วิธี คำนวณภาษีรถยนต์ ง่ายๆ ด้วยตัวคุณเอง

ทั่วไป

83,451 VIEWS

ชาว iTAX เคยสงสัยกันไหมว่า ภาษีรถยนต์ที่เราต้องจ่ายกันในแต่ละปี คำนวณจากอะไร และคำนวณอย่างไร วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยกันอย่างละเอียด และเข้าใจกันง่ายๆ เพื่อที่หลายๆ คนจะได้สามารถ ตรวจสอบภาษีรถยนต์ ของตนเองได้ว่าในแต่ละปีหรือปีถัดๆไปต้องเตรียมเงินไว้จ่ายเท่าไหร่ มาดูกันเลยดีกว่า เริ่มที่

ภาษีรถยนต์ 2564 คำนวณค่าต่อทะเบียนรถยนต์

1. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (ป้ายทะเบียนพื้นสีขาวอักษรสีดำ)

รถเก๋ง , รถกระบะ 4 ประตู จะคำนวณอัตราภาษีจากความจุกระบอกสูบ (CC) เช่น

  • ตั้งแต่ 1 – 600 c.c. คิดอัตราภาษี c.c. ละ 0.5 บาท
  • ตั้งแต่ 601 – 1,800 c.c. คิดอัตราภาษี c.c. ละ 1.5 บาท
  • ตั้งแต่ 1,801 c.c ขึ้นไป คิดอัตราภาษี c.c. ละ 4 บาท

ทั้งนี้ ในปีที่ 1 – 5 จะต้องเสียภาษีในอัตราคงที่ ไม่มีส่วนลดใดๆ แต่สำหรับรถที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป จะมีส่วนลดค่าภาษี ดังนี้

  • รถที่มีอายุการใช้งาน 6 ปี จะได้รับส่วนลดค่าภาษี 10%
  • รถที่มีอายุการใช้งาน 7 ปี จะได้รับส่วนลดค่าภาษี 20%
  • รถที่มีอายุการใช้งาน 8 ปี จะได้รับส่วนลดค่าภาษี 30%
  • รถที่มีอายุการใช้งาน 9 ปี จะได้รับส่วนลดค่าภาษี 40%
  • รถที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี จะได้รับส่วนลดค่าภาษี 50% และเสียอัตราภาษีคงที่ไปเรื่อยๆ จนเลิกใช้รถ

ตัวอย่าง การคำนวณภาษีรถยนต์

รถยนต์ Toyota Camry รุ่นเครื่องยนต์ 2.0 c.c. รถมีอายุการใช้งาน 3 ปี (ความจุกระบอกสูบที่แท้จริง คือ 1,998 c.c. สามารถดูได้ในเล่มทะเบียนรถ)

  • 600 c.c. แรก คิดอัตราภาษี c.c ละ 0.5 บาท = 600 x 0.5 = 300 บาท
  • 601-1800 c.c. คิดอัตราภาษี c.c ละ 1.50 บาท = (1,800 – 600) = 1200 x 1.50 = 1,800 บาท
  • ส่วนที่เกินจาก 1,800 c.c จะถูกคิดอัตราภาษี c.c. ละ 4 บาท = (1,998 – 1,800) x 4 = 198 x 4 = 792 บาท

อัตราภาษีที่ต้องจ่าย คือ  300+1,800+792 = 2,892 บาท

แต่หากเป็นรถ Toyota Camry รุ่นเครื่องยนต์ 2.0 c.c. ที่มีอายุการใช้งาน 7 ปี จะได้ส่วนลดค่าภาษี 20% ทำให้อัตราภาษีที่ต้องจ่าย คือ 2,892-20% = 2,313.6 บาท

2. รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (ป้ายทะเบียนพื้นสีขาว อักษรสีเขียว)

ในกรณีนี้ การคำนวณอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักรถ (สามารถดูน้ำหนักรถได้จากในเล่มทะเบียนรถ) มีรายเอียดดังนี้

  • น้ำหนักรถตั้งแต่ 501 – 750 กิโลกรัม อัตราภาษี คือ 450 บาท
  • น้ำหนักรถตั้งแต่ 501 – 1,000 กิโลกรัม อัตราภาษี คือ 600 บาท
  • น้ำหนักรถตั้งแต่ 1,001 – 1,250 กิโลกรัม อัตราภาษี คือ 750 บาท
  • น้ำหนักรถตั้งแต่ 1,251 – 1,500 กิโลกรัม อัตราภาษี คือ 900 บาท
  • น้ำหนักรถตั้งแต่ 1,501 – 1,750 กิโลกรัม อัตราภาษี คือ 1,050 บาท
  • น้ำหนักรถตั้งแต่ 1,751 – 2,000 กิโลกรัม อัตราภาษี คือ 1,350 บาท
  • น้ำหนักรถตั้งแต่ 2,001 – 2,500 กิโลกรัม อัตราภาษี คือ 1,650 บาท

3. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง (ป้ายทะเบียนพื้นสีขาวอักษรสีฟ้า)

สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง การคำนวณอัตราภาษีขึ้นอยู่กับน้ำหนักรถ (สามารถดูน้ำหนักได้จากในเล่มทะเบียนรถ) แต่จะแตกต่างกับ รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • น้ำหนักรถ 1,501 – 1,750 กิโลกรัม อัตราภาษี คือ 1,300 บาท
  • น้ำหนักรถ 1,751 – 2,000 กิโลกรัม อัตราภาษี คือ 1,600 บาท

นอกเหนือจาก อัตราภาษีสำหรับประเภทรถยนต์ส่วนบุคคล ยังมีอัตราภาษีรถยนต์ประเภทอื่นๆ ได้แก่

4. อัตราภาษีที่จัดเก็บเป็นรายคัน

ประกอบไปด้วย 

  • รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล อัตราภาษี คันละ 100 บาท
  • รถจักรยานยนต์สาธารณะ อัตราภาษี คันละ 100 บาท
  • รถพ่วงของรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล อัตราภาษี คันละ 50 บาท
  • รถพ่วงนอกจากข้อ 3 อัตราภาษี คันละ 100 บาท
  • รถบดถนน อัตราภาษี คันละ 200 บาท
  • รถแทรกเตอร์ที่ใช้ในการเกษตร อัตราภาษี คันละ 50 บาท

5. อัตราภาษีรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน จะถูกคิดและเก็บภาษีตามน้ำหนักของรถในอัตรารถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน

เรื่องต้องรู้ 

  • ผู้เสียภาษีสามารถชำระภาษีรถยนต์ประจำปีล่วงหน้าได้ 3 เดือน ก่อนครบกำหนดชำระ
  • ในกรณีที่ ชำระภาษีเลยวันครบกำหนดชำระ จะเสียค่าปรับ 1% ต่อเดือน

ทั้งหมดนี้ คือ รายละเอียดสาระความรู้ในเรื่องภาษีรถยนต์ที่เรานำมาฝากกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยไขข้อสงสัยให้กับผู้ที่ต้องชำระภาษีรถยนต์ได้ นอกจากเรื่องภาษีที่เราควรชำระให้ตรงกำหนดในทุกๆปีแล้ว การทำประกันภัยรถยนต์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามและไม่ควรลืมที่จะทำประกันภัยรถยนต์ในทุกๆ ปี เพื่อช่วยคุ้มครองรถที่คุณรัก

สนใจ ประกันภัยรถยนต์ ดีๆ และคุ้มค่า สามารถเข้ามาเช็คราคากันได้ที่ Priceza Money เชื่อว่าทุกคนจะไม่ผิดหวังกับหลากหลายแผนประกันที่เราเตรียมไว้ให้บริการกับทุกคน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.dlt.go.th

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)