แนวทางการใช้ ‘กระสุนยาง’ ‘รถฉีดน้ำแรงดันสูง’ และการควบคุมผู้ชุมนุมตามหลักสากล

สํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights: OHCHR) ได้สรุปคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อจำเป็นต้องใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่อชีวิตระดับต่ำ (Less-Lethal Weapons) กับผู้ชุมนุมภายใต้แนวทางของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเมื่อปี 2020 เรียกว่า “Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement”
ในคู่มือฉบับนี้ได้แนะนำแนวทางการใช้อาวุธต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์รวมถึงเงื่อนไขการใช้และข้อควรระวังสำหรับการควบคุมผู้ชุมนุม โดยสรุปตามประเภทของอาวุธได้ดังนี้
1. กระสุนยาง
สถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนยางได้
- ใช้เพื่อป้องกันตัวเมื่อมีผู้ใช้ความรุนแรงหรือขู่จะใช้ทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือประชาชนทั่วไป โดยต้องเล็งที่ท้องน้อยหรือขาเท่านั้น
ความเสี่ยงของการใช้กระสุนยาง
- หากเล็งที่หน้าหรือหัวอาจทำให้กระโหลกร้าว สมองกระทบกระเทือนได้ อาจทำให้ตาบอดหรือเสียชีวิตได้เลย
- การยิงจากที่สูงเพิ่มความเสี่ยงให้วิถีกระสุนโดนศีรษะของผู้ชุมนุมมากชึ้น
- หากยิงที่ลำตัวอาจทำลายอวัยวะสำคัญและกระสุนอาจทะลุตัวได้หากยิงในระยะใกล้
- นอกจากนี้ ความแม่นยำของการกระสุนยางอยู่ในระดับต่ำมาก การยิงในขณะที่ไม่ได้อยู่นิ่งอาจทำให้กระสุนพลาดเป้าจนเกิดอันตรายสาหัสแก่ผู้ชุมนุมได้
สถานการณ์ที่ห้ามใช้กระสุนยาง
- ห้ามเล็งที่ศีรษะ ใบหน้า หรือคอ
- ห้ามเปิดโหมดยิงอัตโนมัติและห้ามยิงรัวเพราะอาจพลาดเป้าและละเมิดหลักความจำเป็นและหลักการได้สัดส่วนของการใช้อาวุธเพื่อยับยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้น
- ห้ามใช้กระสุนโลหะหุ้มยางเพราะเป็นอาวุธอันตราย
2. รถฉีดน้ำแรงดันสูง
สถานการณ์ที่ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงได้
- ต้องใช้เมื่อมีการก่อจราจลรุนแรงที่นำไปสู่ความรุนแรงถึงชีวิต หรืออันตรายสาหัส หรือการทำการทรัพย์สินเป็นวงกว้าง เท่านั้น เพื่อให้เหมาะสมกับหลักความจำเป็นและหลักการได้สัดส่วน
- การฉีดน้ำแรงดันสูงต้องวางแผนอย่างถี่ถ้วนและควบคุมอย่างเข้มงวดโดยผู้บังคับบัญชา
ความเสี่ยงของการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง
- การยิงใส่บุคคลที่อยู่พื้นที่สูงอาจทำให้ได้รับอันตรายร้ายแรงจากการตกจากที่สูงได้ รวมถึงความเสี่ยงที่บุคคลจะลื่นล้มหรือถูกแรงดันน้ำอัดจนไปกระแทกกับกำแพงหรือของแข็ง
- การควบคุมทิศทางน้ำให้พุ่งไปยังเป้าหมายที่ต้องการทำได้ค่อนข้างยากเนื่องจากความแม่นยำต่ำ
สถานการณ์ที่ห้ามใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง
- ห้ามยิงไปที่คนหรือกลุ่มคนในระยะใกล้เพราะอาจทำให้ตาบอดถาวรหรือบาดเจ็บเพราะถูกแรงดันน้ำ
- ห้ามใช้กับบุคคลที่ถูกควบคุมตัวแล้วหรือไม่สามารถเคลื่อนที่ได้แล้ว
3. กระบองตำรวจ
สถานการณ์ที่ใช้กระบองตำรวจได้
- ใช้กับผู้ชุมนุมที่ทำร้ายหรือขู่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนทั่วไป
- หากจำเป็นต้องใช้ ให้เล็งที่แขนหรือขาเท่านั้น
ความเสี่ยงของการใช้กระบองตำรวจ
- หากโจมตีที่กระดูกหรือข้อต่ออาจทำให้กระดูกเคลื่อน แตกร้าว หรือฟกช้ำได้
- หากโจมตีที่อก คอ หรือศีรษะอาจทำให้เป็นอันตรายสาหัสได้
สถานการณ์ที่ห้ามใช้กระบองตำรวจ
- เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ใช้กระบองตำรวจกับบุคคลที่ไม่ได้มีพฤติกรรมก่อความรุนแรง
- หากจำเป็นต้องใช้ไม่ควรโจมตีที่ส่วนสำคัญของร่างกาย เช่น ศีรษะ คอ กระเดือก หลัง ไต ช่องทอง
- ต้องไม่ล็อคคอด้วยกระบองตำรวจเพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสเนื่องจากการกดทับหลอดเลือดใหญ่หรือทางเดินหายใจ
4. แก็สน้ำตา
สถานการณ์ที่ใช้แก็สน้ำตาได้
- ใช้เมื่อมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น โดยให้ยิงเล็งขึ้นเป็นมุมสูงจากระยะไกลเพื่อให้ผู้ชุมนุมกระจายตัวและยุติความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น
ความเสี่ยงของการใช้แก็สน้ำตา
- หากใช้ในสถานที่เปิดโล่ง ทิศทางของลมอาจส่งผลให้แก็สน้ำตาพัดไปนอกพื้นที่โดยไม่สามารถควบคุมได้
- ในบางกรณีอาจทำให้เกิดอันตรายสาหัสได้ เช่น ใช้ในพื้นที่แคบเพราะทำให้ได้รับแรงระเบิดจากแก็สน้ำตาอย่างรุนแรง และอาจทำให้เกิดเพลิงใหม้ได้หากระเบิดใกล้วัตถุไวไฟ
- ในบางกรณีอาจทำให้บุคคลเกิดภาวะน้ำท่วมปอดหรือตกเลือดได้
สถานการณ์ที่ห้ามใช้แก็สน้ำตา
- ห้ามเล็งที่ตัวคน และห้ามเล็งที่หัวหรือหน้า เพราะอันตรายถึงชีวิตหรืออาจบาดเจ็บสาหัสจากแผลที่ถูกยิงได้
- ห้ามใช้ในพื้นที่แบบปิดที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และอาจทำให้ขาดอากาศหายใจได้
5. อาวุธอื่นๆ
สามารถศึกษาคู่มือ Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement เพื่อศึกษาวิธีใช้อาวุธชนิดอื่นๆ สำหรับควบคุมผู้ชุมนุมได้โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.geneva-academy.ch/joomlatools-files/docman-files/LLW_Guidance.pdf