ลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 บาท สำหรับร้านค้า เริ่ม พ.ย. 2566

ทั่วไป

2,763 VIEWS

ลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 บาท สำหรับร้านค้า เปิดลงทะเบียนร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการกลางเดือนพฤศจิกายน 2566 เริ่มรับเงินตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2567

ขั้นตอน ลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 บาท สำหรับร้านค้า

สำหรับร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการ

  • จะเปิดให้ลงทะเบียนร้านค้าได้ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงทะเบียนรับเงินดิจิตอล 10,000 บาท

  • เป็นผู้มีสัญชาติไทย
  • อายุ 16 ปีขึ้นไป
  • ยืนยันตัวตนสำหรับการใช้ดิจิทัลวอลเล็ตตามเกณฑ์ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย แล้ว

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้ 2 ช่องทาง ได้แก่

  1. โหลดแอปเงินดิจิทัลตัวใหม่ผ่านโทรศัพท์มือถือ (รอยืนยันชื่อแอปภายในเดือนตุลาคม 2566)
  2. รับเงินดิจิทัลผ่านบัตรประชาชน โดยนำบัตรประชาชนไปซื้อของที่ร้านค้า

ช่วงเวลารับเงินดิจิทัล 10,000 บาท

  • กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2567 (ทั้งนี้ รัฐบาลอาจเลื่อนออกไปหลังกุมภาพันธ์ 2567 ได้)

เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท

  • ใช้จ่ายได้กับร้านค้าภายในอำเภอ
  • มีอายุการใช้งาน 6 เดือน

สินค้า/บริการที่ไม่สามารถนำเงินดิจิทัล 10,000 ไปใช้ได้

  • สินค้าอบายมุข เช่น  ยาเสพติดและการพนัน
  • ใช้หนี้
  • ซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์
  • แลกเป็นเงินสดโดยไม่มีการซื้อสินค้า/บริการ

ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับ โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

25 ตุลาคม 2566 – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการคณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีความเห็นปรับเงื่อนไขการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้สามารถใช้ได้ภายในอำเภอ จากเดิมแค่รัศมี 4 กิโลเมตร เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่เกินไป มีร้านค้าเพียงพอ

นายจุลพันธ์ เปิดเผยว่า ยอมรับว่ายังมีความเห็นแตกต่างในที่ประชุม ที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ซึ่งต้องเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประชุมตัดสินใจในสัปดาห์หน้า เพราะมีมุมมองที่แตกต่าง

“มาตรการนี้มีความคิดเห็นเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการให้คนเข้าร่วมจำนวนมาก อีกข้อเสนอก็มีข้อเสนอให้เอาคนรวยออก คณะทำงานก็ต้องพยายามหาคำจำกัดความ”

ทั้งนี้ จะให้คณะกรรมการตัดสินใจรวม 3 ทางเลือก ได้แก่

  1. ให้สิทธิ์เฉพาะผู้ยากไร้ราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท
  2. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.3 แสนล้านบาท
  3. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.9 แสนล้านบาท

“เมื่อมีความเห็นต่าง เป็นหน้าที่คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ คณะอนุกรรมการ จะไปดูแต่ละกลุ่มครอบคลุมเท่าไหร่ และเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจรายละเอียด”

เตรียมมอบ “กรุงไทย” รับหน้าที่พัฒนาระบบ

ส่วนการพัฒนาระบบ จะให้ธนาคารกรุงไทย ที่มีประสบการณ์ เป็นผู้ดำเนินการ แต่จะเป็นแอปพลิเคชั่นใหม่ ไม่ใช่แอปเป๋าตัง และยืนยันว่าไม่ใช้งบประมาณในการพัฒนาระบบถึง 1.2 หมื่นล้านบาทตามที่เป็นข่าวอย่างแน่นอน

สำหรับประเด็นการยืนยันตัวตนเป็นไปตามสิทธิ์ ครอบคลุมทั้ง บุคคลธรรมดา นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้าน และวิสาหกิจชุมชน โดยสามารถใช้จ่ายได้สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก

นายจุลพันธ์ เปิดเผยว่า ยอมรับว่าแนวโน้มน่าจะดีเลย์ในระดับหนึ่งจากเดิมวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 แต่มีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ในเรื่องความปลอดภัย กระบวนการทดสอบระบบก็มากขึ้น ส่วนเท่าไหร่ขอพิจารณาก่อน ขณะที่เงินที่ใช้โครงการนี้คาดว่าจะมาจากงบประมาณเป็นหลัก โดยจะไม่ใช้เงินจากธนาคารออมสิน

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)