“ภาษีการขายหุ้น” มาแน่! ‘คลัง’ เตรียมชง ครม.อนุมัติเร็วๆ นี้

ภาษี

‘คลัง’ เตรียมชง ครม.อนุมัติเก็บ ภาษีการขายหุ้น เร็วๆ นี้ โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาบังคับใช้ โบรกเกอร์ต้องจัดทำระบบนำส่งภาษีให้กรมสรรพากร

13 มิถุนายน 2565 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเดินหน้าเก็บ ภาษีการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเร็วๆ นี้ เพื่อออกเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศบังคับใช้ในลำดับถัดไป

“เรื่องการจัดเก็บภาษี เป็นเรื่องที่ประกาศล่วงหน้าไม่ได้ แต่ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รับรู้กันมา เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เตรียมตัวด้วย ซึ่งความพร้อมอยู่ที่ว่า เราต้องเสนอเป็นพระราชกฤษฎีกาต่อคณะรัฐมนตรีและเมื่อเสนอแล้วพระราชกฤษฎีกาจะมีผลเมื่อไหร่ ซึ่งเราจะมีระยะเวลา Grace period เพื่อให้โบรกเกอร์ต่างๆในการทำระบบข้อมูลและการนำส่งภาษีให้กับกรมสรรพากร ซึ่งจริงๆแล้วระบบไม่ยาก แต่ให้เวลาเขาหน่อย”

นอกจากนี้ จะต้องดูระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่เสนอเก็บภาษีในจังหวะที่ตลาดหุ้นตกทุกวัน ก็ไม่ได้ สำหรับระยะเวลา Grace period นั้น ขณะนี้ กำหนดว่า จะให้เวลาไม่เกิน 90 วัน

คาดเก็บ ภาษีการขายหุ้น อัตราคงที่ 0.1% จากยอดขาย

ก่อนหน้านี้ นายอาคม ได้ออกมาระบุแนวทางการจัดเก็บว่า จะมีการจัดเก็บภาษีขายในอัตรา 0.1% ตั้งแต่บาทแรกที่มีการขาย โดยโบรกเกอร์จะต้องนำส่งภาษีการขายดังกล่าวมาให้กรมสรรพากรในทุกเดือน

“หลักการเก็บจะยึดตามเดิม ถ้าเราแยกจะยุ่งยากเรื่องการบริหาร เช่น ถ้าเราบอกว่า ถ้ายอดขายหุ้น 1 ล้านบาท เราจะเก็บในอัตราต่ำกว่าคนที่มียอดขายสูงกว่า 1 ล้าน ก็ยุ่งยาก ซึ่งในกฎหมายที่ออกมาจะเก็บแบบเท่าเทียมกัน คือ เก็บจากภาษีการขาย ไม่แยกว่า จะเป็นรายเล็กหรือรายน้อย ซึ่งง่ายสุด คือ เก็บเท่ากันหมด ประเทศต่างๆก็ไม่แยกแยะการขาย”

ทั้งนี้ นายอาคมประเมินว่า รัฐบาลจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นหลักหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งน่าจะเริ่มมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2565

จุดเริ่มต้นของ ‘ภาษีการขายหุ้น’ (Financial Transaction Tax) ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังกำลังเตรียมดำเนินการใช้แผนการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction Tax) ซึ่งเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะประเภทหนึ่ง โดยมีแผนจะเริ่มในปี 2565 หลังจากภาษีดังกล่าวที่ถูกยกเว้นมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว (ตั้งแต่ พ.ศ. 2534) ซึ่งปัจจุบันมีความจำเป็นต้องเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับภาครัฐ ถ้าดัชนีตลาดจะปรับลดลงก็ต้องยอมรับ โดยกำหนดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 0.1% ของการขายหุ้นที่เกินกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป หรืออาจจะมากกว่านั้น ซึ่งเดิมมีแผนจะดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าวตั้งแต่ปี 2564 แล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่เหมาะสมทำให้ต้องชะลอไปก่อน 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านกรมสรรพากรยังไม่ได้จัดเก็บภาษีดังกล่าว เนื่องจากมีการออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 ยกเว้นภาษีขายหุ้นไว้ แต่หากระดับนโยบายของรัฐบาลต้องการจัดเก็บภาษีขายหุ้น เพียงแค่ยกเลิกการยกเว้นภาษีดังกล่าว กระทรวงการคลังก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ทันที

ส่วนแนวทางขั้นตอนการชำระภาษีขายหุ้นนั้น โดยปกติโบรกเกอร์ตัวแทนของผู้ขายหลักทรัพย์จะเป็นผู้หักภาษีขายหุ้น (ภาษีธุรกิจเฉพาะ) เฉพาะจากจำนวนเงินที่ขายและเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีแทนผู้ขาย โดยผู้ขายไม่จำเป็นต้องดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการภาษีขายหุ้นอีก (ซึ่งเป็นหน้าที่ของโบรกเกอร์หลักทรัพย์ตาม มาตรา 91/9 ประมวลรัษฎากร)

รู้จักภาษีการขายหุ้น (Financial Transaction Tax)

‘ภาษีการขายหุ้น’ (Financial Transaction Tax) เป็นนโยบายการจัดเก็บภาษีเข้าคลังเพิ่มเติมสำหรับปี 2565 สำหรับการขายหุ้นในตลาดหุ้น เสนอโดยกระทรวงการคลัง โดยจะจัดเก็บ ‘ภาษีธุรกิจเฉพาะ‘ ในอัตราคงที่ 0.1% ทั้งนี้ ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โดยกรมสรรพากร

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอภาษีขายหุ้นครั้งนี้ยังไม่มีการพูดถึงการจัดเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น (Capital Gain Tax) ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้ของนักลงทุนแต่อย่างใด

ภาษีธุรกิจเฉพาะ คืออะไร?

ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ภาษีประเภทหนึ่งตาม ประมวลรัษฎากร ซึ่งจัดเก็บกิจการบางประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษแยกต่างหากจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (เช่น การขายหลักทรัพย์ เป็นต้น) โดยมีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บ

ทั้งนี้ โดยปกติ ภาษีธุรกิจเฉพาะจะเก็บจากกิจกรรมการซื้อขายสินค้าและให้บริการเช่นเดียวกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จะเป็นคนส่วนกันซึ่งจะไม่ทับซ้อนกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กล่าวคือ ถ้ากิจการนั้นต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในทางกลับกันถ้าธุรกิจนั้นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ภาษีธุรกิจเฉพาะมีไว้เพื่ออุดช่องโหว่จากกิจการที่หามูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือให้บริการได้ยาก เช่น ธุรกิจการเงิน อย่างการขายหุ้น เป็นต้น ซึ่งประเมินได้ยากว่ามูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือให้บริการนั้นเป็นมูลค่าเท่าไหร่ จึงไม่สามารถใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ดังนั้น จึงใช้ภาษีธุรกิจเฉพาะแทน แต่ยังอาศัยหลักพื้นฐานการจัดเก็บลักษณะเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)