จดทะเบียนพาณิชย์ ไม่ได้หมายความว่า เสียภาษีถูกต้องแล้ว

SME

ผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจหลายคนมักจะเข้าใจว่า เมื่อธุรกิจทำการจดทะเบียนพาณิชย์แล้ว นั่นหมายความว่า ธุรกิจของเราได้ทำการเสียภาษีถูกต้องแล้ว และไม่ต้องดำเนินการด้านภาษีใดๆ อีก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การจดทะเบียนพาณิชย์ และ การที่ธุรกิจต้องเสียภาษี เป็นคนละเรื่องกัน ส่วนจะแตกต่างกันอย่างไร เดี๋ยว iTAX จะเล่าให้ฟัง

การจดทะเบียนพาณิชย์ คืออะไร?

การจดทะเบียนพาณิชย์ คือ การจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตาม พระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2549 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะในรูปแบบของบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล จะต้องทำการจดทะเบียนพาณิชย์ เพื่อเป็นการยืนยันว่า ธุรกิจของคุณเป็นธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงสามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับกิจการหรือธุรกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าของคุณอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันการจดทะเบียนพาณิชย์มี 2 รูปแบบคือ

  • การจดทะเบียนพาณิชย์ธรรมดา
  • การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (สำหรับธุรกิจที่สามารถชำระเงินได้ออนไลน์ได้ ทั้งทาง เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน)

หมายเหตุ

  • กรณีที่ขายของออนไลน์ผ่านช่องทาง social media ที่ไม่สามารถทำการชำระเงินได้บนแพลตฟอร์มนั้นๆ คุณสามารถทำการจดทะเบียนพาณิชย์แบบธรรมดา และยื่นภาษีตามปกติได้เลย
  • หากต้องการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์คุณจะต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม คือ รายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์ (เอกสารแนบ แบบ ทพ.) และเอกสารจดโดเมนเนม ที่แสดงว่าคุณเป็นเจ้าของโดเมนเนม) ด้วย (เพิ่มเติมที่ www.dbd.go.th)
  • สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ www.dbd.go.th

ธุรกิจแบบไหนต้องจดทะเบียนพาณิชย์

ธุรกิจที่ต้องทำการจดทะเบียนพาณิชย์ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. ธุรกิจที่ดำเนินในรูปแบบของ บุคคลธรรมดา เดียว

หากคุณทำธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดาหรือ กิจการที่มีเจ้าของคนเดียว และประกอบกิจการต่อไปนี้ จะต้องทำการจดทะเบียนพาณิชย์ให้เรียบร้อย

  • กิจการโรงสีข้าว และ โรงเลื่อยที่ใช้เครื่องจักร
  • กิจการค้าขายสินค้า ที่ใน 1 วันสามารถขายได้ 20 บาทขึ้นไป หรือ เป็นธุรกิจที่สต็อกสินค้าไว้เพื่อขายมีมูลค่าสินค้าตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป
  • นายหน้าหรือตัวแทนที่ขายสินค้าที่มีมูลค่าใน 1 วัน ตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป
  • เจ้าของกิจการหัตถกรรมหรืออุตสาหกรรม ที่สามารถผลิตและขายสินค้าได้เป็นเงิน 20 บาท/วัน หรือ มีสินค้าที่มีมูลค่าตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป
  • กิจการขนส่งทางทะเล รวมถึง การขนส่งโดยรถไฟ, ขนส่งโดยรถยนต์ประจำทาง, การขายทอดตลาด, การรับซื้อขายที่ดิน, การให้กู้ยืมเงิน, การรับแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ, การซื้อหรือขายตั๋วเงิน, การธนาคาร, โรงรับจำนำ และการทำโรงแรม
  • กิจการที่ขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิต แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดีทัศน์ แผ่นวีดีทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดีทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
  • กิจการค้าขายอัญมณี หรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมณี
  • กิจการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
  • บริการอินเทอร์เน็ต รวมถึง การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเทอร์เน็ต
  • การให้บริการตู้เพลง, บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ
  • การให้บริการเครื่องเล่นเกมส์
  • โรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีก การค้าส่งงาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้าง

2. ธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล

ไม่ว่าคุณจะดำเนินธุรกิจในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล, ห้างหุ้นส่วนจำกัด, บริษัทจำกัด หากคุณดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่อไปนี้ จะต้องทำการจดทะเบียนพาณิชย์ด้วย

  • ธุรกิจขาย ให้เช่า ผลิต รวมถึงรับจ้างผลิต แผ่น CD แถบบันทึก วีดีทัศน์ แผ่นวีดีทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดีทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
  • ธุรกิจขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี
  • ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ต
  • ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย
  • ธุรกิจบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
  • ธุรกิจให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเทอร์เน็ต
  • ธุรกิจให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงคาราโอเกะ
  • ธุรกิจให้บริการเครื่องเล่นเกมส์
  • ธุรกิจให้บริการตู้เพลง
  • ธุรกิจโรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการทำหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีกการค้าส่งงาช้าง และผลิตภัณฑ์จากงาช้าง

3. ผู้ประกอบการเป็นชาวต่างชาติ

ในกรณีที่ผู้ประกอบการเป็นชาวต่างชาติ หรือเป็นนิติบุคคลที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ และมีสำนักงานสาขาในประเทศไทย เจ้าหน้าที่อาจจะต้องตรวจสอบก่อนว่า ธุรกิจนั้นๆ ได้รับอนุญาตตาม พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 หรือไม่ และถ้าหากเป็นกิจการที่ต้องได้รับอนุญาต ผู้ประกอบการจะต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าก่อนยื่นจดทะเบียนพาณิชย์

ทำความเข้าใจใหม่ การจดทะเบียนพาณิชย์ ไม่เท่ากับ เสียภาษีถูกต้อง

ผู้ประกอบการหลายคนมักจะเข้าใจว่า เมื่อธุรกิจทำการจดทะเบียนพาณิชย์ก็เท่ากับว่า ธุรกิจของเราได้เข้าสู่ระบบภาษี และทำการเสียภาษีเรียบร้อยแล้ว แต่ในความเป็นจริงที่ผู้ประกอบการต้องรู้คือ การจดทะเบียนพาณิชย์ไม่ใช่การเสียภาษี ที่พูดแบบนี้เพราะว่า

  • การจดทะเบียนพาณิชย์ เป็นการจดแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า ธุรกิจหรือร้านค้าของคุณ เป็นธุรกิจที่มีการดำเนินการจริง มีตัวตนจริง และเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้าหรือผู้ที่มาใช้บริการของคุณอีกด้วย
  • การเสียภาษี เป็นเรื่องของการทำหน้าที่ตามกฎหมายภาษี เนื่องจากกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจที่มีรายได้จากการประกอบธุรกิจ มีหน้าที่ยื่นเสียภาษีแก่กรมสรรพากร และจะต้องทำการเสียภาษีหากมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดด้วย

จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แม้การจดทะเบียนพาณิชย์จะเป็นการทำตามกฎหมายระบุไว้ แต่เป็นเพียงการทำธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า เป็นกฎหมายคนละส่วนกับกฎหมายภาษีอยู่ดี

นั่นหมายความว่า หากคุณเริ่มต้นธุรกิจและทำการจดทะเบียนพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว หากไม่อยากมีปัญหากับการ โดนสรรพากรตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ในอนาคต คุณจะต้องทำการยื่นและเสียภาษีเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ให้เรียบร้อยด้วย และอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่คุณต้องไม่พลาดคือ ในกรณีที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี คุณจะต้องทำการ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วยเช่นกัน

และแน่นอนว่า สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการผู้ช่วยในการจัดทำบัญชีและภาษีสำหรับธุรกิจ สามารถติดต่อสอบถามค่าบริการ โทร. 062-486-9787

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)