ข้อควรรู้ เมื่อต้องการเปลี่ยนจาก ธุรกิจบุคคลธรรมดา เป็นบริษัทจำกัด

SME

หากคุณเป็นหนึ่งคนที่มีธุรกิจเป็นของตัวเอง และอยากเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากเดิมที่เป็นชื่อตัวเองไปเป็นบริษัท แต่การเปลี่ยนมาทำธุรกิจในนามนิติบุคคล หรือ จัดตั้งบริษัท ต้องเตรียมตัวอย่างไร มีข้อมูลส่วนไหนที่ต้องรู้ก่อนบ้าง iTAX ได้ทำการรวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว

ทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา กับจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แตกต่างกันอย่างไร?

สำหรับใครที่ยังไม่เข้าใจว่า การทำธุรกิจแบบจดทะเบียนบุคคลธรรมดา กับนิติบุคคลไม่เหมือนกันอย่างไร เราต้องขออธิบายสั้นๆ ก่อนว่า การทำธุรกิจสามารถเริ่มต้นได้ 2 รูปแบบ นั่นคือ บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล

1. ทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา

การทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา คือ การใช้ชื่อเจ้าของกิจการเป็นคนดำเนินการทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องการทำนิติกรรมสัญญา หรือ การชำระภาษีเงินได้ประจำปี จะเป็นการดำเนินการในชื่อตัวคุณผู้เป็นเจ้าของกิจการเอง และควรจดทะเบียนพาณิชย์ เพื่อบอกให้คนทั่วไปทราบว่า คุณทำธุรกิจแบบถูกต้องเปิดเผย มีสถานที่ตั้งประกอบกิจการชัดเจน เป็นธุรกิจที่อยู่ในระบบถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนจะไม่ยุ่งยากเท่าการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือจัดตั้งบริษัท หากอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่

  • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร รับจดทะเบียนพาณิชยกิจของผู้ประกอบพาณิชยกิจ ที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร
  • ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตทุกแห่ง รับจดทะเบียนพาณิชยกิจของผู้ประกอบพาณิชยกิจ ที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่ของเขตนั้นๆ

แต่หากคุณอาศัยอยู่ต่างจังหวัดสามารถยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมืองพัทยา รับจดทะเบียนพาณิชย์ของผู้ประกอบพาณิชยกิจที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมืองพัทยา(แล้วแต่กรณี) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.dbd.go.th

2. จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล

การดำเนินธุรกิจแบบจดทะเบียนนิติบุคคล เป็นการดำเนินธุรกิจที่แยกออกจากการเป็นบุคคลธรรมดา หากมีการดำเนินการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมสัญญา นิติกรรมสัญญา รวมถึง การชำระเงินภาษีจะเป็นไปในนามของกิจการทั้งหมด ซึ่งโดยปกติการจดทะเบียนนิติบุคคลนิยมทำคือ การจดทะเบียนบริษัทจำกัด

เปลี่ยนการทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา เป็นนิติบุคคล กับคำถามที่พบบ่อย

1. ขอยกเลิกบุคคลธรรมดา ก่อนหรือหลังจดทะเบียนนิติบุคคล

เมื่อคุณตัดสินใจทำธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจในรูปแบบการจดทะเบียนบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด คุณจะต้องดำเนินการยกเลิกทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เลิกประกอบพาณิชยกิจ (อ้างอิงข้อมูลจาก www.dbd.go.th) ส่วนจะยกเลิกก่อนหรือหลังจดทะเบียนนิติบุคคลนั้น ขึ้นอยู่กับความสะดวกของคุณ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วหลายๆคนนิยมทำการยกเลิกหลังจดทะเบียนนิติบุคคลเรียบร้อยแล้ว

2. จำเป็นต้องโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวกับธุรกิจ เป็นชื่อนิติบุคคลหรือไม่?

สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ คุณจะโอนเข้าเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของลักษณะกิจการซึ่งควรวางแผนกับนักบัญชีให้เรียบร้อยด้วย

3. เปลี่ยนเป็นนิติบุคคล ภาษีเงินได้นิติบุคคลเริ่มจากวันไหน ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยไหม?

ภาษีเงินได้นิติบุคคลจะเริ่มจากวันที่คุณจดทะเบียนนิติบุคคลเรียบร้อยแล้ว และหากคุณมีรายได้ในปีนั้นก่อนจะตั้งบริษัทก็ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เรียบร้อยด้วยเช่นกัน

4. พนักงานที่ทำงานในนิติบุคคล ต้องเข้าประกันสังคมหรือเปล่า?

หลายคนมีความเข้าใจว่า เมื่อดำเนินการจดทะเบียนบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หากมีลูกจ้างหรือพนักงานจะต้องจดประกันสังคมด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าคุณจะดำเนินธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล หรือ บุคคลธรรมดา หากมีลูกจ้างหรือพนักงาน คุณจะต้องไปขึ้นทะเบียนประกันสังคมนายจ้างและลูกจ้าง ที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่จังหวัดที่กิจการตั้งอยู่ และนายจ้างจะต้องส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยเงินนำส่งจะต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  • ส่วนของลูกจ้าง จะต้องหักนำส่งในอัตราร้อยละ 5 ของเงินเดือน (สูงสุดไม่เกิน 750 บาท)
  • ส่วนของนายจ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเท่ากับจำนวนเงินสมทบในส่วนของลูกจ้าง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เวบไซต์ กระทรวงแรงงาน www.mol.go.th และ เวบไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th )

ทั้งนี้การเปลี่ยนจากบุคคลธรรมดามาเป็นนิติบุคคล ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงด้านการทำบัญชีและภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นั่นหมายความว่า หากคุณมีความคิดที่จะเปลี่ยนจากการทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา มาดำเนินธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล คุณอาจจะต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดที่สุด เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

และสำหรับเจ้าของธุรกิจที่อยากจดทะเบียนนิติบุคคล หรือกำลังมองหาผู้ช่วยเพื่อทำให้การจดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้น ติดต่อสอบถามค่าบริการ iTAX sme 062-486-9787 ทีมงานมืออาชีพของเราจะช่วยให้คุณปวดหัวกับการจดทะเบียนบริษัทน้อยลง และมีเวลาในการวางแผนธุรกิจได้มากขึ้น

 

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)