ลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ (เริ่ม ต.ค. 2565)

ทั่วไป

กระทรวงมหาดไทยเปิดให้ ลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยเปิดให้ลงทะเบียน 2 ช่วง ช่วงแรก ต.ค. – พ.ย. 2565 และช่วงที่สอง ม.ค. – ก.ย. 2566

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ ลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีงบประมาณ 2567

  • เป็นผู้มีสัญชาติไทย
  • เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ (เกิดก่อน 2 กันยายน 2507)
  • ยังไม่เคยลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
  • มีภูมิลำเนาในเขต อบต. หรือ เทศบาล ตามทะเบียนบ้าน
  • ไม่เป็นผู้ที่ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

รายละเอียดเกี่ยวกับการลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

  • สามารถยื่นคำขอลงทะเบียนขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยตนเอง หรือ อาจมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอลงทะเบียนฯ แทนได้
  • กรณีเป็นผู้ต้องขังหรือจำคุกอยู่ในเรือนจำ ทัณฑสถานหรือสถานที่คุมขังของกรมราชทัณฑ์ สามารถมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน เจ้าหน้าที่ที่ผู้บัญชาการเรือนจำมอบหมาย หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการ ยื่นต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิ์

เปิด ลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีงบประมาณ 2567 แบ่งเป็น 2 ช่วง

  1. ช่วงแรกตั้งแต่ตุลาคม – พฤศจิกายน 2565
  2. ช่วงที่สองตั้งแต่มกราคม – กันยายน 2566

ช่องทางรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุสามารถแจ้งความประสงค์วิธีการขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้วิธีใดวิธีหนึ่งเท่านั้นดังนี้

  1. รับเงินสดด้วยตนเอง
  2. รับเงินสดโดยบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจ
  3. โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามตนเอง
  4. โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจ

เอกสารสำคัญสำหรับ ลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีงบประมาณ 2567

  1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรอื่นที่มีรูปถ่ายซึ่งออกโดยหน่วยงานของรัฐ
  2. ทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) และ
  3. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร (สำหรับกรณีประสงค์จะขอรับเงินเบี้ยผู้สูงอายุผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร)

ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

  • สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป ณ บอร์ดประชาสัมพันธ์ของ อบต. หรือ เทศบาล ที่ได้ไปลงทะเบียน หรือพื้นที่ที่ อบต. หรือ เทศบาล กำหนดไว้
  • สามารถตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทั้งหมดได้ในวันที่ 29 กันยายน 2566

6 ตุลาคม 2565 – นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณีการแจ้งให้ทุกจังหวัดซักซ้อมแนวทางการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และยังไม่เคยลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยื่นคำขอเพื่อแสดงความจำนงขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิ ช่วงแรกตั้งแต่ตุลาคม – พฤศจิกายน 2565 และช่วงที่สองตั้งแต่ มกราคม – กันยายน 2566 ด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งแนวทางการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว โดยในปีนี้ จะเปิดรับลงทะเบียน 2 ช่วง ช่วงแรกตั้งแต่ตุลาคม – พฤศจิกายน 2565 และช่วงที่สองตั้งแต่มกราคม – กันยายน 2566 ซึ่งเปิดรับลงทะเบียนให้ผู้สูงที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน (รายใหม่) และผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เกิดก่อน 2 กันยายน 2507) รวมถึงผู้สูงอายุที่ย้ายภูมิลำเนาเข้ามาอยู่ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ยังไม่ได้ยื่นคำขอลงทะเบียน ให้ยื่นคำขอลงทะเบียนขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยตนเอง หรือ อาจมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอลงทะเบียนฯ แทนได้

สำหรับผู้ซึ่งต้องขังหรือจำคุกอยู่ในเรือนจำ ทัณฑสถานหรือสถานที่คุมขังของกรมราชทัณฑ์ ให้มอบอำนาจให้ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน เจ้าหน้าที่ที่ผู้บัญชาการเรือนจำมอบหมาย หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการ ยื่นต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิ์ ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิต้องมีสัญชาติไทย และมีภูมิลำเนาในเขต อบต. หรือ เทศบาล ตามทะเบียนบ้านและไม่เป็นผู้ที่ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่แล้ว แต่มีการย้ายภูมิลำเนาไปยังเขต อบต. หรือ เทศบาล อื่น ให้ลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีภูมิลำเนาในเขต อบต. หรือ เทศบาล แห่งใหม่ภายในพฤศจิกายน 2566 หากไม่ได้ไปลงทะเบียนตามกำหนด แต่ได้ลงทะเบียนยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพในภายหลังที่กำหนด ทาง อบต. หรือ เทศบาล แห่งใหม่จะจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้ในปีงบประมาณถัดไป (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568)

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป ณ บอร์ดประชาสัมพันธ์ของ อบต. หรือ เทศบาล ที่ได้ไปลงทะเบียน หรือพื้นที่ที่ อบต. หรือ เทศบาล กำหนดไว้ และสามารถตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทั้งหมดได้ในวันที่ 29 กันยายน 2566

กระทรวงมหาดไทยขอเรียนว่า ขณะนี้ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติอยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่จะกำหนดใหม่ หากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติมีการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุที่ชัดเจน และมีผลให้กระทรวงมหาดไทยสามารถนำมากำหนดเป็นระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วย หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นใหม่แล้ว กระทรวงมหาดไทยจะได้แจ้งแนวทางในการดำเนินการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพิ่มเติม ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบและถือปฏิบัติต่อไป

หากมีข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ อบต. หรือ เทศบาล ในพื้นที่ของท่าน

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)