักงานประกันสังคมจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ประกันตน

ช่องทางติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

หากมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงไม่เว้นวันหยุดราชการ

ประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตน ม.40 จะได้รับจากประกันสังคม

ผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ค้าขาย และสนใจประกันตนภาคสมัครใจ มีทางเลือกส่งเงินสมทบได้ 3 ทางเลือก ซึ่งจะได้รับประโยชน์ทดแทนที่แตกต่างกัน ดังนี้

  1. ทางเลือกที่ 1 เลือกรับประโยชน์ทดแทน 3 กรณี: อัตราเงินสมทบเหลือเดือนละ 42 บาท (จากเดิม 70 บาท)
    • คุ้มครองกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
    • คุ้มครองกรณีทุพพลภาพ
    • คุ้มครองกรณีเสียชีวิต
  2. ทางเลือกที่2 เลือกรับประโยชน์ทดแทน 4 กรณี: อัตราเงินสมทบเหลือเดือนละ 60 บาท (จากเดิม 100 บาท)
    • คุ้มครองกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
    • คุ้มครองกรณีทุพพลภาพ
    • คุ้มครองกรณีเสียชีวิต
    • คุ้มครองกรณีชราภาพ ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล
  3. ทางเลือกที่ 3 เลือกรับประโยชน์ทดแทน 5 กรณี: อัตราเงินสมทบเหลือเดือนละ 180 บาท (จากเดิม 300 บาท)
    • คุ้มครองกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
    • คุ้มครองกรณีทุพพลภาพ
    • คุ้มครองกรณีเสียชีวิต
    • คุ้มครองกรณีชราภาพ ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล
    • คุ้มครองกรณีสงเคราะห์บุตร ได้รับเงินรายเดือนตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ

หมายเหตุ: ทางเลือกที่ 1 จะได้รับประโยชน์ทดแทนน้อยที่สุด ในขณะที่ทางเลือกที่ 3 จะได้รับประโยชน์ทดแทนมากที่สุด

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)