คุณสมบัติ ผู้มีสิทธิรับ เงินดิจิทัล 1 หมื่น ต้องเงินเดือนไม่เกิน 7 หมื่น

ทั่วไป

นายกฯ เคาะแล้ว คุณสมบัติ ผู้มีสิทธิรับ เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต จะแจกให้ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท หรือ มีเงินในบัญชีรวมกันน้อยกว่า 500,000 บาท รับโอนเงินช่วง พฤษภาคม 2567 โดยรับเงินผ่านแอปเป๋าตัง

สรุป คุณสมบัติ ผู้มีสิทธิเข้าโครงการ เงินดิจิทัล 10,000 บาท

  • เป็นผู้มีสัญชาติไทย
  • อายุ 16 ปีขึ้นไป
  • ต้องมีเงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท หรือ มีเงินในบัญชีรวมกันน้อยกว่า 500,000 บาท
  • ยืนยันตัวตนสำหรับการใช้ดิจิทัลวอลเล็ตตามเกณฑ์ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย แล้ว

หมายเหตุ: สำหรับคนที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ รัฐบาลจะออกโครงการ e-Refund ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยใช้ใบกำกับภาษีมายื่นภาษี และรัฐจะคืนเงินภาษีให้

ขั้นตอน ลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 บาท

สำหรับประชาชนทั่วไป

รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านแอป ‘เป๋าตัง’

สำหรับร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการ

  • จะเปิดให้ลงทะเบียนร้านค้าต่อไป

ช่วงเวลารับเงินดิจิทัล 10,000 บาท

  • พฤษภาคม 2567

เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท

  • ใช้จ่ายได้กับร้านค้าภายในอำเภอตามบัตรประชาชนผ่านแอป เป๋าตัง

สินค้า/บริการที่ไม่สามารถนำเงินดิจิทัล 10,000 ไปใช้ได้

  • บริการทุกชนิด
  • สินค้าออนไลน์
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม
  • บัตรกำนัล
  • บัตรเงินสด
  • ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี
  • ชำระหนี้
  • ค่าเรียน ค่าเทอม
  • ค่าน้ำ ค่าไฟ
  • ค่าโทรศัพท์
  • น้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ
  • แลกเป็นเงินสดไม่ได้
  • แลกเปลี่ยนในตลาดต่างๆ ไม่ได้

ร้านค้าที่รับเงินดิจิทัล 10,000 บาทได้

ซื้อสินค้าได้ทุกร้านค้า ไม่ได้จำกัดแต่ร้านที่อยู่ในระบบภาษี ไม่จำเป็นต้องจด VAT ดังนั้น ร้านค้ารถเข็น ร้านโชห่วย ร้านค้าที่อยู่บนแอปเป๋าตัง สามารถเข้าร่วมโครงการได้หมด แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ

ทั้งนี้ ร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น

ที่มาของงบประมาณ

  • พ.ร.บ.เงินกู้ วงเงิน 500,000 ล้านบาท
  • งบประมาณ ปี 67-69 ประมาณ 100,000 ล้านบาท

ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับ โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

10 พฤศจิกายน 2566 – ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ดัชนีความไม่เท่าเทียม คนรวยและคนจนมีความเหลื่อมล้ำต่างกัน 9 เท่า การลงทุนน้อยลง ถือเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยรัฐบาลนี้ตระหนักดีว่าเราอยู่ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ รวมถึงยังมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน และ อิสราเอล-ฮามาส ทำให้ตลาดทั่วโลกได้รับผลกระทบเศรษฐกิจถดถอย ส่วนไทยเจอภาวะเม็ดเงินเหือดหาย แถมซ้ำเติมด้วยการเติบโตเศรษฐกิจใต้ดิน ทำให้เก็บภาษีไม่ได้ หากไม่เติมเม็ดเงินใหม่เข้าไป จะไม่มีเงินหมุนเวียนเพียงพอ การใช้จ่ายจะไม่เพียงพอ จะทำให้เศรษฐกิจถดถอยลงไปอีก เมื่อเติมเงินในกระเป๋าประชาชนจะทำให้การค้าขายคึกคัก ธุรกิจเล็กๆ จะค่อยๆ เติบโต หนี้สินจะหายไป โดยหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งเคยทำมาแล้ว ด้วยการส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนควบคู่การส่งออก จนสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้

นายกฯ ยืนยันว่า นโยบายการอัดฉีดเงินไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เพราะหลายประเทศก็ทำ เช่น ญี่ปุ่น โดยทุกรัฐบาลมีความหวังจะต้องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เหมือนที่รัฐบาลไทยทำในการอัดฉีดเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท นโยบายนี้คือการอัดฉีดให้เข้าไปให้ถึงทุกพื้นที่ ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย หมุนเวียนในระยะเวลาอันรวดเร็ว

“เงินทั้งหมดในโครงการนี้ จะถูกส่งตรงไปยังประชาชนทุกคน ที่ผ่านเงื่อนไข เข้าไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัล ขอบเขตการใช้งานจะทำแค่ในร้านค้า ที่อยู่ในอำเภอเดียวกับบัตรประชาชนของท่าน ย้ำนะครับ อำเภอ ซึ่งปรับขยายตามความเห็นของทุกภาคส่วน และต้องจ่ายเงินแบบ Face to Face (ต่อหน้า) และหากไม่ได้ใช้สิทธิที่เหลือก็จะถูกยกเลิกไปโดยอัตโนมัติ และเงินจะใช้ได้ถึง เมษายน 2570”

นายกฯ กล่าวต่อว่า เงินก้อนนี้ไม่ได้มาจากการสร้างเงิน เสกเงิน พิมพ์เงิน ไม่ได้เขียนโปรแกรมสร้างเงินเหมือน cryptocurrency และนำไปเทรดแลกเงินเพื่อเกร็งกำไรก็ไม่ได้ เงินนี้มีที่มาจากเงินบาท ที่มีเงื่อนไขการใช้งาน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจสูงกว่าการอัดฉีดที่ผ่านมา ฉะนั้น เงิน 1 บาท คือ 1 บาทในกระเป๋า ร้านค้าและประชาชนต้องยืนยันรับสิทธิ

นายกฯ กล่าวต่อว่า การจับจ่ายใช้สอยจะต้องเริ่มต้นที่ชุมชนก่อนเสมอ เงินตรงนี้จะเป็นการกอบกู้เศรษฐกิจ ซึ่งจะนำมาซึ่งการลงทุนในภาคประชาชน ทั้งเรื่องการประกอบการอาชีพ ของพ่อค้าแม่ค้า ไปจนถึงเอสเอ็มอี และโรงงานขนาดใหญ่ ยืนยันว่าโครงการนี้ไม่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ เพราะไทยมีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำอยู่แล้ว ทั้งนี้รัฐบาลปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้เหมาะสมกับการรับฟังความคิดเห็น

“การปรับปรุงเป็นเงื่อนไขใหม่ โดยให้สิทธิกับเฉพาะผู้ที่มีเงินเดือนไม่ถึง 70,000 บาท และ มีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท แปลว่า ถ้าเงินเดือนคุณเกิน 70,000 บาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ ถึงแม้ว่าเงินฝากคุณจะมีไม่ถึง 500,000 ก็ตาม และในขณะเดียวกัน ถ้าเงินฝากคุณเกิน 500,000 แต่เงินเดือนไม่ถึง 70,000 ก็จะไม่ได้รับสิทธินี้เช่นกัน”

นายกฯ กล่าวว่า เงินในส่วนที่เหลือของโครงการ รัฐบาลจะนำมาใส่ในกองทุนเพื่อลงทุนพัฒนาประเทศ เช่น กองทุนเพิ่มขีดความสามารถ ซึ่งบริหารและดูแลโดย คณะกรรมการฯ ที่มี BOI เป็นผู้จัดการ ส่วนคนที่ไม่ได้รับสิทธิ รัฐบาลจะออกโครงการ e-Refund ซึ่งประชาชนจะได้รับภาษีคืนจากการจับจ่ายสินค้าและบริการรวมมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท จากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และเฉพาะที่ออกใบกำกับภาษีในรูปแบบ electronics เท่านั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่จูงใจให้ร้านค้าเข้าสู่ระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้น มุ่งไปสู่การเป็น e-Government ในอนาคต

ขณะที่เรื่องของที่มาที่ไปของ เลข 70,000 และ 500,000 บาท มาจากการพิจารณาจากฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง ทำให้กลั่นกรองผู้ได้รับสิทธิในโครงการ Digital Wallet เหลือประมาณ 50 ล้านคน และจะใช้วงเงินในโครงการนี้เหลือเพียงประมาณ 5 แสนล้านบาท ส่วนเงินอีก 100,000 ล้านบาท จะสามารถนำใช้ในการผลักดันต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่ๆ โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของประเทศได้ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา เป็นต้น

เรื่องของแหล่งเงินทุนในโครงการทั้งหมดนี้ คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุด คือการออก พระราชบัญญัติ เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฎีกา เพื่อให้การออก พ.ร.บ. กู้เงินดังกล่าว เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา โดยมั่นใจว่า จะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา

“ทุกท่านไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาเพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี”

ทั้งนี้ นายกฯ ระบุว่าจะพัฒนาต่อยอดระบบเป๋าตัง ซึ่งมีประชาชนลงทะเบียนอยู่แล้ว 40 ล้านคน และมีร้านค้าที่คุ้นเคยอยู่แล้วกว่า 1.8 ล้านร้านค้า เพื่อลดระยะเวลา ประหยัดงบประมาณ และลดความซ้ำซ้อนในการสร้างและดูแลรักษาระบบ ซึ่งกระทรวงการคลังก็มีความคุ้นเคยในการกำกับดูแลและบริหารจัดการ ป้องกันการทุจริตต่างๆ โดยเราจะพัฒนาต่อยอดระบบเป๋าตัง ให้สามารถทำงานโดยมี Blockchain อยู่ด้านหลังเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งระบบ Blockchain จะทำให้รัฐป้องกันการทุจริตได้ และหากมีใครฝ่าฝืนแก้ไข ทุจริต ระบบก็จะสามารถตรวจสอบได้ทันที การมีระบบ Blockchain จะนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการทำ e-Government ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง สร้างความโปร่งใส ลดการทุจริตได้อย่างเป็นรูปธรรม

“เรื่องที่ว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่ Timeline เป็นยังไง โครงการ Digital Wallet จะใช้ระยะเวลาในการตีความโดยกฤษฎีกา และกระบวนการกฎหมายช่วงปลายปีนี้ นำเข้าสู่สภา ช่วงต้นปีหน้า จัดเตรียมงบประมาณ และเปิดให้ประชาชนได้ใช้ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปีหน้า แต่ก่อนหน้านั้น จะมีโครงการ e-Refund ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป และโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถจะสามารถดำเนินการได้เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป และทุกอย่างที่ผมแถลงไปวันนี้ จะต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย และได้รับมติของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ทำงานอย่างรัดกุม ก่อนจะเข้า ครม. เพื่อให้ได้รับอนุมัติอย่างชัดเจนต่อไป”

นายกฯ ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลนี้มีความตั้งใจ ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศชาติ ประชาชนคนไทยทุกคน จึงขอให้ทุกภาคส่วนมี Empathy (ความเข้าแกเข้าใจ) ร่วมกัน ช่วยกันทำโครงการนี้ให้สำเร็จ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพื่อทำให้เพื่อนร่วมชาติของเรามีชีวิตที่ดีขึ้นไปด้วยกัน

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)