ภาษีขายหุ้น อัตรา 0.055% ครม.เห็นชอบแล้ว คาดเริ่มปี 66

ภาษี

3,151 VIEWS

ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ภาษีขายหุ้น ปีแรกเริ่มจัดเก็บในอัตรา 0.055% ของมูลค่าหุ้นที่ขาย คาดเริ่มเก็บจริงไตรมาส 2 ของปี 2566 และจะเพิ่มเป็นอัตรา 0.11% ไปปีถัดไป

‘คลัง’ เก็บภาษีขายหุ้น คาดเพิ่มรายได้ของประเทศหลักหมื่นล้านบาท

29 พฤศจิกายน 2565 – ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ดำเนินการจัดเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เรียบร้อยแล้ว โดยสำหรับปีแรกจะเป็นการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 0.05% ของมูลค่าหุ้นที่ขาย ร่วมกับการเก็บภาษีท้องถิ่นอีก 10% ของภาษีธุรกิจเฉพาะ (คิดเป็น 0.005%) ทำให้คำนวณอัตราภาษีขายหุ้นรวมได้ 0.055% ของมูลค่าหุ้นที่ขายสำหรับปีแรก โดยคาดว่าจะเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2566 เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ปรับตัว

โดยหลังจากเก็บภาษีขายหุ้นปีแรกในอัตรา 0.055% แล้ว ในปีต่อมาจะเก็บในอัตราปกติ 0.11% (ภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% + ภาษีท้องถิ่น 0.01%) โดยจะให้โบรกเกอร์เป็นผู้จัดเก็บภาษีดังกล่าวให้ เนื่องจากโบรกเกอร์ต้องเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ซื้อขายหุ้นอยู่แล้ว ซึ่งหากกลับมาจัดเก็บ กระทรวงการคลังคาดว่าจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นล้านบาท

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่…) พ.ศ. … (การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แต่จะยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

ตลาดหลักทรัพย์ฯ กังวล ‘ภาษีขายหุ้น’ กระทบตลาดหุ้นไทย แต่ต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แสดงความเห็นเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีขายหุ้น 0.055% ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะตัวกลางจะต้องหารือร่วมกับบริษัทสมาชิกและสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการปฏิบัติภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ได้จัดทำข้อมูลทุกด้านที่จะเกิดขึ้นจากการจัดเก็บภาษีนำเสนอ เปรียบเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ เพื่อไม่ให้ผลของการจัดเก็บภาษีกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน แต่ยอมรับว่าต้องมีผลกระทบบ้าง แต่เมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลจึงต้องปฏิบัติตาม

“เราก็เข้าใจรัฐมีหน้าที่ในการจัดเก็บรายได้ ในการหารายได้ในภาวะที่รายจ่ายมีมาก แต่การจัดเก็บภาษีก็มีหลายส่วนที่ทำได้ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อดีตเคยเก็บ 30% และลดลงมาเหลือ 20% ภาษีอื่นๆ ที่เรายังเก็บในระดับที่ต่ำอยู่ ก็น่าจะเป็นแนวทางในการเพิ่มรายได้ได้ และน่าจะได้มากกว่า แต่เมื่อรัฐตัดสินใจแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ในฐานะตัวกลางก็ต้องดำเนินการและหารือถึงแนวทางในการปฎิบัติต่อไป” ประธานกรรมการ ตลท. กล่าว

ผู้จัดการ ตลท. เตรียมเสนอกระบวนการจัดเก็บภาษีขายหุ้น

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลท. กำลังทำงานร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เพื่อเตรียมการจัดเก็บภาษีดังกล่าว โดยให้มีภาระต้นทุนที่ต่ำ และมีประสิทธิภาพในการทำงานของทั้งอุตสาหกรรม นอกจากนี้ จะมีการเตรียมข้อเสนอในรายละเอียดการจัดเก็บภาษีให้กับกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้เกิดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนจากผู้ลงทุนในบางประเภทธุรกรรมหากมีการจัดเก็บ ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแจ้งข้อมูลความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

สภาธุรกิจตลาดทุนไทยค้าน ‘ภาษีขายหุ้น’ หวั่นกระทบสภาพคล่องตลาด

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) แสดงความเห็นต่อการเก็บภาษีขายหุ้นผ่าน Facebook ส่วนตัว และอ้างถึงข้อเสนอถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เคยยื่นไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 โดยมีรายละเอียดว่า

“ในเรื่องการเก็บภาษีขายหุ้นที่ผ่านครมในวันนี้นั้น

ทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เคยได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา (ดังแนบ) และได้ทักท้วงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

ในช่วงที่ตลาดผันผวนปั่นป่วนอย่างยิ่ง ในสินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร ทองคำ ค่าเงิน และสินทรัพย์ใหม่ เช่น เงินคริปโต ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อนักลงทุน และจะผันผวนไปอีกระยะ

นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นรออยู่ข้างหน้า ซึ่งเริ่มเห็นถึงเค้าลางในบางประเทศ และสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือน้อยกว่าครึ่งของก่อนหน้า

ขอยืนยันว่า ช่วงนี้จึงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับเรื่องนี้ ครับ”

ข้อเสนอถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง ความเห็นเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

ในโพสดังกล่าวมีภาพ “ข้อเสนอถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง ความเห็นเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์” โดย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตามที่ภาครัฐมีแนวคิดในการเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ของมูลค่าขายตั้งแต่บาทแรก นั้น สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ในฐานะผู้แทนองค์กรในตลาดทุน ขอเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอต่อแนวทางการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมสำหรับตลาดทุน ดังนี้

  1. ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพคล่องของตลาด เป็นภาระและส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย รวมถึงด้อยค่าหลักทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นถือครองอยู่ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนรายย่อยกว่า 2 ล้านคนที่ลงทุนทางตรงในตลาดหลักทรัพย์ และอีก 17 ล้านคนที่ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมและกองทุนสวัสดิการต่าง ๆ รวมถึงนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ จากการศึกษาในต่างประเทศ1/ พบว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนต้องออมเพิ่มขึ้นอีก 2-3 ปี เพื่อให้มีเงินเพียงพอในยามเกษียณ
  2. ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับ Market Markers (MM) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลาดทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะ Derivative Warrant และ Single Stock Futures ซึ่งอ้างอิงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ อันจะส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยในเวทีโลก
  3. ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หากจัดเก็บภาษี จะนิยมให้การยกเว้นแก่กลุ่ม MM เช่น ฮ่องกง อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และกลุ่มกองทุนรวม/กองทุนบำนาญ/กองทุนสวัสดิการ เช่น อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ไอซ์แลนด์ เพื่อลดผลกระทบต่อการออมการลงทุนของประชาชนในวงกว้างและต่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรมของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ ทั้งนี้ ในกรณีของไทย นักลงทุนทั้ง 2 กลุ่มทำธุรกรรมขายรวมกัน 12-17% ของมูลค่าขายทั้งหมดในตลาด (สถาบันในประเทศ 7% และ MM 5-10%) ดังนั้น การให้ยกเว้นภาษีต่อไปถือว่าคุ้มค่า หากเปรียบเทียบเม็ดเงินภาษีดังกล่าวกับผลประโยชน์ในวงกว้างต่อประชาชนและการพัฒนาศักยภาพของตลาดหลักทรัพย์ไทยในระยะยาว
  4. อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2534 เมื่ออัตรา commission อยู่ที่ระดับ 0.5% อย่างไรก็ดี จากสภาวะการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศที่มีมากขึ้น อัตรา commission จึงลดลงเหลือเพียง 0.08% ในปัจจุบัน ดังนั้น มูลค่าภาษีที่จัดเก็บตามอัตราภาษีที่ 0.1% และเมื่อรวมภาษีท้องถิ่นอีก 0.01% เป็น 0.11% จะสูงถึง 0.7 เท่าของมูลค่าค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่จัดเก็บในปัจจุบัน จึงจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อขายอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนสูงจากสถานการณ์โควิดและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นทั่วโลก อัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ มีความผันผวนมาก การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะเป็นการตอกย้ำความผันผวนดังกล่าว
  5. ต้นทุนการระดมทุน (cost of capital) ที่สูงขึ้นเมื่อสภาพคล่องในตลาดลดลง จะทำให้บริษัทจดทะเบียนชะลอหรือลดการลงทุนขยายธุรกิจ มีกำไรลดลง ท้ายที่สุด productivity และ GDP ของประเทศ รวมตลอดถึงภาษีนิติบุคคลที่บริษัทจ่ายได้ จะลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ผลเสียจะกระทบแรงกับกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีทางเลือกของแหล่งเงินทุนที่จำกัดมากอยู่แล้วในปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของ ‘ภาษีขายหุ้น’ (Financial Transaction Tax) ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังกำลังเตรียมดำเนินการใช้แผนการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction Tax) ซึ่งเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะประเภทหนึ่ง โดยมีแผนจะเริ่มในปี 2565 หลังจากภาษีดังกล่าวที่ถูกยกเว้นมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว (ตั้งแต่ พ.ศ. 2534) ซึ่งปัจจุบันมีความจำเป็นต้องเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับภาครัฐ ถ้าดัชนีตลาดจะปรับลดลงก็ต้องยอมรับ โดยกำหนดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 0.1% ของการขายหุ้นที่เกินกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป หรืออาจจะมากกว่านั้น ซึ่งเดิมมีแผนจะดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าวตั้งแต่ปี 2564 แล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่เหมาะสมทำให้ต้องชะลอไปก่อน 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านกรมสรรพากรยังไม่ได้จัดเก็บภาษีดังกล่าว เนื่องจากมีการออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 ยกเว้นภาษีขายหุ้นไว้ แต่หากระดับนโยบายของรัฐบาลต้องการจัดเก็บภาษีขายหุ้น เพียงแค่ยกเลิกการยกเว้นภาษีดังกล่าว กระทรวงการคลังก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ทันที

ส่วนแนวทางขั้นตอนการชำระภาษีขายหุ้นนั้น โดยปกติโบรกเกอร์ตัวแทนของผู้ขายหลักทรัพย์จะเป็นผู้หักภาษีขายหุ้น (ภาษีธุรกิจเฉพาะ) เฉพาะจากจำนวนเงินที่ขายและเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีแทนผู้ขาย โดยผู้ขายไม่จำเป็นต้องดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการภาษีขายหุ้นอีก (ซึ่งเป็นหน้าที่ของโบรกเกอร์หลักทรัพย์ตาม มาตรา 91/9 ประมวลรัษฎากร)

รู้จัก ภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax)

‘ภาษีขายหุ้น’ (Financial Transaction Tax) เป็นนโยบายการจัดเก็บภาษีเข้าคลังเพิ่มเติมของรัฐบาลสำหรับการขายหุ้นในตลาดหุ้น เสนอโดยกระทรวงการคลัง โดยจะจัดเก็บ ‘ภาษีธุรกิจเฉพาะ‘ ในอัตราคงที่ 0.05-0.10%

อย่างไรก็ตาม มติเห็นชอบของ ครม. จัดเก็บภาษีขายหุ้นครั้งนี้ยังไม่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น (Capital Gain Tax) ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้ของนักลงทุนแต่อย่างใด

ภาษีธุรกิจเฉพาะ คืออะไร?

ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ภาษีประเภทหนึ่งตาม ประมวลรัษฎากร ซึ่งจัดเก็บกิจการบางประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษแยกต่างหากจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (เช่น การขายหลักทรัพย์ เป็นต้น) โดยมีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บ

ทั้งนี้ โดยปกติ ภาษีธุรกิจเฉพาะจะเก็บจากกิจกรรมการซื้อขายสินค้าและให้บริการเช่นเดียวกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จะเป็นคนส่วนกันซึ่งจะไม่ทับซ้อนกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กล่าวคือ ถ้ากิจการนั้นต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในทางกลับกันถ้าธุรกิจนั้นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ภาษีธุรกิจเฉพาะมีไว้เพื่ออุดช่องโหว่จากกิจการที่หามูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือให้บริการได้ยาก เช่น ธุรกิจการเงิน อย่างการขายหุ้น เป็นต้น ซึ่งประเมินได้ยากว่ามูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือให้บริการนั้นเป็นมูลค่าเท่าไหร่ จึงไม่สามารถใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ดังนั้น จึงใช้ภาษีธุรกิจเฉพาะแทน แต่ยังอาศัยหลักพื้นฐานการจัดเก็บลักษณะเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)