ส่งเงินสมทบประกันสังคมเกินไป ขอคืนอย่างไรดี

ทั่วไป

สืบเนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบประกันสังคม สำหรับนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เดือนมีนาคม – พฤษภาคม)

โดยมาตรการดังกล่าวประกาศเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ลดเงินสมทบประกันสังคม) และสำหรับนายจ้างที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมรอบเดือนมีนาคมในอัตราเดิมไปนั้น สามารถทำเรื่องขอรับคืนเงินสมทบที่จ่ายเกินไปจากกองทุนประกันสังคมได้ 

เอกสารที่ต้องใช้ สำหรับยื่นขอรับเงินคืน จากกองทุนประกันสังคม

1. หนังสือคำขอรับคืนเงิน (นายจ้างเป็นผู้ยื่น) หรือ สปส.1-23/1 จำนวน 1 ฉบับ

2. สำเนาหรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล หรือ สำเนาทะเบียนพาณิชย์ (อายุไม่เกิน 6 เดือน) (รับรองสำเนาถูกต้อง) จำนวน 1 ฉบับ

3. หนังสือแนบรายชื่อลูกจ้างที่ขอเงินคืน พร้อมจำนวนเงินที่ขอคืนของแต่ละคน (ในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้ยื่นขอรับเงินคืนแทนลูกจ้าง) จำนวน 1 ฉบับ

4. หนังสือมอบอำนาจ จำนวน 1 ฉบับ

5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรประจำตัวที่หน่วยงานราชการออกให้นายจ้าง และผู้รับมอบอำนาจ รับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 1 ฉบับ

6. หลักฐานที่เกี่ยวกับการขอรับเงินคืน เช่น หลักฐานการจ่ายเงินค่าจ้าง หนังสือลาออกของผู้ประกันตน เป็นต้น (รับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ) จำนวน 1 ชุด

ขั้นตอนการยื่นขอรับคืนเงินจากกองทุนประกันสังคม

1. นายจ้างกรอกหนังสือขอรับคืนเงิน (สปส.1-23/1)

2. นายจ้างติดต่อยื่นแบบคำขอรับเงินคืน สปส.1-23/1 ได้ที่ สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือ จัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ก็ได้ (การส่งเอกสารทางไปรษณีย์อาจมีการดำเนินการล่าช้า เนื่องจากเจ้าหน้าที่อาจมีการขอเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะทำให้กระบวนการรับเงินคืนล่าช้ากว่าการเดินทางไปติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่)

3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร และทำการบันทึกเข้าระบบคืนเงิน (ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 15 นาที)

4. เจ้าหน้าที่พิจารณา และตรวจสอบข้อมูลประกอบการพิจารณาขอรับเงินคืน (ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 60 นาที)

5. เจ้าหน้าที่เสนอแบบคำขอรับเงินคืน แก่ผู้มีอำนาจเพื่อลงนามอนุมัติและรับเงินคืน หรือ ไม่เสนออนุมัติ พร้อมบันทึกผลพิจารณาในระบบคืนเงิน (ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 25 นาที)

เรื่องต้องระวัง

  • กรณีเอกสารไม่ครบ ต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติมภายในเวลาที่กำหนด

ในกรณีที่คุณยื่นหนังสือรับคืนเงินหรือเอกสารประกอบการพิจารณาไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วน และไม่สามารถแก้ไขเอกสารได้ในทันที คุณจะต้องลงนามในแบบรับเรื่องและตรวจสอบเอกสารร่วมกับเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นการกำหนดระยะเวลาแก้ไขเอกสารร่วมกัน

และหากคุณยื่นหรือทำการแก้ไขเอกสารล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่จะทำการคืนเอกสารและประกอบการพิจารณา นั่นหมายความว่า คุณอาจจะต้องยื่นเอกสารเพื่อขอรับคืนเงินใหม่ตั้งแต่ต้น

  • กรณีที่ไม่ได้ยื่นเอกสารด้วยตัวเอง ที่สำนักงานประกันสังคม

ในกรณีที่นายจ้างไม่ได้เดินทางมายื่นเอกสารขอรับคืนเงินด้วยตัวเองที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น การส่งเอกสารทางไปรษณีย์ หรือ ฝากผู้อื่นส่ง หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารและพบว่า เอกสารที่ยื่นมาไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง คุณจะต้องทำการส่งเอกสารเพิ่มเติมให้แก่สำนักงานประกันสังคมภายใน 15 วัน หลังจากได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ประกันสังคม

  • เจ้าหน้าที่จะตรวจเอกสารและพิจารณาคำขอรับคืนเงิน เมื่อเอกสารครบและถูกต้องเท่านั้น

เจ้าหน้าที่จะไม่พิจารณาคำขอรับคืนเงิน และไม่นับระยะเวลาดำเนินการ จนกว่านายจ้างหรือผู้ยื่นคำขอรับเงินคืนได้ทำการแก้ไขหรือยื่นเอกสารเพิ่มเติม ตามที่เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ดำเนินการแก้ไขอย่างถูกต้องและครบถ้วน

ช่องทางการรับเงินคืน

ช่องทางการขอรับคืนเงินจากกองทุนประกันสังคม จากกรณีจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเกิน หรือมากกว่าที่กฎหมายกำหนด มีทั้งหมด 4 ช่องทาง ประกอบไปด้วย

1. รับเงินสด / รับเช็คเงินสด 

  • นายจ้างขอรับเงินคืนด้วยตนเอง จะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการรับเงินคืน
  • ในกรณีที่มอบอำนาจให้บุคคลอื่นรับเงินแทน ต้องทำหนังสือและนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจมาแสดงเป็นหลักฐานเพื่อใช้ในการรับเงินด้วย

2. รับเช็คผ่านทางไปรษณีย์

สำนักงานประกันสังคมจะจัดส่งเช็คภายใน 3 วันทำการ นับจากวันที่มีคำสั่งอนุมัติสั่งจ่ายเงินคืน

3. รับเงินผ่านธนาคาร

นายจ้างหรือผู้มีอำนาจจะต้องแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้มีสิทธิรับเงิน โดยสามารถเลือกรับโอนเงินได้ที่ ธนาคารกรุงไทย หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

4. โอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร

สำนักงานประกันสังคมจะทำการแจ้งธนาคารให้โอนเงินเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ นับจากวันที่มีคำสั่งอนุมัติสั่งจ่ายเงินคืน

หมายเหตุ
  • จะต้องติดต่อขอรับเงินคืนภายใน 1 ปี ในกรณีที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด นายจ้างจะต้องยื่นขอรับเงินคืนภายใน 1 ปี นับจากวันที่มีจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเกิน และหากนายจ้างไม่ติดต่อขอรับเงินคืนภายใน 1 ปี กฎหมายกำหนดให้เงินที่จ่ายเกินมานั้นตกเป็นของกองทุนประกันสังคม ตาม พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และแก้ไขเพิ่มเติม
  • เอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นคำขอรับคืนเงิน จะต้องรับรองสำเนารับรองความถูกต้องทุกฉบับ และต้องแสดงเอกสารต้นฉบับในกรณีที่เจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบเพิ่มเติมด้วย
  • ในกรณีที่ลูกจ้างได้รับจดหมายแจ้งให้รับเงินคืนจากสำนักงานประกันสังคม ลูกจ้างสามารถดำเนินการขอรับเงินคืนด้วยตัวเองได้ ผ่านการกรอกเอกสารแสดงความประสงค์ขอรับเงินคืน พร้อมลงชื่อ และนำไปยื่นกับสำนักงานประกันสังคมด้วยตนเอง หรือ ส่งเอกสารผ่านทางไปรษณีย์ก็ได้

ช่องทางการร้องเรียน

หากคุณทำการส่งเอกสารขอรับคืนเงินแล้วพบว่า การดำเนินการไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ระบุไว้ คุณสามารถร้องเรียนได้ที่ช่องทางต่อไปนี้

  • ติดต่อด้วยตนเอง, จดหมาย หรือ โทรศัพท์ ที่สำนักงานประกันสังคมทุกสาขา 
  • เว็บไซต์ www.sso.go.th
  • สายด่วนประกันสังคม 1506
  • ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขที่ 1 ถ.พิษณุโลก เขตดุสิต กทม. 10300 / สำยด่วน 1111 / www.1111.go.th / ตู้ ปณ.1111 เลขที่ 1 ถ.พิษณุโลก เขตดุสิต กทม. 10300

ทั้งหมดนี้คือ เอกสารที่ต้องใช้ และขั้นตอนการดำเนินการเพื่อขอรับคืนเงินในกรณีที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และหากมีข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม ทีมงาน iTAX จะอัปเดตให้ผู้ประกันตนทราบต่อไป

ข้อมูลจาก : www.oic.go.th

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)