เอกสารหลุด “แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น” เอาไงแน่? ‘อนุทิน’ ยันของจริง ‘กรมควบคุมโรค’ โต้ไม่ใช่ของจริง

วิเคราะห์

เอกสารหลุดประชุมวัคซีนที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กัน เอาไงแน่? ฟาก ‘อนุทิน’ บอกเอกสารจริง แต่เป็นแค่ความเห็น ให้รอมติเพื่อความชัดเจน ด้านอธิบดีกรมควบคุมโรคโต้อย่าหลงเชื่อ เป็นแค่เอกสารปลอม

อัยการตรวจร่างสัญญาจัดซื้อวัคซีน โมเดอร์นา เสร็จแล้ว

อย. ขึ้นทะเบียน ‘วัคซีนไฟเซอร์’ ให้ใช้ในไทยได้แล้ว

5 กรกฎาคม 2564 – จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความในเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งอ้างว่าเป็น สรุปประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่าง คณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทำงานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน เมื่อ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 เวลา 13.30 – 16.30 น. ณ ห้องประชุม เทพยสุวรรณ ชั้น 5 อาคาร 3 กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับแนวทางการให้วัคซีนไฟเซอร์ที่กำลังจะได้รับบริจาค จำนวน 1.5 ล้านโดสเข้ามาในประเทศไทย โดยพบข้อความในเอกสารตอนหนึ่งใน ข้อ 10 มีใจความว่า

ในขณะนี้ ถ้าเอามาฉีดกลุ่ม 3 (หมายถึง กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ (HCW) หน้าด่าน) เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (เข็ม 3) แสดงว่าเรายอมรับว่าวัคซีน Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น”

ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและอธิบดีกรมควบคุมโรคได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับ “เอกสารหลุด” ดังกล่าวแล้ว แต่เป็นที่น่าสนใจว่า ทั้งสองกลับให้การยืนยันข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องกัน

รมว.สาธารณสุข ยันเอกสารหลุดเป็น “เอกสารจริง” แต่เป็นแค่ความเห็น

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงเอกสารหลุดฉบับดังกล่าวว่าเป็น “ของจริง” เป็นเอกสารภายในจากการประชุมของคณะกรรมการวิชาการฯ แต่เป็นเพียงความเห็นที่บันทึกไว้เท่านั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุปและยังไม่ได้นำไปเป็นแนวปฏิบัติ เพราะยังต้องมาเข้าคณะกรรมการโรคติดต่อ และคณะกรรมการวัคซีนอีก เอกสารหลุดดังกล่าวจึงยังไม่มีผลอะไรตอนนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวเพิ่มเติมว่า การจะนำวัคซีนไฟเซอร์มาใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์หรือไม่ ตนยังให้ความเห็นไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องทางวิชาการ ต้องรอให้คณะกรรมการวิชาการฯ มีมติก่อน ซึ่งตนพร้อมสนับสนุน เช่น วัคซีนไฟเซอร์ต้องใช้น้ำเกลือผสมเพิ่มในการฉีด ตนก็จะจัดหางบประมาณในส่วนนี้มารองรับต่อไป

ปฏิเสธให้ความเห็นเรื่องใช้ไฟเซอร์เข็ม 3 แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น แนะให้ไปถามคณะกรรมการวิชาการเอง

ส่วนประเด็นข้อความในเอกสารหลุดที่ระบุว่า “ในขณะนี้ ถ้าเอามาฉีดกลุ่ม 3 (หมายถึง กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ (HCW) หน้าด่าน) เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (เข็ม 3) แสดงว่าเรายอมรับว่าวัคซีน Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น” นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องสอบถามไปยังอาจารย์ในคณะกรรมการวิชาการ แต่ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์กันไปโดยที่ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้

กรมควบคุมโรค โต้เอกสารหลุด “ไม่ใช่ของจริง” เหมือนเขียนเองอ่านเอง

ในวันเดียว นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค โต้เอกสารหลุดไม่ใช่ของจริง ชี้ให้สังเกตเหมือนเอกสารเขียนเองอ่านเอง และเอาสไลด์การประชุมไปปะติด ไม่ใช่เอกสารฉบับจริงของที่ประชุม โดยเปิดเผยว่าในที่ประชุมวันนั้นมีผู้เข้าร่วมประชุมค่อนข้างมาก มีทั้งร่วมประชุมและออนไลน์ แต่เอกสารการประชุมที่มีการเผยแพร่ออกไปนั้น ไม่เรียกว่าเอกสารหลุด แต่เป็นเอกสารที่ไม่จริง เพราะคนเขียนสรุปไม่ใช่ฝ่ายเลขาของการประชุมนั้นๆ ไม่มีแพตเทิร์นทางการ เป็นเหมือนเขียนอ่านกันเอง ซึ่งเอกสารนี้ไม่จริง ส่วนที่ในการประชุมที่มีการเสนอความคิดเห็น อย่างไรเสียไม่มีข้อสรุปใดๆทั้งสิ้น

ตนไม่ได้เข้าประชุม แต่เห็นด้วยเรื่องใช้ไฟเซอร์เข็ม 3 แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น ไม่ควรพูด

อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ปกติการประชุมวิชาการจะมีความคิดเห็นหลากหลาย ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ไม่ใช่ข้อสรุปของคณะกรรมการ โดยแนะให้ดูบริบทว่า เขาพูดอะไร การเอาคำใดคำหนึ่งไปอ้างอิงอย่างเดียว ถือว่าไม่เป็นธรรม แต่เนื่องจากตนไม่ได้เข้าประชุมวันนั้น จึงไม่ทราบว่ามีการพูดอะไร อย่างไร แต่เห็นด้วยว่าโดยมารยาทก็ไม่ควรพูด

นพ.โอภาส กล่าวทิ้งท้าย กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลว่าควรดำเนินการอย่างไรจึงจะมีความปลอดภัยและเหมาะสมที่สุด ขอให้บุคลากรมั่นใจว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขจะจัดหาสิ่งที่ปลอดภัยทั้งหมดให้

รู้จักวัคซีนไฟเซอร์

วัคซีนไฟเซอร์ หรือชื่อทางการค้าว่า โคเมอร์เนตี (COMIRNATY®) นำเข้าโดย บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่คิดค้นและพัฒนาร่วมกันระหว่าง ไฟเซอร์ และ ไบโอเอ็นเท็ค โดยต้องฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 21 วัน สำหรับผู้ที่อายุ 12 ปีขึ้นไป เป็นวัคซีนโควิดตัวแรกๆ ของโลกที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การรับรองเป็นวัคซีนโควิดสำหรับกรณีฉุกเฉิน และเป็นวัคซีนโควิดตัวที่ 6 ที่ได้รับการได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทยประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)