เช็คสถานะ ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ กระทรวงมหาดไทย

ทั่วไป

2,988 VIEWS

เช็คสถานะ ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ โดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ที่เมนูตรวจสอบสถานะผ่านทางเว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th

เช็คสถานะ ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ ผ่านเว็บไซต์กรมการปกครอง

  • ประชาชนสามารถตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้ที่เมนูตรวจสอบสถานะผ่านทางเว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th

ช่องทางการติดต่อ

  • สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โทร. 02-356-9556

วาระแห่งชาติ “แก้หนี้นอกระบบ” ห้ามเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี จ่ายเกินไปแล้วให้จบกันไป

28 พฤศจิกายน 2566 – นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตั้งโต๊ะแถลงเรื่องการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยเปิดเผยว่า ตนได้ตั้งเรื่องแก้หนี้นอกระบบให้เป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ จะร่วมมือกับฝ่ายการปกครอง ตำรวจ เพื่อทำงานร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งมีความละเอียดอ่อนในระดับชุมชน จากนั้น จะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ให้กลับไปก่อหนี้สินเพิ่มเติมอีก

สำหรับกลไกทางปกครองและอำนาจตามกฎหมายในการช่วยไกล่เกลี่ย ประนีประนอมข้อพิพาท หากกรณีใดอยู่นอกเหนืออำนาจฝ่ายปกครอง ก็จะรวบรวมข้อมูลเพื่อส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อรัฐบาลเข้าไปเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย จะต้องมีการคิดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมาย คือ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี อย่างไรก็ตาม หากลูกหนี้รายใดจ่ายเกินยอดหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไปแล้วให้ถือว่าเป็นอันจบกัน

“หนี้นอกระบบเป็น Modern slavery เป็นการค้าทาสในยุคใหม่ที่ได้พรากอิสรภาพ ความฝันไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้ โดยปัญหานี้เรื้อรังและใหญ่เกินกว่าจะแก้ปัญหาได้โดยไม่มีภาครัฐเป็นตัวกลาง จึงจำเป็นต้องประสานเพื่อเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย ระหว่างเจ้าหนี้ลูกหนี้ ไปจนถึงการทำสัญญาที่เคยไม่เป็นธรรมให้เป็นธรรม และเป็นไปตามกฎหมายมากขึ้น ไปจนถึงการการทวงหนี้โหด”

คาดมูลค่าหนี้นอกระบบสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท มอบ ก.คลัง ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยประชาชนใช้หนี้อย่างมีศักดิ์ศรี

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยกระทรวงการคลัง เช่น ระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี และตรงกับความสามารถของลูกหนี้ ในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นจะทำให้ประชาชนรายย่อยเข้าถึงระบบสถาบันการเงินได้ง่ายมากขึ้น

“มูลค่าหนี้นอกระบบที่มีอยู่ราว 5 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่าจะมีมากกว่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลกระทบกับทุกคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจประชาชนส่วนใหญ่ต้องเจอกับความเปราะบางของหนี้สินที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด จนไม่สามารถทำตาม passion ปิดโอกาส ส่งผลกระทบเป็นโดมิโนไปทุกภาคส่วน”

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังพร้อมช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านสินเชื่อธนาคารของรัฐ หลังผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว เช่น 

  • ธนาคารออมสิน มีโครงการสินเชื่อให้กู้ รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท เป็นเวลา 2 ปี หรือสินเชื่อเพื่ออาชีพอิสระ ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 8 ปี โดยคิดดอกเบี้ยตามความสามารถของลูกหนี้
  • ธ.ก.ส. มีวงเงินสำหรับเกษตรกร 2.5 ล้านบาทต่อรายสำหรับกลุ่มที่นำที่ทำกินไปขายฝาก

ด้านผู้ประกอบการปล่อยเงินกู้ หากต้องการทำให้ถูกกฎหมาย แนะนำให้เข้าโครงการพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งมีกำหนดทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท โดยมีหลักการคือไม่ให้มีการฝากเงิน แต่ให้ปล่อยกู้รายย่อยได้เท่านั้น

‘มหาดไทย’ เปิดระบบลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ เริ่ม 1 ธันวาคม 2566

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยเปิดระบบลงทะเบียนให้ลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบได้ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 66 เป็นต้นไป โดยจะทำควบคู่กับการเปิดให้ลงทะเบียนขอความช่วยเหลือแก้หนี้นอกระบบที่ ‘ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ’ ทั่วประเทศ

พร้อมกันนี้ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ทุกจังหวัด อำเภอ และสำนักงานเขต ดำเนินการตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ” ประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้นอกระบบที่มีความประสงค์ขอรับการช่วยเหลือ หรือให้ทางราชการแก้ไขปัญหา และให้รายงานผลการลงทะเบียนของลูกหนี้นอกระบบที่ขอรับความช่วยเหลือให้กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) ทราบ ตามแบบฟอร์มการรายงานผลการลงทะเบียนของลูกหนี้นอกระบบเป็นประจำทุกเดือน

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถลงทะเบียนด้วยตนเองที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th หากไม่สามารถดำเนินการได้เองทางระบบออนไลน์ดังกล่าว ก็สามารถเดินทางไปลงทะเบียนด้วยตนเองได้เช่นกัน ในกรณีอยู่ในพื้นที่อำเภอให้ลงทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ และหากอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ลงทะเบียนที่สำนักงานเขตทุกแห่ง หรือผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ช่องทางลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ ผ่านแอปพลิเคชั่น ThaID

ประชาชนที่มีความประสงค์ต้องการลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ สามารถดำเนินการผ่านแอป ThaID โดยทำตามขั้นตอนดังนี้

  1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ThaID ติดตั้งบนสมาร์ทโฟน
  2. ไปที่ เว็บไซต์ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ https://debt.dopa.go.th
  3. ใช้แอปพลิเคชั่น ThaID สแกน QR Code เพื่อยืนยันตัวตนตามขั้นตอน
  4. เมื่อยืนยันตัวตนแล้วให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลตามแบบฟอร์มการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
  5. กระทรวงมหาดไทยจะประสานงานท่านเพื่อดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้สินในลำดับถัดไป โดยสามารถตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนได้ที่เมนู ตรวจสอบสถานะการลงทะเบียน
  6. กรณีไม่สามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ให้ติดต่อที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตเพื่อให้เจ้าหน้าดำเนินการลงทะเบียนให้ได้

วันเวลาที่เปิดให้ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ

  • ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 ระหว่างเวลา 06.00 น. – 23.00 น.

ช่องทางโหลดแอป ThaID ยืนยันตัวตน ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ

ขั้นตอนการพิสูจน์และยืนยันตัวผ่านแอป ThaID

  1. โหลดแอป ThaIDA
  2. เลือกหัวข้อลงทะเบียนด้วยตนเอง
  3. ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อทำการลงทะเบียนสิ่งแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล
  4. ถ่ายรูปหน้าบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อเสร็จแล้วให้ตรวจสอบความชัดเจนและกดปุ่มยืนยันหรือถ่ายใหม่
  5. ถ่ายรูปหลังบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อเสร็จแล้วให้ตรวจสอบความชัดเจนและกดปุ่มยืนยันหรือถ่ายใหม่
  6. ตรวจสอบข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน หากถูกต้องให้กดยืนยัน
  7. ถ่ายรูปภาพใบหน้าตนเอง
  8. ตั้งค่ารหัสผ่านเหมือนกัน 2 ครั้งโดยต้องไม่เรียงกัน และไม่ซ้ำกันเกิน 4 ตัว เช่น 1234, 1111
  9. ระบบแจ้งเตือนขอความยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่อเข้าใช้งานแอปพลิเคชันครั้งแรก
  10. เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงรูปบัตรประจำตัวประชาชน

ขั้นตอนการ ลงทะเบียนยืนยันตัวตน ผ่านเจ้าหน้าที่

ในกรณีไม่สะดวกลงทะเบียนยืนยันตัวตน ผ่านแอปด้วยตัวเอง คุณสามารถเลือก ‘ลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่’ ตามขั้นตอน ดังนี้

  1. โหลดแอป ThaID
  2. เลือกหัวข้อลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่
  3. นำบัตรประจำตัวประชาชนใบล่าสุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้รับลงทะเบียนทำการตรวจสอบข้อมูลก่อนการลงทะเบียน ณ สำนักทะเบียน
  4. เปิดแอปพลิเคชัน ThaID พร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ของเครื่องโทรศัพท์มือถือ
  5. ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อทำการลงทะเบียนสิ่งแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล
  6. ระบุเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ให้ถูกต้อง
  7. แสกนลายพิมพ์นิ้วชี้กับเจ้าหน้าที่
  8. แสกน QR code บนหน้าจอของเจ้าหน้าที่ ด้วยแอพพลิเคชั่น ThaID
  9. ตั้งค่ารหัสผ่านเหมือนกัน 2 ครั้งโดยต้องไม่เรียงกัน และไม่ซ้ำกันเกิน 4 ตัว เช่น 1234, 1111
  10. ระบบแจ้งเตือนขอความยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่อเข้าใช้งานแอปพลิเคชันครั้งแรก
  11. เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงรูปบัตรประจำตัวประชาชน

หมายเหตุ: กรณีลืมรหัสผ่าน สามารถรีเซ็ตรหัสผ่านได้ โดยการถ่ายรูปภาพใบหน้าตนเองเพื่อขอสร้างรหัสผ่านใหม่

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)