ลงทะเบียนว่างงานประกันสังคม มาตรา 33 กับ 12 คำถามที่พบบ่อย

ทั่วไป

หากคุณเป็นลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) และได้ ลงทะเบียนว่างงาน เพื่อรับเงินชดเชยจากกองทุนประกันสังคม แต่ยังมีคำถามและยังไม่แน่ใจว่า เราเป็นผู้ประกันตนที่ตรงกับเกณฑ์การรับความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือไม่ iTAX พร้อมไขข้อข้องใจให้คุณแล้ว เริ่มต้นที่

1. ว่างงานแบบไหน ถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19?

สำหรับผู้ประกันตนที่ต้องการลงทะเบียนว่างงาน เพื่อรับเงินชดเชยจากกองทุนประกันสังคม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จะต้องเป็นว่างงานด้วยเหตุผลต่อไปนี้

  • ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ หรือ นายจ้างไม่ให้ทำงาน ประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนในอัตรา 50% ของค่าจ้างปกติ สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท/เดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
  • ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการชั่วคราวของรัฐ ประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนในอัตรา 50% ของค่าจ้างปกติ สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท/เดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน
  • ว่างงานจากการต้องหยุดกักตัว 14 วัน เพราะมีความเสี่ยงติดโควิด-19 ประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชยในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน หรือประมาณเดือนละ 7,080-8,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ตามหนังสือรับรองคำสั่งให้กักตัวของนายจ้าง หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค

2. ต้องเป็นผู้ประกันตนมาตราใด จึงจะสามารถลงทะเบียนว่างงาน เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ได้?

  • ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ยังมีสถานะเป็นลูกจ้าง ต้องไม่ลาออก ไม่ถูกเลิกจ้าง
  • ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนมีคำสั่งให้กักตัว
  • ต้องมีหนังสือรับรองจากนายจ้าง หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค

3. ลงทะเบียนว่างงานเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านช่องทางไหนได้บ้าง?

  • ยื่นออนไลน์ : ผ่านระบบ e-form ที่เว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th/eform_news
  • ยื่นด้วยตนเอง : ดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th/eform_news เพื่อกรอกข้อมูล พร้อมแนบสำเนาหน้าบัญชีธนาคาร และจัดส่งเอกสารให้สำนักงานประกันสังคมทางไปรษณีย์ หรือช่องทางอื่นๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมแต่ละพื้นที่กำหนด (ช่องทางการติดต่อ สำนักงานประกันสังคมแต่ละพื้นที่ sso-contacts.pdf)

4. ผู้ประกันตนที่ไม่ถูกเลิกจ้าง หรือหยุดงาน แต่ถูกลดเงินเดือน สามารถลงทะเบียนรับเงินชดเชยว่างงานได้หรือไม่?

  • ไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายถือว่า ผู้ประกันตนยังคงมีสถานะเป็นลูกจ้างที่ยังได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง จากนายจ้างอยู่ จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคม

5. นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว แต่ยังจ่ายเงินเดือน ลูกจ้างสามารถลงทะเบียนรับเงินชดเชยว่างงานได้หรือไม่?

  • ไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายยังถือว่า ผู้ประกันตนยังคงมีสถานะเป็นลูกจ้างที่ยังได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง จากนายจ้างอยู่ จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคม

6. ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยื่นขอรับเงินชดเชยได้ภายในกี่ปี?

  • ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิยื่นรับเงินชดเชยได้ภายใน 2 ปี นับจากวันที่ได้รับสิทธิ

7. นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง จากการถูกรัฐสั่งกักตัว 14 วัน ลงทะเบียนเพื่อรับเงินชดเชยว่างงานได้หรือไม่?

  • ได้ หากคุณเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนรัฐมีคำสั่งให้กักตัว ประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชยในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ตามหนังสือรับรองคำสั่งให้กักตัวของนายจ้าง หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค

8. ลงทะเบียนว่างงานผ่าน e-form แล้ว ทราบผลการลงทะเบียนผ่านช่องทางใด?

  • สำนักงานประกันสังคมจะแจ้งผลการลงทะเบียนผ่าน E-mail ที่คุณลงทะเบียนไว้ หรือสามารถติดต่อสอบถามความคืบหน้าได้ที่สำนักงานประกันสังคมที่คุณเลือกไว้ตอนลงทะเบียนในระบบ e-form ค้นหาช่องทางการติดต่อสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ได้ที่ sso-contacts.pdf

9. ลงทะเบียนว่างงานผ่าน e-form แต่กรอกข้อมูลผิด แก้ไขข้อมูลทางไหน?

  • ในกรณีที่กรอกข้อมูลลงทะเบียนว่างงานผ่านระบบ e-form ผิด คุณจะไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ สิ่งที่คุณทำได้คือ เริ่มต้นกรอกข้อมูลทั้งหมดใหม่อีกครั้ง จากนั้นระบบจะทำการกรองข้อมูลจากข้อมูลล่าสุดที่คุณกรอก

10. ลงทะเบียนว่างงานผ่าน e-form ต้องส่งเลขหน้าสมุดบัญชีให้สำนักประกันสังคมอีกหรือไม่?

  • ไม่จำเป็น เนื่องจากคุณได้กรอกรายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ, เลขบัญชีสำหรับรับเงินชดเชยผ่าน e-from เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมถือว่านายจ้างและลูกจ้างได้ทำการยืนยันข้อมูลเรียบร้อยแล้ว และหากตรวจสอบพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จะติดต่อขอเอกสารและข้อมูลเพิ่มเติมภายหลัง

11. ลงทะเบียนว่างงานผ่าน e-form แล้ว จะได้รับเงินเมื่อไหร่?

  • ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการจ่ายเงินชดเชยงวดแรกให้แก่ผู้ประกันตนที่ผ่านการตรวจสอบสิทธิแล้ว 8,000 ราย และอาจจะต้องใช้เวลาประเมินอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ ในการประเมินผู้ที่ได้รับกระทบที่แท้จริง

12. ลงทะเบียนว่างงานผ่าน e-form แล้ว ได้รับแจ้งว่า ไม่มีสิทธิ์รับเงินชดเชย ยื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่?

  • หากต้องการยื่นอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสิทธิ์รับเงินชดเชยว่างงาน สามารถทำได้ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับการแจ้งผลการพิจารณา 

หากนายจ้างและผู้ประกันตนมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ หรือ สายด่วน 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)