กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และคำถามที่พบบ่อย

กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กำหนดให้นายจ้างทำหน้าที่เรียกเก็บเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจากลูกจ้างพร้อมนำส่งเงินสมทบจากนายจ้างด้วย โดยนายจ้างจะมีภาระต้องนำส่งเงินดังกล่าวพร้อมยื่นแบบแสดงรายชื่อลูกจ้างแก่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด (ไม่ใช่สำนักงานประกันสังคม เหมือนกรณีเงินประกันสังคม) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่หักเงินสะสมไว้ด้วย
กฎหมายนี้เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป
นายจ้างแบบใดที่จะถูกบังคับให้เข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในวันที่ 1 ต.ค. 2568 บ้าง?
นายจ้างที่ถูกบังคับให้ต้องเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง คือ กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และ ไม่มีการจัดการสงเคราะห์ลูกจ้างตามกฎหมายอื่น เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนสงเคราะห์ภายในบริษัท นางจ้างลักษณะนี้ต้องเข้าร่วมกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างแบบ ภาคบังคับ เท่านั้น
นอกจากนี้ แม้นายจ้างจะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนสงเคราะห์ภายในบริษัท แต่ถ้ามีพนักงานบางคนไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนเหล่านั้น นายจ้างก็ยังถูกบังคับให้ต้องเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างอยู่ดี
เช่น บริษัทมีลูกจ้างจำนวน 200 คน โดยมี 180 คนอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ภาคสมัครใจ) แล้ว แต่ยังมีลูกจ้างอีก 20 คนที่ยังไม่เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรณีนี้ บริษัทจะถูกบังคับให้ต้องจัดให้ลูกจ้าง 20 คนนี้เข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างภาคบังคับตามกฎหมายอยู่ดี
หากเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างแล้ว นายจ้างจะมีภาระอะไรเพิ่มบ้าง?
- หักเงินสะสมจากลูกจ้างในอัตรา 0.25% ของค่าจ้าง (ใช้อัตรานี้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2573 จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นอัตรา 0.5% แทน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2573 เป็นต้นไป)
- หักเงินสมทบจากนายจ้างในอัตรา 0.25% ของค่าจ้าง (ใช้อัตรานี้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2573 จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นอัตรา 0.5% แทน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2573 เป็นต้นไป)
- นำส่งและยื่นแบบแสดงรายชื่อลูกจ้าง (แบบฟอร์ม สกล.3) ทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่หักเงินสะสมจากลูกจ้าง
- ยื่นแบบเปลี่ยนแปลงรายการแสดงรายชื่อลูกจ้างและรายละเอียดอื่นๆ (ถ้ามี)
อัตราการส่งเงินสะสมและเงินสมทบของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างใช้อัตราเท่าไหร่?
- 1 ตุลาคม 2568 – 30 กันยายน 2573 – อัตราฝ่ายละ 0.25% ของค่าจ้างในเดือนนั้นๆ
- 1 ตุลาคม 2573 เป็นต้นไป – อัตราฝ่ายละ 0.50% ของค่าจ้างในเดือนนั้นๆ
ค่าจ้างในที่นี้ใช้นิยามตามกฎหมายแรงงาน หมายถึงค่าจ้างทั้งที่เป็นรายเดือน รายวัน และค่าจ้างตามผลงานด้วย แต่ไม่รวมค่าตอบแทนที่ไม่แน่นอน เช่น โบนัส เป็นต้น
อย่างไรก็ดี กฎหมายยังไม่ได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานสำหรับการคำนวณเงินสะสม รวมถึงยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับลูกจ้างที่ถูกหักเงินสะสมแต่อย่างใด
ยื่นและนำส่งเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ต้องทำอย่างไร?
นายจ้างจะมีหน้าที่ทั้งหักเงินสะสมจากค่าจ้างของลูกจ้างทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินเดือน (รวมถึงจ่ายเงินสมทบจากฝ่ายนายจ้าง) และนำส่งภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เช่น งวดค่าจ้างเดือนตุลาคม 2568 จะต้องนำส่งภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2568 เป็นต้น
แบบฟอร์มที่ต้องใช้ ขึ้นอยู่กับว่านายจ้างเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างด้วยสาเหตุใด
- กรณีนายจ้างเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างแบบภาคบังคับ – ใช้ แบบ สกล.3
- กรณีนายจ้างเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างแบบภาคสมัครใจ – ใช้ แบบ สกล.3/1
โดยต้องยื่นแบบฟอร์มพร้อมนำส่งเงินสะสมและเงินสมทบฯ แก่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด แล้วแต่กรณี
หมายเหตุ: เงินสะสมและเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานประกันสังคม เหมือนการนำส่งเงินประกันสังคมแต่อย่างใด
นายจ้างสามารถยื่นและชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ได้หรือไม่?
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยังไม่เปิดเผยรายละเอียดในส่วนนี้ ทั้งนี้ เงินสะสมและเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานประกันสังคม เหมือนการนำส่งเงินประกันสังคมแต่อย่างใด
มีโปรแกรมที่สามารถช่วยนายจ้างเตรียมพร้อมสำหรับเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในวันที่ 1 ตุลาคม 2568 ไหม?
นายจ้างที่ถูกบังคับให้ต้องเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง สามารถใช้โปรแกรมเงินเดือน iTAX paystation เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการหักเงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างและเตรียมแบบ สกล.3 รวมถึง สกล.3/1 ได้
ติดต่อ 062-486-9787 ฝ่ายขายโปรแกรมเงินเดือน iTAX paystation
นายจ้างเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างด้วยความสบายใจและถูกกฎหมาย
iTAX paystation โปรแกรม payroll รูปแบบใหม่
นายจ้างแบบใดที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง?
- กิจการที่มีลูกจ้างไม่เกิน 9 คน
- กิจการที่จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ลูกจ้างแล้ว
- กิจการที่จัดให้มีกองทุนสงเคราะห์ภายในตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย พ.ศ. 2567
- กิจการที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับตามกฎหมาย เช่น มูลนิธิ สมาคม งานประมง งานเกษตรกรรม งานรับใช้ในบ้าน โรงเรียนเอกชนเฉพาะบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น
นายจ้างที่ไม่เข้าเกณฑ์ภาคบังคับ สามารถเลือกเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างด้วยความสมัครใจได้หรือไม่?
ได้ หากลูกจ้างและนายจ้างตกลงกัน ก็สามารถยื่นแบบ สกล.3/1 เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกองทุนได้เช่นกัน โดยมีภาระในการหักเงินสะสม จ่ายเงินสมทบ และยื่นแบบทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไปเช่นเดียวกับการเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างภาคบังคับ
หากนายจ้างไม่นำส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบ จะโดนลงโทษอย่างไร?
หากนายจ้างไม่นำส่งหรือส่งไม่ครบถ้วน ต้องชำระเงินส่วนที่ขาดส่งพร้อมชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน โดยเศษของเดือนหากเกิน 15 วัน ให้ปัดขึ้นเป็น 1 เดือน