ผบ.ตร.เร่งสอบ คลิปสาวจีน จ้างตำรวจไทยใช้ “รถตำรวจ” นำขบวน

ทั่วไป

ผบ.ตร. สั่งสอบข้อเท็จจริงด่วน คลิปสาวจีน จ้างตำรวจไทยใช้ “รถตำรวจ” นำขบวน เผยมีการพิจารณาหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด มิใช่ให้ใครก็ได้ใช้สิทธิพิเศษเพื่อความสะดวกสบายส่วนตัว เพราะนอกจากจะส่งผลต่อความปลอดภัยบนท้องถนนแล้ว อาจสร้างภาพลักษณ์ไม่ดีในสายตาประชาชนได้

ผบ.ตร.สั่งสอบข้อเท็จจริง นักท่องเที่ยวจีนจ้างตำรวจไทยอำนวยความสะดวกจริงหรือไม่

21 มกราคม 2566 – พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณี คลิป “ตำรวจไทย” ที่กำลังเป็นกระแสในประเทศจีน ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนทดสอบใช้บริการตำรวจไทยและ “รถตำรวจ” นำทาง ว่าใช้เงินซื้อได้ทุกอย่างตามคำร่ำลือจริงหรือไม่ ‘สุดขำ’ มีตำรวจไปรับถึงประตูเครื่องบิน เดินนำทาง ยกกระเป๋า เปิดประตูรถให้ ขับรถนำเปิดไฟฉุกเฉินไซเรน จยย. 6,000 รถเก๋ง 7,000 แป๊บเดียว ถึงที่พัก สะดวกสมคำร่ำลือจริงๆ!

พล.ต.ต.อาชยน กล่าวว่า “กรณีดังกล่าว พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ได้รับทราบเรื่องแล้ว เห็นว่า กระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร จึงสั่งการด่วนให้ จเรตำรวจ ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าบุคคลปรากฎตามคลิปตั้งแต่สนามบินถึงการนำขบวน เป็นข้าราชการตำรวจจริงหรือไม่ ทำไมถึงมีการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว กระทำโดยชอบตามกฎหมาย ระเบียบหรือไม่ แล้วพิจารณาสั่งการตามอำนาจหน้าที่ เสนอ ผบ.ตร.ให้ทราบโดยเร็ว

โฆษก ตร. กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากที่ปรากฎตามคลิป การอำนวยความสะดวกในขั้นตอนของตรวจคนเข้าเมือง ไม่สามารถดำเนินการได้

ส่วนการนำขบวนนั้น ตร.ได้มีการกำชับสั่งการปฏิบัติมาโดยตลอด ทั้งการดำเนินการตามกฎหมายจราจร และการดำเนินการตามมติ ครม. ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0205/ว189 ลง 2 ต.ค. 2545 แจ้งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2544 เห็นชอบหลักเกณฑ์การใช้รถนำขบวนของตำรวจบุคคลสำคัญหรือนักการเมือง หรือการใช้รถนำขบวนรับรองแขกต่างประเทศในการเยือนประเทศไทยไว้ชัดเจน

ส่วนกรณีอื่นทั่วๆไป จะมีการนำขบวนได้นั้น ในเขต กทม. ให้ ผบก.จร. เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต นอกเขต กทม. ให้ ผบก.ทล. เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต โดยต้องพิจารณาถึงความจำเป็นที่ต้องใช้รถตำรวจนำขบวน เพื่อความปลอดภัยของขบวน หรือความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนตามความจำเป็นแก่กรณี เช่น รถนักเรียน ขบวนรถซึ่งเดินทางไปประกอบศาสนกิจหรือพิธีการต่างๆ หรือเป็นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนของบุคคลผู้มีตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ในทางราชการ เพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจสำคัญของทางราชการ เท่านั้น

การขออนุญาตใช้รถตำรวจนำขบวน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการพิจารณาหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด มิใช่ให้ใครก็ได้ใช้สิทธิพิเศษเพื่อความสะดวกสบายส่วนตัว เพราะนอกจากจะส่งผลต่อความปลอดภัยบนท้องถนนแล้ว อาจสร้างภาพลักษณ์ไม่ดีในสายตาประชาชนได้

ดังนั้น หากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่กำหนด จะมีการพิจารณาลงโทษตามอำนาจหน้าที่ต่อไป”

เปิดเกณฑ์ใช้ “รถตำรวจ” นำขบวน กรณีใดจึงจะใช้ได้

หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0205/ว189 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2545 แจ้งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2544 เห็นชอบ หลักเกณฑ์การใช้รถนำขบวนของตำรวจบุคคลสำคัญหรือนักการเมือง หรือการใช้รถนำขบวนรับรองแขกต่างประเทศในการเยือนประเทศไทย ได้กำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์การใช้รถตำรวจนำขบวน ดังนี้

1. การใช้รถตำรวจนำขบวนตามหลักเกณฑ์นี้ หมายถึง การขออนุญาตนำรถยนต์และ รถจักรยานยนต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาใช้ เพื่อนำขบวนยานพาหนะของบุคคลผู้มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ โดยมุ่งหมายที่จะรักษาความปลอดภัยของผู้เดินทางหรือของผู้ใช้รถใช้ถนน อารักขาบุคคลสำคัญ และอำนวยความสะดวกเป็นสำคัญ

ในการใช้รถตำรวจนำขบวนเป็นครั้ง ๆ ไปนั้น ให้บุคคลผู้มีสิทธิหรือหน่วยงานของ บุคคลนั้น แจ้งขอล่วงหน้าต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดรถตำรวจนำขบวน โดยให้แจ้งขอตามความจำเป็น ไม่ใช้ ในภารกิจที่เป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ เมื่อสิ้นสุดภารกิจแล้วให้ส่งคืน และให้เจ้าหน้าที่ประจำรถตำรวจ นำขบวนรายงานการสิ้นสุดภารกิจต่อผู้บังคับบัญชา ส่วนการใช้รถตำรวจนำขบวนเป็นประจำ ให้บุคคลผู้มีสิทธิหรือหน่วยงานของบุคคลนั้น แจ้งขอรถตำรวจนำขบวนได้คราวละหนึ่งชุด ไม่ให้มีชุดสำรองอยู่ประจำ เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วให้ส่งคืนทันที ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่ประจำรถตำรวจนำขบวนรายงาน การสิ้นสุดภารกิจต่อผู้บังคับบัญชาด้วยเช่นกัน

2. นอกจากขบวนเสด็จพระราชดำเนิน ขบวนเสด็จพระดำเนิน และขบวนเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีรถตำรวจนำขบวนตามปกติประเพณีแล้ว บุคคลสำคัญอื่น ๆ สามารถใช้รถตำรวจนำขบวนได้เป็นประจำหรือเป็นครั้ง ๆ ไปตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

2.1 ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ใช้รถตำรวจนำขบวนเป็นประจำได้สำหรับบุคคล ดังนี้

  • ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ
  • นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา (ประธานสภาผู้แทนราษฎร) รองประธานรัฐสภา (ประธานวุฒิสภา) ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธาน ศาลปกครองสูงสุด
  • สมเด็จพระสังฆราช
  • รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และประธานกรรมการที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและมีอำนาจหน้าที่ติดตามการปฏิบัติราชการในเขตพื้นที่ต่าง ๆ
  • ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

2.2 ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ผู้บังคับการตำรวจจราจร หรือผู้ได้รับมอบหมาย จากผู้บังคับการตำรวจจราจรมีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้ใช้รถตำรวจนำขบวนเป็นครั้ง ๆ ไปตามความจำเป็น แห่งโอกาสสำหรับบุคคล ดังนี้

  • ผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะ ประมุขของรัฐต่างประเทศ ผู้นำรัฐบาลต่างประเทศ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
  • องคมนตรี
  • ผู้นำทางศาสนาอื่น สมเด็จพระราชาคณะ
  • ขบวน ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้รถตำรวจนำขบวนเพื่อความปลอดภัยของขบวน หรือความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนตามความจำเป็นแก่กรณี เช่น รถนักเรียน ขบวนรถ ซึ่งเดินทางไปประกอบศาสนกิจหรือพิธีการ ขบวนที่มีรถหลายคัน หรือเป็นกรณีมีความจำเป็น เร่งด่วนของบุคคลผู้มีตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ในทางราชการเพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจสำคัญของทางราชการ

2.3 นอกเขตกรุงเทพมหานคร ให้ใช้รถตำรวจนำขบวนเป็นประจำโดยปกติได้สำหรับบุคคล ดังนี้

  • ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ
  • นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา (ประธานสภาผู้แทนราษฎร) รองประธานรัฐสภา (ประธานวุฒิสภา) ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด
  • สมเด็จพระสังฆราช
  • รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานกรรมการที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการ แผ่นดิน และมีอำนาจหน้าที่ติดตามการปฏิบัติราชการในท้องที่ต่าง ๆ
  • ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

2.4 นอกเขตกรุงเทพมหานคร ให้ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง หรือผู้ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับการตำรวจทางหลวงมีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้ใช้รถตำรวจนำขบวนเป็นครั้ง ๆ ไปตามความจำเป็นแห่งโอกาสสำหรับบุคคล ดังนี้

  • ผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะ ประมุขของรัฐต่างประเทศ ผู้นำรัฐบาลต่างประเทศ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
  • องคมนตรี
  • ผู้นำทางศาสนาอื่น สมเด็จพระราชาคณะ
  • ขบวน ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้รถตำรวจนำขบวนเพื่อความปลอดภัยของขบวน หรือความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนตามความจำเป็นแก่กรณี เช่น รถนักเรียน ขบวนรถซึ่งเดินทางไปประกอบศาสนกิจหรือพิธีการ ขบวนที่มีรถหลายคัน หรือเป็นกรณี มีความจำเป็นเร่งด่วนของบุคคลผู้มีตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ในทางราชการเพื่อเดินทางไปปฏิบัติ ภารกิจสำคัญของทางราชการ

2.5 การใช้รถตำรวจนำขบวนของบุคคลข้างต้นให้ใช้กับผู้รักษาราชการแทน ผู้รักษาการแทน ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน และบุคคลสำคัญชาวต่างประเทศที่มาเยือนประเทศไทย ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่เทียบเท่าโดยอนุโลม

3. การใช้รถตำรวจนำขบวนในราชการและภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณาอนุญาตเป็นราย ๆ ไป ตามความจำเป็นแก่กรณี ทั้งนี้ ให้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้มีรถตำรวจนำขบวนเป็นครั้ง ๆ ไปสำหรับบุคคลสำคัญ ชาวต่างประเทศที่เป็นแขกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้

4. สำหรับการใช้รถนำขบวนของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้ใช้รถนำขบวนของฝ่ายทหารเอง โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการใช้ไฟสัญญาณของฝ่ายตำรวจโดยอนุโลม

5. ให้กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์นี้โดยเคร่งครัด และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำบัญชีแสดงรายการการขอใช้รถตำรวจ นำขบวนไว้เพื่อการตรวจสอบด้วย สำหรับการใช้รถตำรวจนำขบวนที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์นี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเรียกคืนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งมตินี้

ศาลฎีกาเคยพิพากษาข้าราชการนำรถหลวงไปใช้ส่วนตัวมีหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต

เมื่อปี 2533 ศาลฎีกาเคยตัดสินคดีเกี่ยวกับการนำรถหลวงไปใช้ส่วนตัวในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4828/2533 โดยมีสาระสำคัญว่า มีข้าราชการรายหนึ่งสังกัดกรมทางหลวงซึ่งโดยตำแหน่งแล้วมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ใช้รถยนต์ของหน่วยงานและสามารถอนุมัติเบิกจ่ายค่าน้ำมันได้

ปรากฏว่าข้าราชการรายนี้ไปรับงานหล่อเสาซีเมนต์ป้ายจราจรจากผู้รับเหมาเป็นการส่วนตัว โดยมีเสาจำนวนนึงหล่อที่แขวงการทางฯ ด้วย ต่อมาข้าราชการรายนี้ก็สั่งให้ใช้รถหลวงและเบิกค่าน้ำมันจากหลวงไปขนเสาจากที่แขวงการทางฯ ไปส่งที่จุดติดตั้ง

ศาลฎีกามองว่าการรถหลวงไปใช้ส่วนตัวแถมเบิกน้ำมันหลวงอีกเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่กรมทางหลวง เป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต (ใช้ประโยชน์จากของหลวง) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 จึงพิพากษาจำคุก 3 ปี 4 เดือน

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)