ย้อนดูนโยบายภาษีพรรคร่วมรัฐบาล ที่เคยพูดไว้ตอนหาเสียง

ทั่วไป

จากการแถลงนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่มีขึ้นในวันที่ 25 – 26 กรกฎาคม 2562 นั้น ก่อนที่เราจะไปดูนโยบายภาษีของรัฐบาลใหม่ ทีมงาน iTAX อยากจะพาผู้เสียภาษีย้อนความหลังเกี่ยวกับ นโยบายภาษีของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ที่เคยพูดไว้ตอนหาเสียง มาดูกันดีกว่าว่า พรรคการเมืองฝั่งรัฐบาล มีนโยบายและแนวคิดเกี่ยวกับด้านภาษีอย่างไรบ้าง?

นโยบายภาษี พรรคร่วมรัฐบาล ก่อนเลือกตั้ง

1. พรรคพลังประชารัฐ

  • นโยบายลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ
  • ร้านค้าออนไลน์ปลอดภาษี 2 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ตั้งตัวได้ 
  • ยกเว้นภาษีเด็กจบใหม่ 5 ปี เพื่อให้เด็กจบใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ระบบการทำงานมีรายได้ที่ตั้งตัวได้เร็วขึ้น

2. พรรคประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีนโยบายเก็บภาษีเพิ่ม และมองว่าควรแก้ไขระบบการจัดเก็บภาษีให้เป็นเรื่องง่ายและมีความเป็นกลางมากขึ้น รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เนื่องจากเชื่อว่า หากระบบการจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพแล้ว การตรวจสอบผู้ที่หลบเลี่ยงก็จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนแนวความคิดที่ให้นักเรียนนักศึกษายื่นแบบภาษีแม้จะยังไม่มีรายได้ เพื่อความเคยชิน และเพื่อป้องกันนักศึกษาหลบหนี้ กยศ. ด้วย นอกจากนี้ยังมีนโยบาย

  • ปรับโครงสร้างการเก็บภาษี เช่น ยกฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีให้เป็นองค์กรอิสระ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เพื่อป้องกันไม่ให้คนในองค์กรถูกดึงตัวไปใช้ในธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี 
  • ปรับกลไกเรื่องรายจ่าย แยกสำนักงบประมาณแผ่นดิน ออกจากกระทรวงการคลัง เพื่อให้สำนักงบประมาณแผ่นดินมีอำนาจในการดูแลงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้น และทุกการอนุมัติการใช้จ่ายจะต้องผ่านสภา เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ 
  • ปรับโครงสร้างภาษีให้ทันสมัย เช่น ภาษี E-Commerce เพื่อป้องกันการเสียเปรียบต่างชาติ
  • ขยายจำนวนผู้มีรายได้ด้วยการกระตุ้นการศึกษา การสนับสนุนด้านการศึกษานอกจากจะช่วยให้ประชาชนสามารถยกระดับรายได้ของตัวเองได้ และยังเป็นผลดีในแง่ของการขยายฐานภาษีของรัฐอีกด้วย 

3. พรรคภูมิใจไทย

เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีของเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมปรับปรุงระบบภาษี ผลักดันให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แก้ค่าลดหย่อนพร้อมออกแบบภาษีที่เหมาะสมเพื่อสร้างแรงจูงใจในการจ่ายภาษี และกำหนดให้ยื่นแบบเสียภาษีตั้งแต่อายุ 18 ปี (แม้จะไม่มีรายได้)

  • ปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • ปรับโครงสร้างหน่วยงานการจัดเก็บภาษี (เป็นองค์กรอิสระ)
  • ปรับค่าลดหย่อนให้เหมาะสม สนับสนุนให้ยังสามารถใช้ LTF RMF และประกันชีวิต ลดหย่อนภาษีได้
  • ปรับกฎหมายภาษี
  • เก็บภาษีมลพิษและสิ่งแวดล้อม 
  • หารายได้เพิ่มจากการสนับสนุนให้มีการปลูกกัญชา (แคลิฟอร์เนียโมเดล)

4. พรรคประชาภิวัฒน์

เล็งเห็นว่า ควรเพิ่มความรู้ด้านภาษีให้กับประชาชน นักบัญชี รวมถึงเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร พร้อมทั้งผลักดันให้การจัดเก็บภาษีมีความเท่าเทียมกัน และมองว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ควรมีอัตราที่สูงกว่าภาษีนิติบุคคล เนื่องจากการจดนิติบุคคลจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็ก และมองว่า การขยายฐานภาษีจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อ การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างเป็นธรรมและครบถ้วน เนื่องจากมองว่า แม้ว่าฐานภาษีจะเพิ่มขึ้นแต่ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดการภาษีได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน อัตราภาษีย่อมลดลงได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีนโยบาย

  • กำหนดมาตรการทางภาษีลดหย่อนให้ธุรกิจเอกชน เพื่อให้เอกชนมีส่วนช่วยป้องกันมลภาวะที่เกิดขึ้น เช่น ลดภาษีรถไฟฟ้า หรือรถสาธารณะ เพื่อลดมลภาวะ ให้มาตรการทางภาษีแก่บริษัทที่ปล่อยมลภาวะหรือปล่อยของเสียลงแม่น้ำลำคลอง 
  • จัดเก็บภาษีอย่างเสมอภาค เช่น สร้างค่านิยมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเสียภาษี, สร้างแรงจูงใจให้ทุกคนภูมิใจที่ได้เสียภาษี, ปกป้องคนที่อยู่ในระบบ และทำให้คนเข้าระบบภาษีเพิ่มมากขึ้น
  • ใช้ระบบสะสมแต้มแบบบัตรเครดิต เมื่อคุณเสียภาษีและคุณสะสมแต้ม คุณสามารถนำสิทธิตรงนี้ไปลดหย่อนภาษี หรือสามารถใช้สิทธิอื่นๆ ได้
  • ตรวจสอบได้ ควรใช้งบประมาณอย่างเป็นธรรม การใช้จ่ายของรัฐต้องมีเหตุผล มีการชี้แจ้งให้ประชาชนทราบ ตอบโจทย์ประชาชนได้ และทุกๆ การใช้จ่ายประชาชนจะต้องเห็นด้วย ต้องมีความโปร่งใส รวมถึง ยกเลิกงบลับ งบที่เปิดเผยไม่ได้

5. พรรคไทยศรีวิไลย์

นโยบายภาษีของพรรคไทยศริวิไลย์ เน้นไปที่การลดหนี้รัฐและสร้างสวัสดิการประชาชนให้มากขึ้น เช่น การลดค่าครองชีพด้วยการซื้อ ปตท. คืน และรวมถึงการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เป็นต้น นอกจากนี้ยังคงรุกหนักเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน และการยึดทรัพย์นักการเมืองและนักธุรกิจที่ทุจริต เพื่อนำเงินที่ยึดได้มาใช้หนี้ให้กับรัฐและสร้างสวัสดิการให้ประชาชนเพิ่ม

  • ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ข้าราชการระดับ 8 – 11 พร้อมทั้งออกนโยบายยกเลิกเลขธนบัตรเพื่อไม่ให้นำเงินที่เก็บไว้ออกมาใช้จ่ายได้ ข้าราชการที่ถูกตรวจสอบจะต้องชี้แจงที่มาที่ไปของทรัพย์สินให้ได้ หากไม่สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินได้จะถูกยึดทรัพย์ แต่หากเอาเงินมาคืนจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ และจะไม่โดนโทษไม่ประหารแต่ให้ไปบวชแทน
  • ยึดทรัพย์นักการเมืองและนักธุรกิจ นำเงินที่ได้จากการยึดทรัพย์มาใช้หนี้รัฐ และใช้เงินที่ได้จากการยึดทรัพย์สร้างสวัสดิการให้ประชาชน ตั้งแต่เกิดยันตาย เช่น เพิ่มค่ารักษาพยาบาล, เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1500 บาทต่อเดือน, ชำระภาษีน้ำมัน เอาปตท คืน ลดราคาน้ำมัน ให้ปตท มีกำไรเฉพาะโรงกลั่นเท่านั้น, พร้อมกำหนดราคาสินค้าใหม่ทั่วประเทศ จะทำให้รายจ่ายลดลง
  • สภามหาวิทยาลัย ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และต้องเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบทรัพย์สินได้ รายได้จากงานวิจัยต้องเสียภาษี เพื่อที่จะได้ลดค่าเทอมนักศึกษาในระดับ ปริญญาตรี และปริญญาโท ได้มากขึ้น

ทั้งหมดนี้ คือนโยบายภาษีของพรรคร่วมรัฐบาลที่เคยพูดเอาไว้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง แต่นโยบายภาษีจากพรรคไหนที่จะถูกผลักดันและสามารถทำได้จริง ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ผู้เสียภาษีต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด และในส่วนของการแถลงนโยบายภาษีของรัฐบาลที่กำลังจะมีขึ้นนั้น หาก iTAX Media จะอัปเดตให้ผู้เสียภาษีทราบต่อไป

 

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)