สรุปประเด็นจำคุกตลอดชีวิต สาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร คดีโกง VAT 3 พันล้าน

ภาษี

นาย สาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร และพวก ถูกศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต คดีโกง VAT ความเสียหายกว่า 3 พันล้านบาท

19 สิงหาคม 64 – ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 126/2562 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในคดีโกง VAT มูลค่าความเสียหายกว่า 3 พันล้านบาท โดยสรุปได้ดังนี้

ใครถูกฟ้องในคดีโกง VAT นี้บ้าง?

  • นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร (จำเลยที่ 1)
  • นายสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ อดีตสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 (จำเลยที่ 2)
  • นายประสิทธิ์ อัญญโชติ พวกของบริษัทแร่โลหะ และเป็นคนมารับเงินคืนไป (จำเลยที่ 3) และ
  • นายกิติศักดิ์ อัญญโชติ บุตรชายของนายประสิทธิ์ (จำเลยที่ 4)

เกิดอะไรขึ้นในคดีโกง VAT จนสร้างความเสียหายให้แผ่นดินกว่า 3 พันล้านบาท?

มีการใช้ 25 บริษัททำธุรกรรมอ้างว่าส่งออกโลหะจำนวนมากเพื่อทำเรื่องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออก (ยื่นขอคืนภาษีเป็นเท็จ) โดยมีอธิบดีกรมสรรพากรและเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่จงใจช่วยเหลือจนจ่ายเงินคืนภาษีออกไปสำเร็จ สร้างความเสียหายเป็นมูลค่า 3,097,016,533.99 บาท

อัยการฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 20 พ.ค. 2555 – 26 ต.ค. 2556 พวกจำเลยร่วมและสนับสนุนการกระทำความผิด คือร่วมกันขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยแสดงข้อความเท็จหลอกลวงกรมสรรพากร เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร และเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 เพื่อให้ได้ไปซึ่งเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากรและรัฐโดยทุจริต

นายสาธิต รังคสิริ (อธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้น) และ นายสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ (สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ทราบดีถึงความเท็จดังกล่าวมาแต่ต้น แต่กลับรู้เห็นเป็นใจด้วยการร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและทุจริต โดยนายสิริพงศ์ได้ใช้อำนาจของตนสั่งการให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสถานประกอบการเกี่ยวกับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ให้พิจารณาเสนอความเห็นยุติการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพกิจการของบริษัท จำนวน 25 บริษัท ที่ขอคืนภาษี และให้คืนภาษีให้แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งดังกล่าว ทั้งๆ ที่ยังมีข้อสงสัยว่าเป็นผู้ประกอบการจริงหรือไม่

นายสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ อดีตสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้อย่างไร?

โดยนายสิริพงศ์ละเว้นไม่สั่งการให้มีการตรวจสอบสถานประกอบการ ไม่สั่งการให้ตรวจสอบการซื้อขายสินค้าวัตถุดิบการเก็บรักษาสินค้า การจ้างแรงงาน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วน ทั้งยังเร่งรัดให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอสำนวนการตรวจสภาพกิจการอันการเป็นผิดระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจปฏิบัติการ พ.ศ. 2554 ประกอบแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากรในหลายกรณี รวมถึงสั่งระงับทำให้ไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดว่าใบกำกับภาษี และใบส่งสินค้าออกต่างประเทศที่นำมาใช้อ้างแสดงเป็นหลักฐานนั้นเป็นเอกสารแท้จริงหรือไม่อีกด้วย

นายสิริพงศ์ยังสั่งการปรับปรุงการกำกับดูแลประเภทกิจการเกี่ยวกับการขายส่งโลหะและแร่โลหะจากเดิมมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลายทีมให้มีเพียงทีมเดียวทำหน้าที่ตรวจสอบบริษัท และสั่งการให้ทีมตรวจสอบบริษัทออกตรวจกิจการบริษัทบางบริษัทในกลุ่ม 25 บริษัทก่อนล่วงหน้าที่จะมีการยื่นขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และใช้ผลการตรวจล่วงหน้าในการพิจารณาคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นการดำเนินการไม่ปกติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติที่กรมสรรพากรกำหนด

นาย สาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้อย่างไร?

ส่วนนายสาธิต รังคสิริ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกรมสรรพากร ทราบดีว่าการดำเนินการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มยังไม่ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนตามแนวทางปฏิบัติและระเบียบกรมสรรพากร และเมื่อมีการตรวจพบความผิดปกติที่เกี่ยวข้องในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนี้รายงานมายังนายสาธิต กลับสั่งการให้สำนักงานตรวจสอบภาษีกลางไปตรวจสอบใบขนสินค้าขาออกกับกรมศุลกากรว่ามีการส่งออกจริงหรือไม่เท่านั้น ซึ่งเป็นการสั่งการที่จงใจให้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งที่ข้อสำคัญจะต้องสั่งการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าผู้ขอคืนภาษีประกอบกิจการจริงหรือไม่ขัดต่อแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรในการกำกับดูแลผู้เสียภาษีโดยใกล้ชิดเป็นรายผู้ประกอบการและให้เป็นปัจจุบัน แต่นายสาธิตกลับละเว้นไม่สั่งการตรวจสอบ

นอกจากนี้ผลตรวจสอบใบขนส่งสินค้าขาออกตามที่นายสาธิตสั่งการก็ไม่ได้ข้อเท็จจริงยืนยันว่ามีการขนส่งสินค้าออกจริงหรือไม่ กรณีดังกล่าวจึงไม่สามารถอนุมัติคืนภาษีได้หากไม่มีธนาคารมาค้ำประกัน แต่นายสาธิตกลับเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้ง ทั้งยังอาศัยอำนาจของตนในการบังคับบัญชาข้าราชการของกรมสรรพากรเข้ามาติดตามเร่งรัดพร้อมทั้งมอบแนวทางการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 เพื่อให้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งโดยเร็ว

พฤติการณ์ของจำเลยกับพวก จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อให้ข้อเท็จจริงที่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งนั้นไม่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นการฉ้อฉลนั้นถูกปกปิด จนที่สุดนายสิริพงศ์ด้วยความรู้เห็นเป็นใจของนายสาธิตได้พิจารณาอนุมัติคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งจำนวนหลายครั้ง

นายประสิทธิ์ อัญญโชติ และบุตรชาย มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้อย่างไร?

อัยการฟ้องในสำนวนว่าในการนี้นายประสิทธิ์ อัญญโชติ และนายกิติศักดิ์ อัญญโชติ กับพวกได้มารับเอาเงินจำนวนตามที่ได้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งดังกล่าว ไปแบ่งปันกันโดยทุจริตกับนายสาธิตและนายสิริพงศ์ โดยนายสาธิตได้นำเงินบางส่วนที่ได้รับแบ่งปันโดยทุจริตไปซื้อทรัพย์สินเป็นทองคำแท่งไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว

อัยการแจ้งความเสียหายจากคดีโกง VAT เป็นมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท

การกระทำของพวกจำเลยดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจของตนไปโดยมิชอบและทุจริตเบียดบังเงินของรัฐที่อยู่ในอำนาจจัดการดูแลเก็บรักษาของตน ไปเป็นของตนเองและบุคคลอื่นโดยทุจริต เป็นเหตุให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลังและรัฐได้รับความเสียหายเป็นเงิน 3,097,016,533.99 บาท ขอให้ลงโทษตามกฎหมาย และขอให้ริบของกลางทองคำแท่ง น้ำหนัก 77 กิโลกรัม และทองคำแท่งน้ำหนักรวม 7,000 บาททองคำ กับให้จำเลยร่วมกันชดใช้เงินที่เบียดบังเอาไปและยังไม่ได้คืน จำนวน 3,097,016,533.99 บาทแก่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง

ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลางพิพากษาคดีนี้ว่าอย่างไร?

โทษทางอาญา

นายสาธิตและนายสิริพงศ์

  • พิพากษาว่านายสาธิตและนายสิริพงศ์มีความผิดตาม
    • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147(เดิม), 151(เดิม) และ 157(เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83
    • พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1
  • การกระทำของนายสาธิตและนายสิริพงศ์เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
    • ฐานความผิดแรก – เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสียและ
    • ฐานความผิดที่สอง – เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ ซื้อทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือเจ้าของทรัพย์
  • เนื่องจากทั้ง 2 ฐานมีความผิดเท่ากัน ศาลให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย (ฐานความผิดแรก) แต่เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90
  • สรุป ลงโทษจำคุกนายสาธิตและนายสิริพงศ์ ตลอดชีวิต

นายประสิทธิ์

  • นายประสิทธิ์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157(เดิม) 265(เดิม) 268(เดิม) 341(เดิม)
  • ประมวลรัษฎากรมาตรา 90/4(3) (6(เดิม)) (7) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86
  • กระทำของนายประสิทธิ์เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90
  • สรุป ลงโทษจำคุกนายประสิทธิ์เป็นเวลา 6 ปี 8 เดือน

นายกิติศักดิ์

  • ศาลพิพากษายกฟ้อง นายกิติศักดิ์จึงไม่ต้องรับโทษทางอาญา

ความรับผิดทางแพ่ง

  • ให้นายสาธิต นายสิริพงศ์ และนายประสิทธิ์ ร่วมกันชดใช้เงิน 3,097,016,533 บาท แก่กรมสรรพากรกระทรวงการคลัง
  • นับโทษของนายประสิทธิ์ต่อจากโทษของนายสาธิตในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ฟย. 23/2560 (หมายเลขแดงที่ ฟย. 47/2561) ของศาลอาญา
  • ริบของกลางทองคำแท่งน้ำหนัก 77 กิโลกรัมและทองคำแท่งน้ำหนักรวม 7,000 บาททองคำ ตามคำขอท้ายฟ้อง และทองคำแท่งทุกรายการที่ส่งมอบแก่คณะกรรมการจัดการทรัพย์สินเมื่อ 15 พ.ย. 2562

สรุป ใครต้องรับโทษในคดีโกง VAT นี้อย่างไรบ้าง?

  • นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร – รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ริบทองคำ และร่วมกันชดใช้ความเสียหายให้กรมสรรพากร
  • นายสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ อดีตสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 – รับโทษจำคุกตลอดชีวิต และร่วมกันชดใช้ความเสียหายให้กรมสรรพากร
  • นายประสิทธิ์ อัญญโชติ – รับโทษจำคุก 6 ปี 8 เดือน และร่วมกันชดใช้ความเสียหายให้กรมสรรพากร
  • นายกิติศักดิ์ อัญญโชติ – ศาลยกฟ้อง ไม่ต้องรับโทษ

คดีโกง VAT นี้ถึงที่สุดรึยัง?

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ พิพากษายึดทรัพย์และทองคำแท่ง มูลค่า 871 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน จากคดีร่ำรวยผิดปกติ

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)